การเมืองไทยเข้าสู่ช่วงครบรอบ 4 ปี คสช. ด้วยบรรยากาศไม่ค่อยดีนัก

ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐบาลจะอยู่บริหารประเทศ จนครบเทอม 4 ปี ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือมาด้วยกำลังอาวุธ

ที่ผ่านมามีแต่รัฐบาลของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ทำได้และมีแนวโน้มว่าจะไปได้ไกลกว่านั้น หากไม่โดนรัฐประหารใน ปี 2549 เสียก่อน

จากนั้นในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็เป็นรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ที่ทู่ซี้อยู่มาได้ จนครบ 4 ปี นับตั้งแต่การยึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

โดยไม่มีใครคาดคิดว่ารัฐบาลจากการรัฐประหารจะอยู่นานขนาดนี้

เป็นเรื่องปกติทางการเมืองเมื่อวาระครบรอบรัฐบาล 1 ปี 2 ปี 3 ปีเดินทางมาถึง ก็จะมีบรรดานักการเมือง นักวิชาการ สื่อมวลชน ในฐานะตัวแทนและกระบอกเสียงของประชาชน

ออกมาทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าการแถลงข่าว จัดเสวนาหรือให้สัมภาษณ์ เนื้อหา เบาบ้าง หนักบ้างแล้วแต่สถานการณ์ตอนนั้น

วัตถุประสงค์ก็เพื่อชี้ให้รัฐบาลเห็นถึงสิ่งที่เป็น “จุดแข็ง-จุดอ่อน” ทั้งยังเป็นการตรวจการบ้านรัฐบาลไปในตัว ว่าได้ทำตามที่ให้สัญญาไว้กับประชาชนมากน้อยขนาดไหน หรือไม่ได้ทำเลย

สำหรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ถืออำนาจเต็ม ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีฝ่ายตรวจสอบ ยิ่งสมควรต้องเปิดใจกว้างรับฟังข้อ ท้วงติงดังกล่าว

ทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลในการนำไปเป็นแนวทางบริหารประเทศสืบต่อไป

การใช้อำนาจ “ปิดปาก” ห้ามคนวิจารณ์

น่าจะเป็นผลร้าย มากกว่าผลดี

ในปีนี้มีลักษณะพิเศษกว่า 3 ปีที่ผ่านมา

นอกจากจะเป็นวาระครบเทอม 4 ปี ยังเป็นปีสุดท้ายของโรดแม็ปตามที่ผู้มีอำนาจกำหนดไว้ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งประมาณต้นปี 2562 หลังเคยประกาศเลื่อนมาแล้วหลายครั้งหลายหน จนสูญเสียความน่าเชื่อถือ

การออกมาวิพากษณ์วิจารณ์รัฐบาลและคสช.ช่วงนี้ จึงค่อนข้างอ่อนไหวอยู่บ้าง

เหตุการณ์ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ในการเปิดแถลง “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และคสช.นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย” สะท้อนถึงความหวั่นไหวของผู้มีอำนาจได้ชัดเจน

เนื้อหาที่แกนนำพรรคตั้งโต๊ะแถลงระบุถึงความล้มเหลว 4 ปีของคสช. 7 ด้าน ได้แก่

ความล้มเหลวในการทำตามข้ออ้างยึดอำนาจ การสร้างความปรองดอง การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น การทำให้บ้านเมืองมีประชาธิปไตย การปกป้องสิทธิมนุษยชน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

และสุดท้าย คือ ความล้มเหลวใน “ภาวะผู้นำ” ของนายกฯ และหัวหน้าคสช. ที่เคยรับปากต่อประชาชนว่าจะเข้ามาชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาและจะอยู่ไม่นาน แต่กลับอยู่ยาวถึง 4 ปี และมีแนวโน้มจะมุ่งสืบทอดอำนาจต่อไป

“4 ปีของคสช.คือการนำประเทศไปสู่อนาคตที่มืดมนและอันตราย ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยถูกมองเป็นเพียงบ่าว ทั้งที่พวกเขาคือนาย” แถลงการณ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม สิ่งบ่งบอกว่าการแถลงของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นไปอย่างมีอคติในฐานะ “ผู้ถูกกระทำ” เสียทีเดียว เนื่องจากเนื้อหาโดยรวม สอดคล้องกับในมุมพรรคประชาธิปัตย์ ที่มองว่าเป็น 4 ปีแห่งความสูญเปล่า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ในห้วง 4 ปีของคสช. สิ่งที่สำเร็จมีเพียงแค่เรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อยภายใน

ในเรื่องเศรษฐกิจยังไม่มีการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนระดับล่าง ตัวเลขสำนักงานสถิติสะท้อนว่า รายได้คนจนลดลง แต่การเติบโตไปอยู่กับคนมีรายได้มากที่สุดของประเทศ

การปฏิรูปก็ไม่มีความชัดเจน เสียเวลาไปมาก การทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไม่สามารถผลักดันอะไรได้

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้คะแนนบริหารประเทศของคสช. โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกให้ 7 เต็ม 10 เพราะตั้งใจแก้ปัญหาและไม่มีส่วนได้เสีย

แต่ในระยะกลางจนถึงปัจจุบัน ให้คะแนน “ติดลบ”

เนื่องจากเห็นชัดเจนว่า คสช.ต้องการสืบทอดอำนาจ กลายเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ทางการเมืองเสียเอง

ขณะที่งานปฏิรูปประเทศยังไม่เห็นรูปธรรมนอกจากแผนงาน การวางยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศ ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม เป็นความคิดของผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ฝ่ายเดียว

การร่างรัฐธรรมนูญออกแบบเพื่อคงอำนาจตัวเอง เช่น การให้ส.ว.จากการแต่งตั้งของคสช. มีส่วนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็น “คนนอก”

รวมถึงตัวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ขาดความเข้าใจและสับสนเกี่ยวกับงานปฏิรูป

จากที่ล่าสุดได้ออกมาอธิบายผลการทำงาน 4 ปีว่าเป็นการปฏิรูป เช่น เรื่องรถไฟทางคู่ ทั้งที่เป็นการปฏิบัติราชการปกติ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ต้องทำ

กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลคสช.คาดหวังให้เป็นผลงานสร้างชื่อ

มีการตั้งองค์กรขึ้นมาขับเคลื่อนงานด้านปฏิรูปเป็นการเฉพาะ เช่น สปช. และสปท. ก่อนยุบไปตั้งใหม่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน 11 คณะ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 4 ปีเต็ม การปฏิรูปยังคงเป็นแค่แผ่นกระดาษ ไม่มีอะไรคืบหน้าในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรม

โดยผู้ออกมาพูดเรื่องนี้แล้วมีน้ำหนัก มากที่สุดคือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เนื่องจากเป็นถึงประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ในอดีตยังเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกในยุคคสช. ถือเป็นคนกันเองในแม่น้ำ 5 สาย

เมื่อครั้งสปช.โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ออกมาส่งสัญญาณว่าเป็นเพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” มาคราวนี้นายบวรศักดิ์กล่าวถึงการปฏิรูปว่า รู้สึกเหนื่อย เพราะมองไม่เห็นว่าจะไปจบลงอย่างไร

เพราะคณะกรรมการปฏิรูป 11 คณะ ทุกคณะมีแต่แผน ที่สำคัญการให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติ ก็เหมือนให้ผู้ถูกปฏิรูปมาทำเรื่องปฏิรูปเสียเอง อีกทั้งระบบราชการยังมีระบบคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่แน่ใจว่าการปฏิรูปจะสำเร็จหรือไม่

แม้จะใช้เวลา 4 ปีแล้ว แต่การปฏิรูปยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน

“ตอบไม่ถูกว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้การปฏิรูปอยู่ใน บทถาวร หมายความว่าจะต้องปฏิรูปต่อไปตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญยังอยู่ แต่ในความเป็นจริง เราจะปฏิรูปไปตลอดชาติไม่ได้” นายบวรศักดิ์ระบุ

การส่งฝ่ายกฎหมายคสช.เข้าแจ้งความต่อกองปราบฯ

ดำเนินคดีกับ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ออกมาแถลงความล้มเหลวของ 4 ปีคสช. ใน 4 ข้อหา ฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ผิดมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ก็ต้องคำนวณให้ดีว่าการทำแบบนี้ คสช.เป็นฝ่าย “ได้” หรือ “เสีย”มากกว่า

ถ้าจะได้ คงเป็นเรื่องการตัดไฟแต่ต้นลม

ป้องปรามไม่ให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองอื่นๆ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่นัดชุมนุมปักหลักค้างคืน จ่อเคลื่อนขบวนบุกทำเนียบรัฐบาลวันที่ 22 พฤษภาคม

แต่ที่ต้องเสียไป ก็คือภาพลักษณ์

กรณีที่เกิดขึ้นกับแกนนำพรรคเพื่อไทย เท่ากับเป็นการประจานให้โลกรู้ว่า 4 ปีคสช. เรื่องของสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพประชาชน ยังเป็นปัญหาใหญ่

นอกเหนือจากการปฏิรูปที่ไม่คืบหน้าทุกด้าน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ล้มเหลว เช่นเดียวกับการปราบทุจริตคอร์รัปชั่นและสร้างความปรองดอง

การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ทำลายพรรคการเมืองเดิม สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ ที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นฐานรองรับการสืบทอดอำนาจของตัวเอง

เป็น 4 ปีแห่งการสูญเปล่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน