ขึ้นเงินศาลทำไม

ใบตองแห้ง

รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ. 5 ฉบับ ขึ้นเงินเดือนศาล องค์กรอิสระ โดยอ้างเหตุผล “เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ” ชาวบ้านได้ฟังก็เกิดดราม่า ศรีสุวรรณ จรรยา โวยว่ารัฐบาลไม่แยแสความทุกข์ยากประชาชน ที่ต้องระทมทุกข์เศรษฐกิจซบเซา

อันที่จริง ก็เป็นแค่เหตุผลแปะตัวร่าง เพราะตามมติ ครม.วันที่ 14 ก.พ.2561 ที่ขึ้นเงินเดือนให้ศาล องค์กรอิสระ 10% โฆษกไก่อูพูดชัดเจนว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากตอน คสช.เข้ามาใหม่ๆ ได้ขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการประจำไปแล้ว เหลือแต่ศาล องค์กรอิสระ “เป็นพวกตกสำรวจ” จึงขึ้นให้ย้อนหลัง เช่น ศาลยุติธรรม มีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค.2557

เม็ดเงินที่ขึ้นให้ศาล ความจริงก็ไม่เยอะ เพราะคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ออกระเบียบจ่ายเงินเพิ่มค่า ครองชีพชั่วคราว ให้ผู้พิพากษาอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งก็จะไม่จ่ายอีก เอามารวมไว้ในการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ โดยระเบียบฉบับนี้เพิ่มเงินให้ผู้พิพากษาชั้น 5 เดือนละ 12,000 บาท ชั้น 4 เดือนละ 7,300 บาท ชั้น 3 เดือนละ 6,800 บาท

ฟังไปฟังมา เหตุที่เกิดดราม่า น่าจะเพราะคนส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจระบบเงินเดือนศาล ซึ่งต้องย้อนที่มาว่า ตั้งแต่อดีต ผู้พิพากษาก็เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการอื่น เพราะจริยธรรมศาลเคร่งครัด ต้องสันโดษ สมถะ ห้ามมีรายได้เสริมเว้นแต่สอนหนังสือหรือเขียนตำรา

แต่เงินเดือนผู้พิพากษามาปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เมื่อแยกศาลจากกระทรวงยุติธรรม แล้วมี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ซึ่งกำหนดให้เงินเดือนผู้พิพากษามี 5 ชั้น ชั้น 5 มีคนเดียว คือประธานศาลฎีกา ได้รับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งเท่านายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา ตามหลักอำนาจ 3 ฝ่าย

ที่แตกต่างจากข้าราชการอื่น คือแต่ละชั้นเงินเดือนต่างกันไม่มาก ตามบัญชีปัจจุบัน ประธานศาลฎีกาเงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ชั้น 4 เงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการ โดยผู้ได้เงินเดือนชั้น 4 ตามที่กฎหมายบัญญัติ ได้แก่ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ขณะที่รองประธานศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีศาลชั้นต้น มีทั้งเงินเดือนชั้น 3 ชั้น 4

ไม่ทราบเหมือนกันว่าผู้พิพากษาที่ได้เงินเดือนชั้น 4 เทียบเท่ารัฐมนตรีนี้มีกี่ท่าน แต่เฉพาะที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ตอนเลือก กกต.ก็มี 176 ท่าน

สรุปคร่าวๆ คือศาลฎีกาทั้งหมดได้เงินเดือนชั้น 4 ผู้บริหารศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นส่วนใหญ่เป็นชั้น 4 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีทั้งชั้น 3 ชั้น 4 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีทั้งชั้น 2 ชั้น 3 ผู้พิพากษาประจำศาลได้เงินเดือนชั้น 1 โดยชั้น 3 ก็ต่างจากชั้น 4 ไม่มาก มี 2 ขั้น ขั้นสูงได้เงินเดือน 69,810 บาท เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท

นอกจากนี้ ยังมีค่าตอบแทนเหมาจ่ายการจัดหารถประจำตำแหน่ง ซึ่งชั้น 4 จะได้เท่าปลัดกระทรวง 41,000 บาท ชั้น 3 ได้เท่าอธิบดี 31,800 บาท

หลักการสำคัญของการกำหนดอัตราเงินเดือนที่ดูเหมือนสูงปรี๊ด แต่เท่าเป๊ะ คือหลัก “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา” ซึ่งมาตรา 20 ยังล็อกการเลื่อนชั้นไว้ เช่นเมื่อเป็นชั้น 3 ขั้นสูงครบเจ็ดปีให้เลื่อนเป็นชั้น 4

เจตนารมณ์ของกฎหมายคือไม่ให้มีใครสั่งใครได้ ให้ ผู้พิพากษามีอิสระในการวินิจฉัยคดี ไม่ต้องกลัวถูกย้าย ไม่ต้องกลัวไม่ได้ขึ้นเงินเดือน เพราะถ้าเป็นชั้น 4 ก็เท่ากันหมด ตั้งแต่รองประธานศาลฎีกาคนที่หนึ่งไปถึงผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ หรือเป็นชั้น 3 ยังไงก็ได้ขึ้นชั้น 4 แหงๆ แถมประเพณีศาลยังเลื่อนตำแหน่งตามอาวุโส ใครสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ที่ 1 เมื่ออายุ 25 ก็จะได้เป็นประธานศาลฎีกาเมื่ออายุ 63 เพราะบรรจุเข้ารับราชการคนแรกในรุ่น

นั่นคือโครงสร้างเงินเดือนศาล ซึ่งวางไว้ตั้งแต่ปี 2543 ปรับอัตรา 2 ครั้งในปี 2550, 2554 แต่ที่งอกเงยตาม คือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอิงโครงสร้างศาลยุติธรรม โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้เท่าประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระและอัยการสูงสุดได้เท่ารองประธานศาลฎีกา ที่เหลือก็ลดหลั่นกันไป

ปัญหาคือองค์กรงอกเงย ยิ่งมายิ่งเยอะและยิ่งใหญ่โต เงินเดือน สิทธิประโยชน์ อำนาจ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็สูงกว่าข้าราชการทั่วไป ทั้งที่ไม่ต้องอยู่ในหลักความเป็นอิสระหรือจริยธรรมแบบผู้พิพากษา นี่ยังไม่นับองค์กรพิเศษ เช่น กสทช. คปภ. กกพ. ซึ่งเงินเดือนสูงยิ่งกว่าองค์กรอิสระ ทำให้ข้าราชการธรรมดากลายเป็นข้าราชการชั้นสอง ชั้นสาม ชั้นสี่ โดยปริยาย

ฝากข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อขึ้นเงินเดือนประธานศาลฎีกา 10% เงินเดือนนายกฯ ประธานรัฐสภา ก็ต้องขึ้นด้วยใช่ไหม เพียงแต่จะขึ้นเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน