จุดร่วมไม่เอาตู่

ใบตองแห้ง

อยากเห็นลุงตู่อยู่ต่อไหม “ให้อยู่ทำซากอะไร” เพชร กรุณพล ตอบคำถามดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ในงานเอ็กซ์คลูซีฟทอล์ก “อยากเห็นเมืองไทยดีกว่านี้” ที่ไอแมกซ์ สยามพารากอน

แม้รู้กันว่าเพชรอยู่ข้าง “เอาเลือกตั้ง” เป็นเสียงข้างน้อยในหมู่ ดาราเซเลบ ที่คลั่งนกหวีดขึ้นสมองเมื่อ 5 ปีก่อน แต่คำตอบของคนอื่น ก็ออกมาทำนองเดียวกัน เช่นคนเคยไปม็อบรู้สึกเจ็บ คนเคยศรัทธา เจอนาฬิกาก็ผิดหวัง แม้ส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อใจนักการเมือง

อยากเห็นลุงตู่อยู่ต่อไหม ถ้าถามประชาชนทั่วไป โดยไม่ต้องผ่านนิด้าโพล ก็น่าจะรู้ว่าเสียงข้างมากตอบข้างไหน แม้แต่ชาว สวนยางภาคใต้ ที่เคยปิดถนนไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร รัฐบาลไหนอยู่นาน ชาวบ้านก็เบื่อหน่าย ยิ่งมาโดยรัฐประหาร คนข้างหนึ่งเกลียดชัง คนข้างหนึ่งหวังสูง ปราบโกงแล้วถนนจะปูด้วยทองคำ ครั้นไม่ได้ดังใจ กองเชียร์ ก็เสียความรู้สึก บอกประชาชนอยู่ดีกินดี ก็เห็นมีแต่ซื้อเรือดำน้ำ เครื่องบิน รถถัง ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ทหาร ศาล องค์กรอิสระ บอกคนจนหมดประเทศ อันนี้ท่าจะจริง เพราะกวาดหาบเร่ แผงลอย จับคนจรจัด สร้างภูมิทัศน์กรุงเทพฯ งดงาม สมกับที่มี ตึกห้าหมื่นล้าน

ระหว่างปกครองด้วยอำนาจ คนอาจไม่ไล่ แต่ใกล้เลือกตั้ง ความรู้สึกยิ่งประดัง อย่างลุงกำนันเดินคารวะแผ่นดิน ฝีตีนหนักไปหน่อย แผ่นดินสะเทือนจนอดีต กปปส.ออกมาไล่ ไล่ลุงกำนันไม่เท่าไหร่ ดันร่ายยาวถึงลุงตู่ ว่าหนีเสือปะตัวอะไรก็ไม่รู้ ทหารต้องไปเยี่ยมบ้านปรับความเข้าใจ

นี่ยังไม่เข้าสู่ฤดูเลือกตั้งจริงๆ จังๆ ยังขนาดนี้ ถ้าเดินเครื่องเต็มที่ ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง พลังประชารัฐของสี่รัฐมนตรี กวาดนักการเมืองสัมภเวสี สามมิตร สุริยะ สมศักดิ์ มาชูตู่เป็นแคนดิเดตอันดับหนึ่ง

ก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้เลย เป็นแคนดิเดตอันดับหนึ่ง หรือเป้าหมายอันดับหนึ่งให้รุมทึ้ง

กระแสไม่เอาตู่ จะสูงขึ้นๆ เป็นจุดร่วมโดยธรรมชาติ ทั้งจากคนคัดค้านรัฐประหาร คนผิดหวังเบื่อหน่ายหมดศรัทธา คนได้รับ ผลกระทบจากนโยบาย จากการใช้อำนาจเป็นใหญ่ของรัฐราชการ ทหาร ตำรวจ

แม้แน่ละ ยังมี FC เหนียวแน่น ในคนชั้นกลางระดับบน ที่นิยมการใช้อำนาจจัดระเบียบ คนมั่งมี ภาคธุรกิจ ที่เชื่อว่ารัฐเข้มแข็งเอื้อต่อการลงทุน 4.0 EEC รถไฟสามสนามบิน

ปัญหาของ “จุดร่วมไม่เอาตู่” คือไม่เอาตู่แล้วเอาใคร การเมืองข้างหน้าจะเอาอย่างไร ฯลฯ เพราะเป็นจุดร่วมหลวมๆ ที่ความคิด อาจยังต่างกันคนละขั้ว เป็นแนวร่วมก็ยังไม่ได้

ยกตัวอย่างการเลือกตั้ง ฝั่งเสื้อแดง ฝั่งนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย อาจจะชัด ไม่เลือกเพื่อไทย ก็เลือกอนาคตใหม่ เพื่อคัดค้านการสืบทอดอำนาจ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร แก้รัฐธรรมนูญ แม้ 2 พรรคต่างกันบ้างก็เป็นแนวร่วมในหลักใหญ่

แต่สำหรับคนเกลียดยิ่งลักษณ์ทักษิณ คนเคยเป่านกหวีด ปิดสนามบิน เคยเลือกสุขุมพันธุ์เพื่อสกัดทักษิณ แต่วันนี้สุดเซ็งรัฐบาลทหาร เข็ดทั้งลุงตู่ ลุงกำนัน ขณะเดียวกันก็แสนรำคาญหัวหน้ามาร์ค

กลุ่มนี้สิ ไม่รู้จะเลือกใคร ไม่เลือกพรรคทักกี้แหง อนาคตใหม่ก็ไกลเกินกะโหลก แล้วมีไหม พรรคอนุรักษนิยมที่ไม่เอาตู่ ไม่ยักมี

พรรคประชาธิปัตย์พยายามเสียบตรงนี้ แต่ไม่มีเครดิต ทั้งที่อุตส่าห์รีโนเวต ประแป้งแต่งพิธีเลือกหัวหน้าใหม่ ไม่ใช่แค่เคยบอยคอตเลือกตั้ง สั่งใช้กระสุนจริง นั่นเป็นข้อรังเกียจของฝั่งประชาธิปไตย แต่ฝั่งอนุรักษนิยมก็รู้แก่ใจ ปชป.ฝากความหวังไม่ได้ เก่งแต่เล่นการเมือง

คำประกาศแทงกั๊ก ไม่เอาทั้งระบอบทักษิณ และไม่เอาสืบทอดอำนาจ จึงไม่มีความหมาย เพราะ ปชป.เป็นหลักไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสาหลักของฝ่ายอนุรักษ์ หรือเป็นตัวกลางเชื่อมพรรคการเมืองตั้งรัฐบาล ต้านสืบทอดอำนาจ

ลองนึกภาพนะครับ 250 ส.ว.ร่วมมือกับ ส.ส.ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ พรรคกลางพรรคเล็ก ชูมาร์คเป็นนายกฯ แทนตู่ คุณว่าเป็นไปได้ไหม พวกอนุรักษนิยมยังหัวร่อน้ำหูน้ำตาไหล

มองทิศทางอันใกล้ จุดร่วมไม่เอาตู่ จึงเกิดขึ้นง่ายมาก เกิดโดยธรรมชาติ แต่จุดร่วมอื่นเกิดยาก เช่นการผนึกพรรคการเมืองเพื่อต้านสืบทอดอำนาจ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เอา 244 ส.ว.แต่งตั้งและ 6 ผบ.เหล่าทัพออกไป จากอำนาจตั้งนายกฯ (ซึ่งโดยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ แก้ยากอยู่แล้ว เพราะต้องมี ส.ว.ร่วมลงชื่อ)

โอกาสที่เป็นไปได้สูงมาก จึงได้แก่ตู่ไปต่อ ทั้งๆ ที่คนต่อต้าน คนเบื่อหน่าย มีจุดร่วมว่าไม่เอา แต่อาศัย 250 ส.ว. พรรคกลางพรรคเล็ก หรือสุดท้ายก็ ปชป.นี่เอง แล้วอะไรจะเกิดข้างหน้า ก็รอดู

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน