ละครเข้มข้นอย่างแรงสำหรับ บุพเพสันนิวาส โดยฉากเมื่อคืนที่ผ่านมาทำเอาคอละครไทย ถึงขั้นอยากกินมะม่วงน้ำปลาหวาน กุ้งเผา หมูกระทะกันเป็นการใหญ่

โดยอีกฉากที่ได้รับการกล่าวถึง ไม่ใช่แม้แต่คอละครที่พูดถึงว่าเป็นฉากสุดฟิน แต่ระดับคุณหมอก็พูดถึง คือ ฉากที่พระเอกของเรื่องถูกเรือชนจนจมน้ำและแม่การะเกดต้องช่วยผายปอดปั๊มหัวใจ จนอื้ออึงไปทั้งกรุงศรีนั้น นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า Rungsrit Kanjanavanit ได้โพสต์ถึงการปั๊มหัวใจในละครซึ่ง แม่หญิงได้เป่าปากก่อนที่จะปั๊มหัวใจ ซึ่งมีการถกเถียงกันว่าถูกต้องหรือไม่ว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ถูกต้องยิ่งนัก

โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า “ช้านี้มาทำงานมีแต่คนวิพากษ์วิจารณ์การทำ CPR ท่านหมื่นของ แม่หญิงการะเกด จริงๆแล้วในแง่ขั้นตอน การะเกด ทำได้ถูกต้องแล้วนะครับ

การช่วยฟื้นคืนชีพ คนจมน้ำ ที่หมดสติ เราจะเริ่มจาก A-B-C Airway Breathing Circulation คือ เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง หากไม่หายใจ ให้ช่วยหายใจก่อน แล้วจึงเริ่มกดหน้าอก แตกต่างจากการฟื้นฟื้นคืนชีพโดยทั่วไป ที่เราเริ่มจากกดหน้าอกก่อน ( C-A-B )

ทั้งนี้ เพราะการจมน้ำเป็นปัญหาของระบบการหายใจเป็นหลัก ในขณะที่กรณีอื่นๆ มักเป็นปัญหาจากการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ

นอกจากนี้ เราจะเห็นว่า แม่หญิงการะเกด มิได้ใช้ technique เปิดทางเดินหายใจ แบบเงยคาง ( head tilt chin lift) เพราะ ท่านหมื่นโดนเรือชนอาจมี การบาดเจ็บที่กระดูกต้นคอ จึงเป็นข้อห้ามในการทำ head tilt chin lift มิเช่นนั้น ไขสันหลังบริเวณคอของท่านหมื่นอาจได้รับอันตรายจนเป็นอัมพาตทั้งตัวได้

อย่างไรก็ดี การเปิด ทาง เดินหายใจที่ถูกต้อง ต้องใช้วิธี jaw thrush คือยกกรามสองข้างขึ้นโดยมิให้คอท่านหมื่นเคลื่อนไหว ซึ่งก็ไม่เห็นว่าแม่หญิงการะเกดทำได้ดีนัก หากจะติง ก็คงเป็นการกดหน้าอกของเธอ ซึ่ง ไม่ลึก ไม่เร็วพอ และแขนไม่ตรงแนวดิ่ง

จังหวะที่ควรทำคือ 100-120 ครั้งต่อนาที หากไม่แน่ใจจังหวะ ระหว่างกด ให้ฮัมเพลง คุ้กกี้ เสี่ยงทาย ของ BNK48 ไปด้วย จะได้ความเร็วพอดีๆครับ แต่แค่นี้ก็นับว่าเธอและผู้กำกับทำได้ดีกว่าที่เคยเห็นในหนังไทยอื่นๆมากแล้วครับ อยากให้คนไทยใส่ใจ เรียนรู้การฟื้นคืนชีพที่ถูกต้องกันครับ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน