ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สตาร์ฟีนิกซ์ (ประเทศไทย) ผลิตละคร “รถรางเที่ยวสุดท้าย” จากบทประพันธ์/บทโทรทัศน์ของ สมเกียรติ วิทุรานิช กำกับการแสดงโดย จีรภา ระวังการณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำประเด็นความขัดแย้งทางความคิดของคนสองรุ่น คือ รุ่นเจน Y (Millennial) กับ รุ่นเจน B (Baby Boomer) มาเป็นตัวละครหลัก เพื่อนำเสนอเรื่องราวให้คนทั้งสองรุ่นได้หยุดคิด และทำความเข้าใจกับทัศนคติของตัวเอง

คอลัมน์เสาร์สด

ตัวละครหลักทั้งสองฝั่งจึงถูกสร้างขึ้นมาเป็นคู่ โดยให้คนรุ่นเจน Y มีตัวละครที่ชื่อ ‘นที’ และ ‘ภราดร’ ซึ่งแสดงโดยสองนักแสดงหนุ่ม ‘ก้าวหน้า’ กิตติภัทร แก้วเจริญ และ ‘ปอนด์’ พลวิชญ์ เกตุประภากร ด้านรุ่นเจน B มี ‘อารักษ์’ และ ‘บริพัตร’ 2 ตัวละครที่อุปนิสัยและทัศนคติแตกต่างกัน รับบทโดย 2 นักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมือ ‘หนิง’ นิรุตติ์ ศิริจรรยา และ ‘หมู’ สมภพ เบญจาธิกุล

 

ร่วมด้วยนักแสดง อาทิ ‘ตังตัง’ นัฐรุจี วิศวนารถ (ซอแก้ว), ‘ต๋อย’ นฤมล นิลวรรณ (มุกดา), ‘ต๊งเหน่ง’ รัดเกล้า อามระดิษ (บุหงา), ‘เพทาย’ ภูริต พลอยมีค่า (สินธร), ‘เปิ้ล’ ภารดี วงษ์สวัสดิ์ (ศิริรัตน์) ฯลฯ

“รถรางเที่ยวสุดท้าย” เป็นเรื่องราวของ นที ที่ฝันอยากเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ จึงชวน ภราดร เพื่อนซี้มาร่วมเขียนบทด้วย นทีได้แรงบันดาลใจจากบทกลอนในร้านอาหารที่ชื่อ “รถราง” ซึ่งเขียนโดย อารักษ์ เจ้าของร้าน เมื่อทั้งคู่ได้ทำความรู้จักอารักษ์ ก็ได้ล่วงรู้เรื่องราวส่วนตัวว่ารักแรกของอารักษ์เริ่มต้นในวันที่รถรางวิ่งเป็นวันสุดท้าย บนรถรางอารักษ์และบริพัตรเพื่อนสนิท ได้ตกหลุมรักหญิงสาวคนเดียวกันที่ชื่อ มุกดา รักสามเส้าในอดีตของ อารักษ์ บริพัตร และ มุกดา ทับซ้อนรักสามเส้าในปัจจุบันของ นที ภราดร และ ซอแก้ว

คอลัมน์เสาร์สด

บุหงาแม่ของซอแก้วเป็นแม่ครัวร้านอาหารรถรางและเป็นเมียคนที่สองของอารักษ์ ซอแก้วไม่ชอบอารักษ์และไม่ยอมเรียกเขาว่าพ่อ ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นทับซ้อนกันระหว่างช่วงรอยต่อของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทุกคนล้วนต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง อารักษ์ต้องยอมรับความจริง และยังต้องยอมรับด้วยว่า อดีตไม่ได้มีแต่เรื่องงดงามอย่างที่อารักษ์ต้องการให้นทีและภราดรเขียนไว้ในภาพยนตร์








Advertisement

คอลัมน์เสาร์สด

ทั้งนี้นักแสดงอาวุโส ‘อาหนิง นิรุตติ์’ เล่าถึงบทบาทในละครว่า เรื่องนี้รับบทอารักษ์ ชายวัย 70 ต้นๆ นิสัยชอบออกคำสั่ง ควบคุมความคิดคนอื่น ชอบทำอาหารไทย มองว่าเป็นการอนุรักษ์ที่ดีงาม แต่เขาต้องอยู่กับสภาพสังคมยุคใหม่ บางอย่างก็ไม่คุ้นเคย ทั้งสังคมออนไลน์ การเป็นครอบครัวเดี่ยวที่สมาชิกไม่ได้อยู่ร่วมกัน ความผูกพันในครอบครัวจึงเป็นข้อความหลักที่จะสื่อในละครเรื่องนี้ พร้อมกับซีนอารมณ์ที่หลากหลาย

คอลัมน์เสาร์สด

ด้าน ‘อาหมู สมภพ’ กล่าวว่า “ในเรื่องผมรับบท บริพัตร ชายวัย 70 ต้นๆ บุคลิกนิ่ง สุขุม คนละขั้วกับอารักษ์ บริพัตรจะเป็นคนไม่ยึดติด ใจกว้าง ชอบช่วยเหลือคนอื่น เปิดใจรับฟังลูกหลานทุกวัย ผมรู้สึกปลื้มที่ได้มาเล่นบทแบบนี้ ในเรื่องอาจจะมีเรื่องเถียงกันบ้าง คิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องมาทำความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งละครเรื่องนี้มีเนื้อหาสาระให้แง่คิด โดยเฉพาะยุคสมัยนี้ช่วงวัยเจเนอเรชั่นต่างๆ อย่าง เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เติบโตมาไม่เหมือนกัน ทำให้แนวทางการใช้ชีวิตและความคิดต่างกัน ละครเรื่องนี้เหมาะ อยากให้ชวนมาดูพร้อมกันทั้งครอบครัว จะเห็นอีกมุมที่คนหลายวัยสามารถปรับจูนกันได้ ไม่ยากเกินไป”

คอลัมน์เสาร์สด

ฟาก 2 หนุ่ม ‘ก้าวหน้า กิตติภัทร’ และ ‘ปอนด์ พลวิชญ์’ เปิดใจถึงละครเรื่องนี้ โดย ‘ก้าวหน้า’ ที่รับบท ‘นที’ คนรุ่นใหม่ที่อยากอนุรักษ์วัฒนธรรมเดิมๆ ไว้ กล่าวว่า “ผมมีความรู้สึกว่าละครเรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจบริบทของยุคสมัย และเข้าใจคนวัยต่างจากเรา เข้าใจความเป็นเขา คือสังคมเรามีคนหลายยุคหลายเจนมาก แน่นอนว่ามันต้องมีความแตกต่างกันอยู่แล้วครับ”

คอลัมน์เสาร์สด

ขณะที่ ‘ปอนด์’ รับบท ‘ภราดร’ คนรุ่นใหม่ที่มั่นอกมั่นใจในตัวเอง อยากเดินตามความฝัน แม้อาจจะขัดกับครอบครัว เผยว่า “ไม่ว่าคนเจนเดียวกับผมกับนที ถึงจะเป็นเพื่อนซี้กัน แต่ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แล้วก็เป็นการคุยกันแบบที่ไม่ได้เป็นการถกเถียงแบบรุนแรง แต่เป็นการถกเถียงด้วยความเข้าใจครับ”

ติดตามชม “รถรางเที่ยวสุดท้าย” ทุกศุกร์-อาทิตย์ เวลา 20.30 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 เริ่ม 10 กุมภาพันธ์นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน