คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า : ‘แขนกลอัจฉริยะ’วิศวะฯ มธ. เอไอคัดกรองเลนจักรยาน

แขนกลอัจฉริยะ – คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุดประกายไอเดีย พัฒนา “แขนกลไบก์เลน” นวัตกรรมแขนกลอัจฉริยะที่ช่วยคัดกรองและกีดขวางรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่บนเลนจักรยาน หนุนสายปั่นจักรยานสัญจรคล่องตัว-ปลอดภัย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ มีองค์ประกอบ 2 ส่วนหลัก ดังนี้

ระบบแยกแยะพาหนะด้วยปัญญาประดิษฐ์ ที่ช่วยแยกแยะลักษณะยานพาหนะในระยะ 4 เมตร พร้อมสั่งการเปิด-ปิดเส้นทางไปยังเมนบอร์ด ในกรณีที่ตรวจพบจักรยานยนต์ แขนกลจะปิดเส้นทางขับขี่ แต่ในกรณีที่ตรวจพบเป็นจักรยาน แขนกลจะเปิดเส้นทางให้ใน 5 วินาที ในอนาคตเตรียมวางแผนจำหน่ายเชิงพาณิชย์ 3.5 หมื่นบาท

 ‘แขนกลอัจฉริยะ’วิศวะฯ มธ. เอไอคัดกรองเลนจักรยาน  : คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

เทพพงษ์ และ สุริยา

นวัตกรรมดังกล่าวคว้ารางวัลชนะเลิศบนเวทีประกวดนวัตกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 10 สมาชิกในทีมประกอบด้วย นายเทพพงษ์ เทพวงศ์ศิริรัตน์ และ นายสุริยา สารธิมา โดยมี รศ.ดร.ดุลยโชติ ชลศึกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นที่ปรึกษา

นายสุริยา สารธิมา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก ดังนี้

 ‘แขนกลอัจฉริยะ’วิศวะฯ มธ. เอไอคัดกรองเลนจักรยาน : คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

‘แขนกลอัจฉริยะ’

1.ระบบแยกแยะพาหนะด้วยปัญญาประดิษฐ์ เป็นระบบตรวจจับและแยกแยะลักษณะยานพาหนะที่มองเห็นได้ในระยะ 4 เมตร โดยใช้กล้องเว็บแคมส่งสัญญาณภาพไปยังโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานบนสมองกลขนาดเล็ก โปรแกรมนี้ถูกฝึกด้วยการป้อนภาพจักรยานยนต์และจักรยานจำนวนมากเข้าไปจนโปรแกรมเรียนรู้ที่จะแยกแยะความแตกต่าง จากนั้นสมองกลจะสั่งการเปิด-ปิดเส้นทางไปยังเมนบอร์ดของระบบแขนกล

2.แขนกลอัจฉริยะ ทำหน้าที่รับสัญญาณจากเมนบอร์ด ซึ่งในสภาวะปกติแขนกลจะปิดเส้นทาง กรณีตรวจพบจักรยานยนต์ฝ่าฝืน แขนกลจะไม่เปิดเส้นทางขับขี่ แต่ในกรณีที่ระบบตรวจพบเป็นจักรยาน แขนกลจะเปิดเส้นทางให้ใน 5 วินาที

ทั้งนี้ ทีมวิจัยออกแบบให้แขนกลอัจฉริยะมีขนาด 1.5 เมตร และสามารถพับเก็บได้ภายในตู้แขนกล เพื่อความสะดวกต่อการใช้งานบางพื้นที่ที่มีหลังคาเตี้ย

 ‘แขนกลอัจฉริยะ’วิศวะฯ มธ. เอไอคัดกรองเลนจักรยาน : คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

วิศวะเครื่องกล มธ. คว้า 3 รางวัล

นายสุริยากล่าวต่อว่า นวัตกรรมดังกล่าวมีต้นทุนในการพัฒนาราว 2 หมื่นบาท ในอนาคตกรณีที่การทำงานในส่วนต่างๆ มีความเสถียรยิ่งขึ้น เตรียมวางแผนจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในราคา 3.5 หมื่นบาท ล่าสุดนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศบนเวทีประกวดนวัตกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 10

ขณะที่เพื่อนนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากผลงาน “ยานพาหนะปัญญาประดิษฐ์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับผู้พิการทางสายตา” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 “รถเข็นไฟฟ้าสำหรับผู้พิการทางสมองและกล้ามเนื้ออ่อนแรง” ติดตามความเคลื่อนไหวของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT หรือ www.engr.tu.ac.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน