คอลัมน์ บทบรรณาธิการ : มีกับไม่มี

 

 

การถกเถียงโต้แย้งของคนในสังคมถึงเพลง ประเทศกูมี ยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งการใช้เหตุผลและใช้อารมณ์ ทั้งตรงประเด็นและหลงประเด็น รวมถึงบิดประเด็นด้วย

การยกจุดเด่นและข้อดีของประเทศไทยมากมายคล้ายจะเป็นข้อโต้แย้งหนึ่ง เพื่อจะบอกว่าเราควรมองประเทศในมุมบวก

แต่ก็ไม่ใช่การใช้เหตุผลที่ตรงกับเรื่องนี้

เนื่องจากจุดดีจุดเด่นของประเทศไทยนั้นเป็นที่รับรู้รับทราบกันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม และความเป็นมิตรของผู้คน

แต่สิ่งที่เนื้อเพลงของกลุ่มแร็พต่อต้านเผด็จการนำเสนอนั้นเป็นมุมลบที่เราไม่ควรละเลย เพียงเพราะกลัวอับอาย

มุมลบที่เพลงนำเสนอโดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ใช่การประจานประเทศ หากเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของไทย

หลายๆ ประเทศล้วนมีประวัติศาสตร์อันน่าสะเทือนขวัญ มีความรุนแรงอันไร้เหตุผล มีการล่าแม่มด และบ้างถึงขั้นมีสงครามการเมือง

แต่ประเทศประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องนำความดีกลบความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ของตนเอง

เยอรมนีไม่เคยปิดบังหรือสั่งให้คนรุ่นใหม่อย่าศึกษาเหตุการณ์ในยุคสมัยนาซี ส่วนอเมริกามีตำราและการศึกษามากมายเกี่ยวกับการใช้ทาสในศตวรรษที่ 18-19 เช่นเดียวกับรวันดาที่เรียนรู้เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศอย่างจริงจัง

ทั้งหมดเพื่อให้เกิดการศึกษาป้องกันและแก้ปัญหาแท้จริงในสังคม

จุดเด่นในมิวสิคเพลงนี้คือฉากที่จำลองเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มีความรุนแรงอย่างสุดขั้ว ถึงขั้นที่ฝูงชนรุมทำร้ายและหัวเราะใส่ร่างเหยื่อด้วยความเกลียดชัง

ภาพๆ นี้เผยแพร่ไปทั่วโลกมาก่อนแล้ว โดยสำนักข่าวเอพี ของสหรัฐ อีกทั้งยังเป็น ผลงานของนีล ยูเลวิช ช่างภาพที่ได้รับรางวัล พูลิตเซอร์

ดังนั้น การเอ่ยหรือร้องถึงเหตุการณ์นี้ รวมถึงเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยกำลังทหาร กลางเมืองหลวง ปี 2553 ไม่ใช่เรื่องที่ปกปิดได้ เพราะมีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ

ในเมื่อเหตุการณ์นี้มีจริง และไม่ควรถูกลบเลือนว่าไม่มี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน