‘ธนาธร’สุดตัว ลุยปิดสวิตช์คสช.

 

‘ธนาธร’สุดตัว ลุยปิดสวิตช์คสช. – การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ผ่านไปเกือบ 2 เดือน

ล่าสุดมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกในวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งอยู่ในกำหนด 15 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลเลือกตั้งส.ส.

โดยจะมีการจัดรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 24 พฤษภาคม โดยใช้สถานที่กระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากพระที่นั่งอนันตสมาคมปิดปรับปรุง

จากนั้นวันรุ่งขึ้น 25 พฤษภาคม จะมีการประชุมเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนฯ ประธานและรองประธานวุฒิสภาทันที เมื่อได้ประธานและรองประธานทั้ง 4 แล้ว ก็จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งลงมา ประธานสภาผู้แทนฯ ในฐานะประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมส.ส.-ส.ว.เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

คาดว่าในขั้นตอนนี้ทุกอย่างจะเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคม จากนั้นเมื่อย่างเข้าสู่เดือนมิถุนายน จะเป็นเรื่องของการเจรจาพรรคการเมืองว่าจะมีพรรคใดบ้างเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค แกนนำ

หากดูตามหน้าตัก ถึงวันนี้ต้องยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.และ แคนดิเดตพรรคพลังประชารัฐ มีเปอร์เซ็นต์สูงมากว่าจะได้สืบทอดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนอย่างแรก

คือการที่พรรคการเมืองขนาดเล็ก 11 พรรค ได้รับอานิสงส์จากสูตรคำนวณของ กกต. ได้รับแจกเก้าอี้ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ พรรคละ 1 ที่นั่ง

เพราะถัดจากนั้นไม่กี่วัน แกนนำทั้ง 11 พรรค ก็แถลงประกาศจุดยืนพร้อมเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ

เมื่อรวมส.ส.พรรคเล็ก 11 ที่นั่ง เข้ากับส.ส.พลังประชารัฐ 115 ที่นั่ง และพรรคพันธมิตรอื่นๆ อย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย พลังท้องถิ่นไทย รักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพลังชาติไทย เท่ากับตอนนี้ขั้วพลังประชารัฐมีส.ส.ตุนไว้แล้วเกิน 126 เสียง เมื่อรวมส.ว.ที่ คสช.จิ้มเลือกเข้ามา 250 เสียง ก็เกินครึ่งรัฐสภา

ล็อกเป้าเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ไว้ที่พล.อ. ประยุทธ์ได้สำเร็จ

ถึงแคมเปญปิดสวิตช์ส.ว. ที่นำเสนอโดยนาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่จะล้มคว่ำไป เพราะผลพวงสูตรพิสดารของ กกต. ทำให้พรรคฝ่ายสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ รวบรวมเสียงส.ส.บวกกับส.ว. ทะลุ 376 เสียงเกินครึ่งรัฐสภา

แต่หากมองข้ามช็อตไปถึงสูตรตั้งรัฐบาล ก็เป็นอะไรที่ยังไม่แน่ไม่นอน โอกาสพลิกผันแม้จะยากแต่ก็ยังพอมี

ช่วงสัปดาห์หน้าก่อนเปิดประชุมรัฐสภานัดแรก 24 พ.ค. จะเป็นช่วงเวลาแห่งการชี้ขาด

ต้องจับตาไปยัง 2 พรรคตัวแปรสำคัญ คือ ประชาธิปัตย์ กับภูมิใจไทย ที่จะประชุมพรรคตัดสินใจว่าจะจับขั้ว ตั้งรัฐบาลร่วมกับฝ่ายใด ฝ่ายสืบทอดอำนาจหรือฝ่ายประชาธิปไตย

ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดตลอด 2 สัปดาห์ ว่าแกนนำพลังประชารัฐชิงจังหวะต่อสายเจรจากับ 2 พรรคตัวแปรไว้ก่อนแล้ว โดยทั้ง 2 พรรคตอบตกลงใน หลักการ ส่วนเรื่องการแบ่งเค้กโควตารัฐมนตรียังต่อรองกันไม่ลงตัว

อย่างไรก็ตามกระแสข่าวดังกล่าวได้รับการปฏิเสธจากหัวหน้าพรรคทั้ง 2 พรรค

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวหลังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า พรรคยังไม่ตัดสินใจใดๆ ในเรื่องการจับขั้วทางการเมือง จนกว่าจะประชุมกรรมการบริหารพรรคและส.ส.พรรค ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นไม่เกินวันที่ 22 พ.ค.

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล มีกำหนดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคที่ จ.บุรีรัมย์ วันที่ 19-20 พ.ค. โดยจะขอฉันทานุมัติจากส.ส.ที่ไปรับฟังเสียงประชาชนที่เลือกเข้ามา เพื่อให้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคตัดสินใจต่อไป

คาดว่าวันที่ 20 พ.ค.นี้ ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยจะชัดเจนในเรื่องการร่วมจัดตั้งรัฐบาล

“ยอมรับว่ากดดันมากเพราะตอนนี้มีการแบ่งฝ่ายกันเป็นประชาธิปไตยกับเผด็จการ คนกลางๆ อย่างพรรคภูมิใจไทยจึงรู้สึกกดดัน” นายอนุทินระบุ

มีการวิเคราะห์อาการลังเลของ 2 พรรคตัวแปร ที่ยังไม่ตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะการไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ อาจมาจากความกังวลใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ

อย่างแรก ต่อให้พรรคประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยไปร่วมกับพลังประชารัฐก็ยังจะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำอยู่ดี คือมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน 3-5 เสียง ทำให้ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น

อย่างที่สอง อาจเกิดกระแสต่อต้านจากสังคมและพรรคฝ่ายประชาธิปไตย นำโดยพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ที่จะเกิดขึ้นทั้งในสภาและนอกสภา จากประเด็นการ ตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจ

และการแต่งตั้งส.ว.ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าใช้ระบบเครือญาติ พรรคพวกเพื่อนฝูง บิ๊กทหาร-ตำรวจ คนใกล้ชิด เข้ามาจนล้นสภา ซึ่งจะลดความ น่าเชื่อถือของรัฐบาลและพรรคร่วม

พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ที่คร่ำหวอดอยู่กับการเมืองมานาน ย่อมอ่านสถานการณ์ทะลุปรุโปร่ง หากพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงปริ่มน้ำ บวกกับกระแสสังคมไม่ยอมรับ ทำให้การบริหารประเทศติดขัด ต้องวุ่นอยู่กับปัญหาการเมืองแบบรายวัน ในที่ สุดเมื่อไปต่อไม่ได้ก็ต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่ในที่สุด

เมื่อถึงเวลานั้นพรรคที่ไปร่วมกับพลังประชารัฐ สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จะถูกประชาชนตัดสินโดยวัดจากการ กระทำที่แสดงออกถึงจุดยืนและอุดมการณ์ในวันนี้ ว่าจะยังให้ความไว้วางใจ ให้ความเชื่อมั่นพรรคต่อไปหรือไม่

เหล่านี้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ 2 พรรคตัวแปรต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญอย่างหนักว่าจะตัดสินใจเลือกเดินทางใด

อย่างไรก็ตามระหว่าง 2 พรรคตัวแปรยังกล้าๆ กลัวๆ กับการตัดสินใจของตัวเอง

เป็นพรรคอนาคตใหม่ที่ประกาศตัวเป็นขั้วที่ 3 ในการเป็นแกนนำรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล สกัดกั้นการสืบทอดอำนาจของ คสช. โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศตัวพร้อมเป็น นายกฯ เอง

เป็นการประกาศในวันเดียวกันหลังจาก กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยปมถือหุ้นสื่อว่าจะเป็นเหตุให้นายธนาธรต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพในการเป็นส.ส.หรือไม่

“เพื่อขจัดความคลุมเครือ สิ้นหวัง เราจะจัดตั้งรัฐบาลเอง และถ้าหากพรรคอนาคตใหม่สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ ผม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี ผมขอประกาศ ตัวเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งการหยุดยั้งการสืบทอด อำนาจของคสช.” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ระบุ

ในช่วง 4-5 วันจากนี้ไปนายธนาธรจะเดินหน้าเจรจากับหัวหน้าพรรคอื่นๆ ทั้งนายจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รวมทั้งน.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เพื่อเชิญชวนให้มาร่วม “ปิดสวิตช์ คสช.”

พร้อมยืนยันการยกระดับความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับไฟเขียวจากพรรคอันดับ 1 คือพรรคเพื่อไทยเรียบร้อย

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งและแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมส.ส.พรรคว่า

ตนเองพร้อมเสียสละไม่รับตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองขณะนี้จำเป็นที่พรรคการเมืองต้องรวมเสียงข้างมากในสภาให้ได้มากที่สุดไว้ก่อนและต้องรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ ด้วยการหยุด คสช. ไม่ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ

ดังนั้น การเมืองสัปดาห์หน้านอกจากต้องจับตาท่าทีของ 2 พรรคตัวแปร

ยังต้องติดตามด้วยว่า นายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ จะปิดสวิตช์ คสช.ได้สำเร็จหรือไม่

หรือจะเป็นการจุดพลุสร้างความฮือฮา แค่ชั่วครู่ชั่วยาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน