พึ่งทุนลืม 6 ตุลา 53

ใบตองแห้ง

42 ปี 6 ตุลา 45 ปี 14 ตุลา ทำไมต้องตอกย้ำทุกปี ก็เพราะสถานการณ์วันนี้มีหลายอย่างหวนไปคล้ายอดีต ขณะที่บางด้านก็ย้อนแย้ง ทำให้ต้องศึกษาทบทวนประวัติศาสตร์

ก่อน 19 กันยา 2549 สังคมไทยแทบจะลืม “16 ตุลา” ไปแล้ว (ลืมจนเรียกอย่างนั้น) มีเพียงคนรุ่นนั้นจัดงานรำลึก ซึ่งเปรียบเปรยกันเป็นงานเช็งเม้ง กระทั่งเกิดรัฐประหารที่คนตุลาแยกเป็น 2 ข้าง ทำให้เกิดคำถาม ทั้งเชิงอุดมการณ์ และทำไมสังคมไทยหวนกลับ

หลังจากนั้นเมื่อความแตกแยกยิ่งขยาย ปลุกมวลชนเป็นสองฝ่าย ชี้หน้ากันด้วยข้อหาร้ายแรง คล้ายยุค “ขวาพิฆาตซ้าย” สมัยนี้เป็นเสื้อแดง สมัยก่อนเป็นนักศึกษา “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” หลังปี”53 ที่กระชับพื้นที่ด้วยกระสุนจริง งาน 6 ตุลาก็คึกคัก มวลชนเสื้อแดงน้ำตาไหลพราก เมื่อเห็นภาพ “เก้าอี้ฟาด”

แน่ละ ปัญหา สาเหตุ อาจต่างกัน แต่ 6 ตุลากับพฤษภา 53 จบแบบเดียวกัน คือเกิดรัฐประหารเพื่อจัดระเบียบอำนาจใหม่ ซ้ำร้าย ยุคนี้ยังพยายามจะถอยไปเลียนแบบประชาธิปไตย ครึ่งใบ ซึ่งเป็นฉันทมติเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว กลับไปมี ส.ว. แต่งตั้ง 6 ผบ.เหล่าทัพนั่งควบกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หวัง จะค้ำรัฐรวมศูนย์อำนาจไปอีก 5 ปี 20 ปี

เพียงแต่วันนี้ ระเบียบอำนาจเก่าปัดฝุ่นใหม่ ยังมีคำถาม ตัวเบ้อเร่อ ว่าใช้ได้จริงหรือ ที่หวังว่าจะราบรื่นอย่างยุคป๋าเปรม 8 ปี จะเป็นจริงหรือเป็นตรงข้ามกันแน่

ทำไมหลัง 6 ตุลา ซึ่งขยายความแตกแยก ผลักนักศึกษาหลายพันคนเข้าป่า ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขยายเขตสงครามประชาชนไปกว้างขวาง จึงยุติลงในเวลาไม่นาน

ข้อแรก สังคมนิยมล่มสลาย ระบอบสังคมนิยมภายใต้เผด็จการพรรคเดียว ทำให้จีนเกิดวิกฤต โซเวียตพังทลาย นักศึกษาขัดแย้งกับ พคท.เรื่องแนวทางนโยบายและความเป็นประชาธิปไตย จนหลั่งไหลกลับจากป่า มาครวญเพลงปฏิวัติ โค่นล้มสังคมแบบเก่าในร้านเหล้า

ข้อสอง ชนชั้นนำไทยปรับตัวเก่ง หลังให้ “รัฐบาลหอย” เผด็จการเต็มใบปกครองไม่ถึงปี รู้ว่าไปไม่รอด ก็รัฐประหารกันเอง พล.อ.เกรียงศักดิ์รีบร่างรัฐธรรมนูญไปสู่เลือกตั้ง นิรโทษกรรมแกนนำนักศึกษา แล้วต่อมา พล.อ.เปรมก็ออกนโยบาย 66/23

ภาพรวมคือประเทศอยู่ใต้เผด็จการทหารยาวนาน 16 ปี เป็นประชาธิปไตยสั้นๆ 3 ปี รัฐประหารสุดโต่ง 1 ปี เมื่อ ถอยกลับมาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เปิดพื้นที่ให้ภาคธุรกิจ นักการเมือง ประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมบ้าง ทุกคนก็รู้สึก ดีขึ้น เป็นระเบียบอำนาจที่พอรับได้ คนตุลาแม้ไม่ได้รับความยุติธรรม แต่เป็นฝ่ายแพ้ ไม่สามารถเรียกร้องอะไร ได้คืนรังก็ดีถมไป 6 ตุลาจึงถูกกลบฝัง ถูกทำให้ลืม

ปัจจัยข้อสาม เศรษฐกิจทุนนิยมโลกในยุคนั้น ยุคเรแกน & แทตเชอร์ ก้าวสู่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งบีบให้ทั้งโลกเปิดเสรี เปิดรับการลงทุน กระตุ้นบริโภคนิยม แต่ในเบื้องต้นก็เป็นผลดี ทำให้เศรษฐกิจไทย “โชติช่วงชัชวาล”

ซึ่งเมื่อสังคมกลับสู่ความสงบ ทุนนิยมบริโภคกับวัฒนธรรมจารีตก็เข้ากันดีเป็นปี่ขลุ่ย เช่นตามมหาวิทยาลัย เมื่อหมดยุคขบวนการนักศึกษา ก็เข้าสู่ยุคเร่งเรียน เพราะจบมามีงานรอ กิจกรรมก็ย้อนสู่วัยหวาน บันเทิง ฟื้นโซตัส เพื่อให้สยบยอมอำนาจ พร้อมกับปลูกฝังศีลธรรม แบบเป็นคนดีตามผู้หลักผู้ใหญ่ จนโตมาไม่เอาเลือกตั้ง ทั้งที่ใช้ชีวิตแบบฝรั่ง

ตัดฉับมาปัจจุบัน ถามว่ามีปัจจัยอะไร ทำให้ระเบียบอำนาจนี้ไปได้ หนึ่ง โลกประชาธิปไตยล่มสลาย ยังงั้นหรือ แม้เหมือนจะใช่ ประชาธิปไตยทั่วโลกมีปัญหา แต่ทำไมต้องกลับมา เลือกตั้งล่ะ

สอง ผู้กุมอำนาจได้ปรับตัวไหม ปรับไม่ได้ เพราะไม่เหลือทางให้ปรับ เทียบง่ายๆ เราพ้นประชาธิปไตยครึ่งใบมานาน ผ่านพฤษภา 35 ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 อยู่ 9 ปี ถอยไปรัฐธรรมนูญ 2550 อีก 7 ปี ยังเอาไม่อยู่ นี่รัฐประหารมา 4 ปี เห็นแต่พยายามสร้างรัฐเข้มแข็งรวมศูนย์อำนาจราชการ เพื่อคุมเข้มอีก 20 ปี

สาม หวังพึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้ไปข้างหน้า ไทยแลนด์ 4.0 EEC คนไทยจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ลืมอดีต ลืมความอยุติธรรม เลิกทวงอำนาจ รับบัตรคนจนไป

นี่ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่ใช้อยู่ กำลังจะสานต่อพลังประชารัฐ เพื่อไปสู่รัฐบาลหลังเลือกตั้ง ที่หวังจะให้โลกเชื่อระบอบครึ่งครึ่ง คือครึ่งประชาธิปไตยมีเลือกตั้งให้ต่างชาติลงทุน ครึ่งเผด็จการมีอำนาจรวมศูนย์เพื่อรักษาความมั่นคง ผนึกกลุ่มทุนใหญ่ คนชั้นกลางระดับบน คนมั่งมี ร่วมค้ำจุน พร้อมกับสงเคราะห์คนจน

พึ่งการกระตุ้นทุนนิยม บนระเบียบอำนาจไม่ลงตัว และในวิกฤตเสรีนิยมใหม่นี่นะ

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน