เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ตัวแทน 3 สมาคม คือ สมาคมกุ้งไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เดินทางเข้ามายื่นหนังสือถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้เร่งแก้ปัญหาวิกฤตอุตสาหกรรมกุ้งไทยแบบเร่งด่วน โดยนายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือแทน

นายเอกพจน์ กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับหนึ่งของโลก มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท มีผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประมาณ 2 ล้านคน ในปี 2553 ไทยเคยผลิตได้ 6.4 แสนตัน แต่หลังจากเจอปัญหาโรคตายด่วน ช่วงปลายปี 2554 ผลผลิตลดลงเหลือ 3 แสนตัน ปัจจุบันยังแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ได้ ทำให้เพิ่มผลผลิตไม่ได้ ต้นทุนการเลี้ยงก็สูงเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก สมาคมทั้ง 3 จึงนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วน 3 ข้อ

1. เร่งส่งเสริมการบริโภคกุ้งไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยว 30-40 ล้านคน บริโภคเพียงคนละ 1 กิโลกรัม จะเพิ่มความต้องการได้มาก และทำสื่อประชาสัมพันธ์การบริโภคกุ้งไทย ในพื้นที่ท่องเที่ยว คือ ภายในสนามบิน รถไฟฟ้าบีทีเอส ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งพาผู้ส่งออกกุ้งไทย ไปจับคู่ธุรกิจกับผู้ซื้อ ในงานเอ็กซ์โปซีฟู้ด ในประเทศจีน 3 งาน รวมไปถึงการเร่งเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ให้ยุโรปยกเว้นภาษีนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และกุ้งแปรรูปเพื่อเร่งขยายตลาด เพราะปัจจุบันส่งออกได้เพียงปีละ 1 พันตัน เท่านั้นจากเดิม 6 หมื่นตัน

2. เร่งปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ 2 รายการคือ ปลาป่นและกากถั่วเหลืองให้เป็น 0% เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงให้กับเกษตรกรทำให้กุ้งไทยสามารรถแข่งขันส่งออกกับคู่แข่งอย่าง เอกวาดอร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย ได้ และ 3. ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนงบประมาณในการแก้ปัญหาโรคกุ้งอย่างจริงจัง

“หากรัฐบาลเร่งดำเนินการตาม 3 แนวทางที่เสนอ มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มผลผลิตกุ้ง และลดต้นทุนการผลิต ทำให้ไทยกุ้งไทยกลับมาแข่งขันในตลาดโลกและเป็นสินค้าที่ทำรายได้หลักให้ประเทศได้อีกครั้ง แต่หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหา คาดว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงก็อาจจะทยอยล้มหายตายจากไปจากระบบซึ่งปัจจุบันมีคนที่เกี่ยวข้องระบบอุตสาหกรรมกุ้งมากถึง 2 ล้านคน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน