รัฐบาลแห่งชาติ?

ใบตองแห้ง

ไม่รู้ใครเอาข่าวลือ “รัฐบาลแห่งชาติ” ไปถามมาร์ค ไม่ทราบที่มาที่ไปเหมือนกัน บีบีซีไทยเคยสรุปว่า 12 ปีวิกฤตการเมือง มีข้อเสนอ “สูตรอำนาจพิสดาร” อย่างน้อย 6 ครั้ง ไม่เคยได้รับการสนองตอบ แต่ก็ไม่มีวันตาย

คืออันที่จริง มันก็เป็นความฝัน ที่คนจำนวนมากอยากเห็น ตื่นขึ้นมาวันหนึ่ง ความขัดแย้งหายวับไป คนไทยเลิกแบ่งสีแบ่งฝ่าย ที่ผ่านมาเป็นแค่ฝันร้าย แต่ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจ ว่าเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ต้องเอาแพ้เอาชนะ ฆ่ากันให้ตายไปข้าง จับรมแก๊ส หรือถุงก๊อบแก๊บครอบหัว เพราะมันก็เป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะไอ้ที่ห้ำหั่นคิดต่างกันสุดขั้ว ในชีวิตจริงมันคือเพื่อน คือญาติ คือคนที่ผูกพันตัดไม่ขาดทั้งนั้น

แต่ครั้นมีใครบอกจบนะ เลิกเถอะ ก็มีคำถามว่าแล้ว 12 ปีที่ผ่านมาล่ะ จะสรุปกันอย่างไร ใครผิดใครถูก รัฐประหาร ประชาธิปไตย ใครได้รับความยุติธรรม ไม่ยุติธรรม ฯลฯ จะบอกให้เลิกแล้วต่อกัน กลับมาตั้งต้นใหม่ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลบประวัติศาสตร์ 12 ปี ให้เหลือแต่ความว่างเปล่า คงเป็นไปไม่ได้

ใช่ละ ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป คงวิบัติ โดยเฉพาะโครงสร้างอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2560 ปิดกั้นการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ ตามกติกาประชาธิปไตย นักวิชาการชี้ว่าสังคมไทยต้องแสวงหาฉันทามติ เช่น อ.เกษียร เตชะพีระ พูดถึงการแสวงหา “เจตจำนงร่วมใหม่” ของสังคมไทยภายหลังการเลือกตั้ง

แต่ฉันทามติก็เกิดได้ยาก ในสังคมที่คนไม่เอาประชา ธิปไตยอ้างตนเป็นคนดีมีการศึกษา แล้วสุดขั้วสุดโต่ง

บนความกังวล ไม่เห็นหนทางออกเช่นนี้เอง “รัฐบาลแห่งชาติ” จึงผุดขึ้นเป็นระยะ แต่ทุกคนก็รู้ว่าเป็นไปได้ลำบาก เพราะความขัดแย้งไม่ได้จำกัดเฉพาะคนระดับบน แต่ขยายสู่มวลชนกว้างใหญ่ไพศาล และมันไม่ใช่เรื่องเอาแพ้เอาชนะกันส่วนตัว แต่เป็นทัศนะต่อระบอบการปกครอง ความยุติธรรม ความดีความชั่ว ตรรกะ เหตุผล ฯลฯ ที่จะมีผลต่อการเดินหน้าหรือถอยหลังของประเทศไทย

พูดง่ายๆ อย่างที่ อ.สุรชาติ บำรุงสุข เปรียบเทียบไว้ มันคือการต่อสู้ระหว่างอนุรักษนิยม Vs เสรีนิยม ซึ่งไม่มีวันจบ ฉันทามติคือทำอย่างไรให้ต่อสู้ความคิดกันภายใต้กติกาประชาธิปไตย

ไม่ว่าเราอยากเห็นความสงบ การปรองดอง สักเพียงไร มันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการบอกว่า เลิกเถอะ ลืมเสียเถอะ ความขัดแย้ง 12 ปี ให้มันเป็นความว่างเปล่า

เพราะไม่ใช่เพียงความสูญเสีย ความเจ็บปวด ของผู้ถูกกระทำ (อยู่ข้างเดียว) ซึ่งไม่ได้บอกว่าต้องการเอาคืนให้หนำใจ แต่ต้องมีการสะสางถูกผิด แล้วจึงให้อภัย หันหน้าเข้าหากัน

สำคัญกว่านั้น คือความถูกผิดในเรื่องหลักการ ไม่ใช่ต้องการเอาชนะ แต่ต้องทำให้ประเทศนี้มีหลัก มีระบอบการปกครองด้วยเหตุผล เพราะ 12 ปีที่ผ่านมา ความพยายามเอาชนะโดยไม่เลือกวิธีการของพวกทำลายล้างประชาธิปไตย ได้ทำให้เกิด “ตรรกะวิบัติ” แถไถข้างคู กลับหลักเหตุผลไปตามอำนาจ โดยที่ร้ายยิ่งกว่าอำนาจปืน คืออำนาจตีความกฎหมาย ซึ่งทำให้กฎหมายวิบัติ กระบวนการยุติธรรมหมดความเชื่อถือ

ถ้าไม่สะสางตรรกะวิบัติ สังคมไทยก็เดินไปข้างหน้า ไม่ได้ อบรมบ่มสอนลูกหลานไม่ได้

ผู้รักประชาธิปไตยไม่ใช่คนที่ต้องการแตกหัก ปฏิเสธการประนีประนอม จริงๆ แล้วประชาธิปไตยคือการอยู่ร่วมกันของความเห็นต่างบนหลักการกติกา แต่ที่ประนีประนอม ไม่ได้ ก็เพราะอีกฝ่ายไม่ยอมประนีประนอม ไม่เคารพกติกา ไม่เอาเหตุผล

มีวิถีทางใด ที่จะทำให้สังคมสงบ เศรษฐกิจดี ประชาชนได้ทำมาหากิน ผู้รักประชาธิปไตยก็ยินดีทั้งนั้น เพียงต้องอยู่บนหลักการ ที่จะนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และคืนความมีเหตุผลให้สังคม

(หน้า 6)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน