กรณีรัฐบาลสนองตอบความเห็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วยการใช้ ‘อภินิหารทางกฎหมาย’

สั่งการกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เดินหน้าเช็กบิลภาษีย้อนหลัง 1.6 หมื่นล้าน จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในการขายหุ้นชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้าน ให้กลุ่มทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์เมื่อปี 2549

ส่งผลอุณหภูมิการเมืองช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นทันตา

รับช่วงต่อจากประเด็นปัญหาวัดพระธรรมกาย ที่ค่อยๆ ซบเซาลงไป หลังเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทหารและตำรวจ ต้องถอยทัพกลับที่ตั้ง พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเกี่ยวกับ

ความเสื่อมถอยของ‘ม.44

สำหรับยุทธการ‘ปลุกผี’ภาษีหุ้นชินคอร์ปขึ้นมาใหม่ ทั้งที่ผ่านเลยมานานกว่า 10 ปี ในห้วงเวลาคดีหลบเลี่ยงภาษี กำลังจะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2560

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. รวมทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ยืนยันว่าจะเก็บดาบม.44 เอาไว้ในฝัก ไม่ชักออกมาใช้ในเรื่องนี้ เพื่อป้องกันเสียงครหาใช้อำนาจพิเศษพร่ำเพรื่อ

ไล่ฟาดฟันฝ่ายตรงข้ามไม่จบไม่สิ้น

ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น ภายหลังการประชุมครม.วันอังคารที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สรุปว่า กรมสรรพากรต้องไปดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ และต้องทำให้ทันเวลาก่อนหมดอายุความสิ้นเดือนนี้

กรมสรรพากรจะดำเนินการด้วยวิธีใด อย่างไร

รายละเอียดคือ กรมสรรพากรต้องประเมินภาษีและเรียกเก็บตามมาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร ตามความเห็นของสตง. แล้วให้เริ่มนับอายุความใหม่ไปอีก 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ถ้าไม่สำเร็จ คือเรียกเก็บไม่ได้ ก็ต้องนำเรื่องยื่นฟ้องร้องต่อศาลต่อไป

ตรงนี้เองที่นายวิษณุ เรียกว่าเป็นอภินิหารทางกฎหมาย หรือ ‘มิราเคิล ออฟ ลอว์’

 

ในด้านรายละเอียดทางเทคนิค กรมสรรพากรจะประเมินภาษีจากเงินได้ส่วนใด จากธุรกรรมการซื้อขายขั้นตอนใด ขั้นตอนในตลาดหรือนอกตลาดหลักทรัพย์

มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร และกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะใช้เป็นช่องทาง เช็กบิล ‘ทักษิณ’ ย้อนหลังได้หรือไม่

หลายคนเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว เรื่องทั้งหมดต้องถูกส่งต่อให้ศาลภาษีอากรกลางเป็นผู้พิจารณาตัดสิน ผลออกมาอย่างไรยังสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้อีก

จึงเป็นไปได้ที่หนัง ‘ภาษีหุ้นชิน ภาค 2’ น่าจะฉายอีกยาวหลายปี กว่าจะถึงตอนจบ

แต่ในทางการเมืองระยะสั้น มีการตั้งคำถามว่าการใช้อภินิหารทางกฎหมายครั้งนี้ จะส่งผลต่อการสร้างความปรองดองที่รัฐบาลและคสช.กำลังทำอยู่หรือไม่ ประการใด

ทั้งนี้ มีการแสดงความเห็น กรณีรัฐบาลสั่งเรียกเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปจากนายทักษิณ ทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งยึดทรัพย์ส่วนนี้ไปแล้วกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2553

มีลักษณะคล้ายคลึงคดีโครงการจำนำข้าว

ที่มีการรวบรัดออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นจำนวนเงินมหาศาล 3.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งที่คดีหลักอยู่ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

“เราคงไม่อยากได้ยินคำว่าอภินิหารทางกฎหมายเกิดขึ้น เราอยากเห็นการใช้กฎหมายด้วยความสุจริต และความเป็นธรรม”น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ และว่า

ในกรณีหุ้นชินคอร์ป หวังว่าคงไม่ได้เป็นการใช้อำนาจหรือกฎหมายที่ตัวเองมีอยู่มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง หรือเพื่อหาอภินิหารทางกฎหมายไล่ล่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่ควรใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงความยุติธรรมและบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

ส่วนเรื่องนี้จะกระทบต่อความปรองดองหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่า ต้องไปถามผู้ถือกติกาและผู้วางกติกาเรื่องความปรองดอง ว่าความหมายของคำว่าปรองดองวันนี้หมายถึงอะไร

โยนคำถามกลับไปยังผู้มีอำนาจ แบบนุ่มนวลตามสไตล์

 

ขณะที่โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ นายทักษิณ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

อธิบายแจกแจงว่า กรณีภาษีหุ้นชินคอร์ปนั้น เป็นเรื่องที่จบไปแล้วเมื่อ 8 ปีก่อน หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาชี้ว่า

หุ้นชินคอร์ปที่ขายในตลาดหลักทรัพย์ให้กับกลุ่มทุนเทมาเส็ก เป็นของนายทักษิณ อดีตนายกฯ แต่ เพียงผู้เดียว และสั่งยึดทรัพย์ไปแล้วในส่วนนี้ 4.6 หมื่นล้านบาท

แสดงให้เห็นว่าในแนวทางการวินิจฉัยศาลฎีกาฯ สรุปว่า ไม่ได้มีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดระหว่างนายทักษิณ กับ นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว อันเป็นมูลเหตุให้ต้องเสียภาษี

“วันนี้ยังต้องการเอาอะไรจากครอบครัวอีก ตกลงความหมายของคำว่าปรองดองในมุมมองของรัฐบาลนี้ คือการทำลายล้างฝ่ายที่ถูกตัวเองยึดอำนาจมาให้สิ้นซาก กระทืบให้จมดิน เพื่อจะได้เหลือแต่พวกเดียวกัน จะได้ไม่มีความขัดแย้ง หรือการปรองดองหมายถึง การให้เป็นความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข” นายพานทองแท้ ตั้งคำถามตรงๆ กับรัฐบาล

ขณะที่รัฐบาลเปิดฉากใช้อภินิหารทางกฎหมาย ไล่ต้อนฝ่ายตรงข้ามไม่รู้จักจบสิ้น

ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกต กรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

เตรียมเสนอรายงานแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองต่อสปท.ด้านการเมืองเพื่อให้ความเห็นชอบ

ก่อนเสนอที่ประชุมสปท.ชุดใหญ่ ส่งต่อให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือป.ย.ป.

ใจความสำคัญของรายงานฉบับนี้ คือเสนอให้ใช้เรื่องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง และกระบวนการให้โอกาสทางคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิด อาทิ การรอลงอาญา การถอนฟ้อง การจำหน่ายคดี

ในคดีความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท ยกตัวอย่าง กรณีการ ‘ปิดสนามบิน’ การ ‘ยึดทำเนียบรัฐบาล’ เป็นต้น

ชัดเจนว่าพุ่งเป้าเอื้อประโยชน์ให้ม็อบสีไหน

ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่นายเสรีแบไต๋ออกมา เป็นความเห็นส่วนตัว หรือมีอำนาจอื่นแอบแฝงชักใยอยู่เบื้องหลัง

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็สอดรับกับการอ่านเกมของนายพานทองแท้ ที่ว่าความหมายปรองดองในมุมมองของรัฐบาลนี้ คือการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซาก ให้เหลือแต่พวกเดียวกัน จะได้ไม่มีความขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยพูดไว้เองหลายครั้งว่า ทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร แต่เข้ามาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง สร้างความสามัคคีปรองดองให้กับคนในชาติ

แต่จากสถานการณ์หลายอย่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

น่าสงสัยว่าที่พูดกันนั้นมันจะเป็นไปได้หรือ!?

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน