หมายเหตุ : โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เผยแพร่รายงานเรื่อง 3 ปี คสช.วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เนื่องในวันครบรอบ 3 ปีการเข้า ปกครองประเทศของคสช.

เป็นระยะเวลา 3 ปีเต็มแล้ว ตั้งแต่คสช.รัฐประหารและเข้าปกครองประเทศ ภายใต้วาทกรรมสวยหรูว่าจะมา“ปฏิรูป” ประเทศ แก้ปัญหาเรื้อรังต่างๆ ตลอดช่วงเวลานี้ คสช.ใช้อำนาจออกประกาศ/คำสั่งเองโดยตรงอย่างน้อย 584 ฉบับ และแต่งตั้ง สนช.ขึ้นมาออกกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 239 ฉบับ

3 ปีที่ประชาชนอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร คสช.ใช้กลไกต่างๆ สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองที่ ให้ข้าราชการเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้นำใช้อำนาจสั่งการแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วม ไม่กระจายอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ

คสช.เปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปไกลจากจุดเดิมที่เคยยืนอยู่ก่อนการรัฐประหารอย่างไม่อาจจะย้อนกลับคืนได้ เมื่อวิเคราะห์รายประเด็นจะเห็นว่าทิศทางที่กลไกต่างๆ กำลังเดินหน้าล้วนมีจุดร่วมกันคือการสร้างฐานอำนาจของ คสช.ให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มากขึ้นเรื่อยๆ

1.เปลี่ยนผ่านจากตัวแทนประชาชนไปสู่ “รัฐราชการ” มากขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า 3 ปีในยุค คสช. เป็นยุคที่ข้าราชการเติบโตขึ้นมาก เพราะพ.ร.บ. และคำสั่งหัวหน้า คสช.หลายฉบับ จัดตั้งหน่วยงานหรือคณะกรรมการขึ้นใหม่อย่างน้อย 78 ชุด ในคณะทำงานแต่ละชุดยังมีสัดส่วนข้าราชการนั่งอยู่ถึง 57 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ย กฎหมายและคำสั่งต่างๆ ที่ออกมาในยุคนี้โน้มเอียงไปในทางลดทอนอำนาจของตัวแทนประชาชนและเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่มือของ “ข้าราชการ” มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จากเดิมที่กำหนดให้กรรมการ กสทช. บางส่วนมาจากระบบคัดเลือกกันเองของภาคประชาสังคม ถูกเปลี่ยนโดยยกเลิกระบบการคัดเลือกกันเอง เป็นการสรรหาโดยให้ข้าราชการเป็นกรรมการสรรหาทั้งหมด และให้ส.ว.เป็นผู้ตัดสินใจเลือกสุดท้าย

กฎหมายอีกฉบับที่สะท้อนภาพของการกุมอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรให้อยู่ในมือข้าราชการ ก็คือ “พ.ร.บ.แร่” ไม่ได้ลดสัดส่วนของข้าราชการ ในทางกลับกันยังเพิ่มขึ้นอีกจนข้าราชการเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดของกฎหมายฉบับนี้

กฎหมายบางฉบับที่เคยถูกเสนอโดยภาคประชาชน เมื่อผ่าน สนช.ยุคนี้ก็ถูกลดทอนสัดส่วนภาคประชาชนลง อาทิ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ร่างฉบับภาคประชาชนกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิตัวแทนจากภาคประชาชนนั่งเป็นคณะกรรมการ 8 คน แต่ร่างที่ผ่าน สนช.เหลือสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน จากกรรมการทั้งหมด 16 คน แต่คงจำนวนข้าราชการไว้ตามเดิม

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังตั้งคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มสัดส่วน๛ตัวแทนข้าราชการ’ ให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ และให้องค์กรอิสระมีอำนาจควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ง่ายดายและเบ็ดเสร็จ

ทั้งยังผ่าน พ.ร.บ.แก้ไขปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม อีกอย่างน้อย 6 ครั้ง ตั้งกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจัดสรรอำนาจการบริหารส่วนราชการใหม่อีกหลายแห่ง

2. ออกกฎหมาย/คำสั่ง แบบเบ็ดเสร็จ ทำลายหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน

วิธีบริหารประเทศของรัฐบาลคสช.เดินหน้าทิศทางตรงข้ามกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ออกกฎเกณฑ์ต่างๆอย่างน้อย 152 ฉบับด้วยความถี่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระบบบริหารและการตัดสินใจขึ้นกับหัวหน้า คสช. ผู้เดียว

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งก่อนและระหว่างกระบวนการร่าง กรธ.ทั้ง 21 คนก็มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เช่นเดียวกับคำถามเพิ่มเติมหรือ“คำถามพ่วง” ที่มาจากการเสนอโดย สปท. และเลือกโดย สนช.

รัฐธรรมนูญ 2560 จำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ตัวอย่างสำคัญคือการตัดสิทธิการเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งประชาชนเคยมีในรัฐธรรมนูญ 2550

การออกกฎหมายโดย สนช.ซึ่งสมาชิกกว่าครึ่งเป็นทหารที่ คสช.แต่งตั้งมาก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยออกกฎหมาย แล้วอย่างน้อย 239 ฉบับ ส่วนใหญ่ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และประชาชนไม่มีตัวแทนนั่งอยู่ในสภา

การปฏิรูปประเทศโดย สปท.ที่ คสช.เป็นผู้แต่งตั้งประชุมกันมากว่าหนึ่งปีแล้วแต่ประชาชนแทบไม่ได้รับรู้ความคืบหน้าใดๆ ขณะที่การร่างยุทธศาสตร์ชาติก็เตรียมจะดำเนินการโดยคณะกรรมการที่มีแต่ทหารและข้าราชการ ไม่มีตัวแทนภาคประชาชน

ตลอดช่วง 3 ปี คสช.อาศัยเหตุจากความวุ่นวาย และความเบื่อหน่ายทางการเมืองออกมาตรการต่างๆ ลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ค่อยๆ หดหายไป และใช้อำนาจบริหารประเทศไปตามความเห็นของตัวเองโดยที่ประชาชนจำนวนมากอาจไม่ทันรู้ตัว

วัฒนธรรมทางการเมืองเช่นนี้นับได้ว่าเป็นมรดกตกทอดสำคัญที่ คสช.ได้ฝากไว้ให้กับสังคมไทยในอนาคตอีกชิ้นหนึ่ง

3. แช่แข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำลายความฝันกระจายอำนาจให้ประชาชน

เจตนารมณ์การจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ ต้องการกระจายอำนาจ ให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่นนั้นๆ แต่แนวทางของ คสช.คือ ทำให้สมาชิกสภาท้องถิ่นไม่มีส่วนใดที่ยึดโยงประชาชน

คสช.ออกประกาศฉบับที่ 85/2557 ระงับการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ตำแหน่งที่ว่างลงให้คัดเลือกโดยให้ผู้ว่าฯเป็นประธานสรรหา กรณีของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครให้ปลัดมหาดไทยและฝ่ายข้าราชการนั่งในคณะกรรมการสรรหา และกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสภาท้องถิ่นว่าต้องเคยรับราชการ หรือกำลังรับราชการระดับซี 8 ขึ้นไป

ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 1/2557 ยังคง “แช่แข็ง” ไม่ให้เลือกตั้ง แต่ให้ผู้บริหารหน้าเดิมทำงานต่อไปอย่างไม่มีวาระ ถ้ายังขาดอยู่กี่ตำแหน่งก็ให้แทนที่ด้วยการสรรหา

ต่อมา คสช.ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2559 แก้ไขวิธีการสรรหาสมาชิกอปท.อีกครั้ง ให้ปลัดมหาดไทยเป็นประธานสรรหาแทน “ธรรมาภิบาล” ของ คสช.เป็นเรื่องของอำนาจของข้าราชการระดับสูงขึ้น ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังลดทอนความยึดโยงของประชาชนกับอปท. โดยมาตรา 252 เปิดช่องให้ผู้นำ ของอปท.แบบพิเศษมาจากช่องทางอื่นที่ไม่ใช่การ เลือกตั้งก็ได้

ผลลัพธ์จากการใช้อำนาจ“แช่แข็ง” พาประเทศไทยย้อนกลับไปสู่ระบบเจ้าขุนมูลนาย ที่ผู้ปกครองของทุกหัวระแหงจะถูกคัดเลือกและส่งตรงมาจากผู้มีอำนาจในส่วนกลาง

4. แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

หลังจากรัฐบาล คสช.นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ได้มีข้อสังเกตพระราชทานให้ปรับแก้รัฐธรรมนูญในบางหมวด รัฐบาลจึงเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วได้ และแก้ไข มาตรา 5, 15, 16, 17, 19 และ 182 ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ประเด็นการแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีเพียงประเด็นในมาตรา 5 ที่เปลี่ยนกลับ ไปใช้หลักการในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 คือ “ในกรณีใดก็ตามที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนทางออกไว้ ก็ให้ทำไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ในวันที่ 29 ธ.ค. 2559 สนช.เห็นชอบให้แก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 3 วาระรวด โดยมีใจความสำคัญคือ ให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชโดยตรงและให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

20 เม.ย. 2560 สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยพิจารณาเป็นการลับทุกขั้นตอนและให้เอกสารการประชุมเป็นความลับด้วย

5. ใช้ทั้งกฎหมายและอำนาจคุมเข้มสื่อเก่า-สื่อออนไลน์ บีบจนต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง

วันที่เข้ายึดอำนาจในปี 2557 คสช.ส่งกำลังทหารไปที่สถานีโทรทัศน์และวิทยุต่างๆ พร้อมออกประกาศ คำสั่งหลายฉบับควบคุมการเสนอข่าวของสื่อ เช่น ประกาศฉบับที่ 4/2557 ให้สื่อทั้งโทรทัศน์และวิทยุงดรายการปกติ เชื่อมสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบก และประกาศฉบับที่ 15/2557 สั่งปิดสถานีดาวเทียมและสถานีวิทยุชุมชนทุกแห่ง

แม้ต่อมาจะผ่อนมาตรการคุมสื่อลงแต่สื่อโทรทัศน์และวิทยุต้องไม่เผยแพร่เนื้อหาที่“ก่อให้เกิดความ ขัดแย้ง” และต้องอยู่ภายใต้ประกาศที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่ควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของสื่อ โดยใช้ กสทช.เป็นเครื่องมือ ซึ่งมีกรรมการเป็นอดีตนายทหารรวม 5 คน ใช้อำนาจลงโทษสื่อ

แม้ทุกวันนี้สื่อกระแสหลักจะยังออกอากาศ รายการได้ตามปกติแต่ก็ต้องพยายาม“เซ็นเซอร์ ตัวเอง” ระมัดระวังการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เพื่อความอยู่รอด

ส่วนสื่อออนไลน์นอกจากใช้วิธีการไล่จับผู้ที่แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์แล้ว คสช.ปรับกระบวนเพื่อรับมือกับความท้าทายของสื่อใหม่หลายวิธี เช่น เรียกผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเข้ามาพูดคุย และ ขอให้ติดตามตรวจสอบข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย,

การผ่านพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ เมื่อ ธ.ค. 2559 พร้อมมาตรา 14 (1) (2) ที่ขยายฐาน ความผิดจากการโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ให้กว้างขวางขึ้น, การออกประกาศกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ห้ามติดต่อกับบุคคล 3 คน บนเฟซบุ๊ก ฯลฯ

การพยายามเสนอร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนสื่อ เป็นความพยายามครั้งสำคัญในยุค คสช.ที่จะควบคุมสื่อ

6. สถาปนาอำนาจทหารในกระบวนการยุติธรรม

ปรากฏการณ์สำคัญในกระบวนการยุติธรรมช่วง 3 ปีของ คสช. คือการดึงทหารเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคดี หลายครั้งทหารเป็นผู้กล่าวโทษเอง เช่น คดีมาตรา 112 ของบุรินทร์ หรือคดีของการแจกใบปลิวโหวตโนของสามารถ

ในชั้นสอบสวน ทหารมีอำนาจตาม คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และ 13/2559 จับกุมและควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลา 7 วันและร่วมกับตำรวจสอบสวนบุคคล

เช่น กรณี 8 แอดมินเพจ“เรารักพลเอกประยุทธ์” กรณีทนายประเวศ ทั้งสองกรณีถูกสอบสวนในค่ายทหารโดยไม่มีทนายร่วมฟังการสอบสวนและไม่ได้รับอนุญาตให้พบญาติ หรือกรณีของสรรเสริญ หนึ่งในผู้ต้องหาคดีปาระเบิดศาลอาญา พบรอยแผลตามร่างกายหลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร

3 ปีของ คสช.ไอลอว์บันทึกข้อมูลของผู้ที่ถูกจับเข้าค่ายทหารก่อนถูกตั้งข้อกล่าวหา เช่น มาตรา 112 และมาตรา 116 ได้อย่างน้อย 94 คน ในชั้นศาล คสช.ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 และ 50/2557 กำหนดให้คดีทางการเมืองและคดีความผิดเกี่ยวกับอาวุธที่ประชาชนเป็นจำเลยอยู่ในอำนาจของศาลทหาร คดีที่ขึ้นศาลทหารมีอัยการผู้ฟ้องคดีเป็นทหาร มีพยานคือผู้กล่าวโทษและผู้จับกุมเป็นทหาร ตุลาการผู้ตัดสินคดีก็เป็นทหาร

มีประชาชนที่ต้องขึ้นศาลทหารในคดีการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 300 คน แม้ว่าหัวหน้า คสช.จะออกคำสั่งที่ 55/2559 ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารแล้วแต่ไม่มีผลย้อนหลัง

ทหารยังเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนงานราชฑัณฑ์ เมื่อมีการจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงนครชัยศรี ตั้งอยู่ในมณฑลทหารบก ที่ 11 (มทบ.11) มีทหารได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้คุมพิเศษ 80 นาย

การให้ทหารเข้ามามีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรม ทั้งในขั้นตอนจับกุม สอบสวน ชั้นศาลและเรือนจำ ขัดต่อหลักนิติรัฐและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งที่หาข้อยุติ ไม่ได้ในระยะยาว

7. กินรวบองค์กรอิสระ ให้ตรวจสอบเฉพาะฝ่ายตรงข้าม

ช่วง 3 ปีของ คสช.ภาพสะท้อนปัญหาความเป็นอิสระขององค์กรอิสระยิ่งชัดเจนมากขึ้น คสช.มีอำนาจในกระบวนการ คัดเลือกองค์กรอิสระหลายองค์กรตั้งแต่ต้นจนจบ และใช้โอกาสในยุคนี้วางเครือข่ายอำนาจของตนเองไว้ในองค์กรอิสระต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระหลายคนทำงานใกล้ชิดกับ คสช.

ด้วยเหตุนี้องค์กรอิสระ ซึ่งควรมีหน้าที่ในการตรวจสอบการงานรัฐบาลอย่าง แข็งขันกลับกลายเป็นหน่วยงานที่เชื่องและไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ คสช. ดังจะเห็นกรณีทุจริตของกองทัพหลายครั้ง ที่ผลการพิจารณามักสร้างความเคลือบแคลงใจ ต่อสังคม เช่น ป.ป.ช. และผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ยืนยันว่าโครงการอุทยานราชภักดิ์ของกองทัพบกดำเนินการไปด้วยความโปร่งใส เป็นต้น

ขณะที่หากเป็นการตรวจสอบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของ คสช. องค์กรอิสระเหล่านี้ก็จะทำงานอย่างแข็งขันจนกระทั่งสนับสนุนการใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” เช่น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินออกมา สนับสนุนให้รัฐบาลเก็บภาษี ทักษิณ ชินวัตร จากการหลีกเลี่ยงภาษี

แม้จะยังไม่แน่นอนบุคคลที่ถูกแต่งตั้งในยุคคสช.จะยังดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง แต่ก็แน่นอนว่าหากมีการสรรหาใหม่ อำนาจในการแต่งตั้งจะอยู่ในมือ ส.ว. ที่จะมาจากการแต่งตั้งของ คสช. และดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 7 ปี ซึ่งมากพอที่ปกป้องการปกครองของ คสช.ต่อไป และมากพอเป็นเครื่องมือตรวจสอบและ“ล้ม”รัฐบาลจากการเลือกตั้ง

8. สร้างรากฐานการใช้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้

คสช.ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 48 ยกเว้นความรับผิดให้การกระทำของตัวเอง เดินตามรอยคณะรัฐประหารรุ่นพี่แต่ยุคนี้มาตรา 48 แสดงอิทธิฤทธิ์เป็นรูปธรรม เมื่อมีผู้ไปฟ้องร้องว่าคสช.ยึดอำนาจผิดฐานกบฏ ศาลอาญา ไม่รับคำฟ้องโดยให้เหตุผลว่า คสช.พ้น จากความรับผิดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 48

รัฐธรรมนูญ 2557 ยังบัญญัติมาตรา 44 ให้อำนาจ คสช.ออกคำสั่งใดๆก็ได้ ซึ่งคสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งอย่างน้อย 4 ฉบับ ที่มีเนื้อหาจำกัดเสรีภาพของประชาชน

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 ที่ให้อำนาจ กสทช.กำกับเนื้อหาในสื่อโดย ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญาและทางวินัย, คำสั่งที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยความผิดต่อความมั่นคง 7 วัน, คำสั่งที่ 13/2559 การปราบปรามผู้มีอิทธิพล คำสั่งที่ 5/2560 กำหนดพื้นที่ควบคุมที่นำมาใช้กับวัด พระธรรมกาย

อำนาจการปกครองแนวดิ่งแบบที่ คสช.ใช้ตลอด 3 ปี วางป้อมปราการจำนวนมากให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเต็มที่โดยได้รับการคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องร้อง หรือตรวจสอบได้

รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างในยุค คสช.ยังวางกลไกไว้อีกหลายชั้นเพื่อรักษาฐานอำนาจ ที่สร้างไว้ไม่ให้ถูกเอาคืน เช่น ให้ คสช. แต่งตั้งส.ว.ชุดแรก 250 คน, การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ หรือให้รัฐบาลใหม่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรม ฯลฯ

ดังนั้น ไม่ว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อใดและ ใครชนะ คณะทหารชุดนี้จะยังคงมีอำนาจและ “มีงานทำ” ผ่านกลไกหลากหลาย และผลงานต่างๆ ที่ คสช.ได้ทำไว้ก็จะยังอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปอีกนานเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน