ปลูก “ความหวัง” และส่งต่อ “ความสุข” พาเยาวชนฝ่าคลื่นลม

เมื่อช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (IYF) ที่ผมเป็นที่ปรึกษาอยู่ ได้จัดงาน 2018 World Culture Festival ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นงานที่เกิดจากการรวมตัวกันของเหล่าอาสาสมัครทั้ง 12 รุ่น ที่มีโอกาสไปใช้ชีวิตผ่านโครงการอาสาสมัครต่างประเทศ Good News Corps

เพื่อแบ่งปันเรื่องราวดีๆ และประสบการณ์อันมีค่าแก่ผู้คน และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไปในคราวเดียวกัน

ในงานครั้งนี้ผมได้รับเกียรติให้ขึ้นบรรยาย ระหว่างเตรียมงานผมนึกถึงตอนที่ IYF ถูกก่อตั้งขึ้น ผ่านทางเหตุการณ์ของวัยรุ่นคนหนึ่งที่ชื่อว่า “แอนดี้” ตอนนั้นพาสเตอร์พาร์ค อ็อกซู ผู้ก่อตั้ง IYF ได้เดินทางไปทำงานเพื่อเยาวชนที่สหรัฐอเมริกา และได้พบผู้หญิงคนหนึ่ง

เธอเข้ามาหาพาสเตอร์ พูดทั้งน้ำตาเรื่องความทุกข์ใจเกี่ยวกับ “แอนดี้” ลูกชายของเธอว่า ไม่สามารถช่วยลูกให้หลุดพ้นจากยาเสพติดได้ และที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ เห็นว่าบางครั้งแอนดี้พกปืนติดตัวด้วย และนั่นยิ่งทำให้เธอเป็นกังวลมากขึ้น กลัวว่าลูกชายจะไปมีเรื่องและอาจเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายได้

ในตอนนั้นพาสเตอร์พาร์คได้บอกกับคุณแม่ของแอนดี้ว่า “ขอให้ผมได้พาเขาไปอยู่กับผมที่เกาหลีนะครับ ผมจะช่วยให้เขาได้รับการเปลี่ยนแปลง” ในตอนที่พาสเตอร์พาร์คเห็นแอนดี้เป็นครั้งแรกก็อดตกใจไม่ได้ เพราะผมของเขาย้อมเป็นสีรุ้ง และพอมองไปที่กางเกง ก็ยิ่งน่ากลุ้มใจหนัก เพราะมันทั้งขาดและเกือบจะหลุดลงมาจากก้นแล้ว

ตอนนั้นเองพาสเตอร์พาร์คไม่ได้ตัดสินแอนดี้จากภายนอก แต่กลับบอกเขาว่า เธอดูดีนะ สีผมของเธอสวยมากๆ เลย เมื่อแอนดี้ได้ยินอย่างนั้น เขารู้สึกตกใจอย่างมาก เพราะตอนที่เขาอยู่ที่สหรัฐฯ เขาถูกมองว่าเป็นเพียงเด็กมีปัญหาคนหนึ่งเท่านั้น

ตอนที่แอนดี้อยู่ที่ประเทศเกาหลี เขาได้ทำกิจกรรมมากมาย และได้ฟังบรรยายเกี่ยวกับเรื่องโลกของจิตใจ จนในที่สุดแอนดี้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง และสามารถเลิกยาเสพติดได้ เมื่อเขากลับไปที่สหรัฐฯ เพื่อนของเขาต่างพากันตกใจและอยากเปลี่ยนแปลงได้อย่างแอนดี้บ้าง ดังนั้นช่วงปิดเทอมเขาและเพื่อนๆ จึงเดินทางมาหาอาจารย์พาร์ค และทำกิจกรรมที่เกาหลีใต้

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ และการเปลี่ยนแปลงผ่านทางชีวิตของแอนดี้ พาสเตอร์พาร์คได้เล็งเห็นถึงปัญหาต่างๆ ในเยาวชน จึงเริ่มก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (IYF) ขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ และไม่กี่ปีต่อมาก็ได้ก่อตั้ง IYF ขึ้นอีกในหลายประเทศทั่วโลก

ตอนที่คิดถึงเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้คิดถึงเรื่องในวัยเด็กของตัวเองเช่นกัน ผมเป็นเพียงลูกชาวนาคนหนึ่ง ช่วงที่ไม่ต้องไปโรงเรียนก็มักจะช่วยคุณพ่อทำนาเสมอ ในสมัยนั้นไม่ไมีเทคโนโลยีเหมือนอย่างตอนนี้ เราทำนาโดยเริ่มจากการปลูกต้นกล้า

จากนั้นจึงค่อยๆ ปลูกและขยายพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ มีอยู่วันหนึ่งเกิดฝนตกและมีพายุเข้า คุณพ่อบอกให้ผมและพี่น้องช่วยกันออกไปมัดฟ่อนข้าวเข้าไว้ด้วยกัน ข้าวเหล่านั้นจะได้ไม่ล้มตายไป ผมจำได้ว่าต้องออกไปมัดฟ่อนข้าวอยู่เกือบครึ่งเดือนกว่าจะหมดผืนนา และเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ตอนนั้นทุกคนมีความสุขกันมากที่ได้เก็บเกี่ยวข้าวที่เป็นผลผลิตจากความทุ่มเทและความเหน็ดเหนื่อย

ผมได้บอกกับผู้คนในงานว่า IYF นั้นทำหน้าที่เหมือนชาวนาที่คอยปลูก “ความหวัง” และส่งต่อ “ความสุข” เข้าไปในใจของผู้คนที่พบเจอพวกเรา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยาวชน ซึ่งเปรียบเสมือนผู้นำในอนาคต หลายต่อหลายครั้งที่เรามักได้ยินปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การติดเกมส์ ยาเสพติด หรือแม้แต่กระทั่งอินเตอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือน พายุและคลื่นลมแรง ที่พัดฟ่อนข้าวให้ล้มลง

เมื่อเยาวชนถูกสิ่งเหล่านี้ลากจูงไปจนล้มลง มีเพียงไม่กี่คนที่สามารถช่วยพยุงให้พวกเขาลุกขึ้นมาได้ ซึ่งสิ่งนี้เองเป็นทางที่ IYF เล็งเห็น และลำพังเพียงแค่ IYF ก็ไม่สามารถช่วยพยุงเยาวชนได้ ดังนั้นหากพวกเราทุกคนร่วมมือร่วมใจ ตระหนักถึงพายุและคลื่นลมที่เยาวชนต้องเผชิญและช่วยกันพยุงพวกเขาขึ้นมา ผมเชื่อมั่นว่า เยาวชนเหล่านี้จะเติบโตไปเป็นผู้นำที่ดีในอนาคตได้อย่างแน่นอนครับ


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน