สิบปี 53 ถึงคนรุ่นใหม่

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

สิบปี 53 ถึงคนรุ่นใหม่ – สิบปีพฤษภา 53 “มือที่มองไม่เห็น” ฉายเลเซอร์ #ตามหาความจริง กระตุกความสนใจ ทั้งในกระแสสื่อและโลกออนไลน์ โดยเฉพาะทวีตภพ ซึ่งทวีตไป 1.18 ล้านครั้ง

คณะก้าวหน้ายืดอกรับ เป็นผู้ฉายเลเซอร์เอง ไม่ต้องไปตามหาที่ไหน ทำเอาทหารตำรวจเต้น พลิกข้อกฎหมายกันใหญ่ ต้องเอาผิดให้ได้

ประการแรก จะเอาผิดข้อไหน ไม่มีใครเสียหาย “ช่อ พรรณิการ์” ย้อนว่า แค่ฉายเลเซอร์ไม่ได้ทำอันตรายต่อพื้นผิว ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ไม่มีเสียงรบกวน ไม่ทำให้รถติด และไม่ได้ฝ่าเคอร์ฟิว

เว้นแต่จะเสียดแทงใจผู้มีอำนาจ ที่เคยร่วมกันปราบม็อบเสื้อแดงปี 53 จนมีคนตาย 94 ศพ โดนยิงหัวอย่างจงใจ 32 คน สิบปีผ่านไปยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบ มีแต่มวลชนเสื้อแดงติดคุก ตายในคุกก็มี

ประการที่สอง ต่อให้เอาผิดได้ สร้างความแตกแยก? บ่อนทำลายความมั่นคง? ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน? (ฉายเลเซอร์แพร่โควิด?) ก็ยิ่งย้อนแย้ง “ยิงเลเซอร์ผิด ยิงหัวไม่ผิด” เข้าตัวเองอีก

เล่นกับคณะก้าวหน้า ซึ่งถูกประหารชีวิตทางการเมืองไปแล้ว ซ้ำยังจะเอาผิดอาญาอีกเป็นกระบุง ข้อหาแค่นี้กลัวอะไร ไม่ว่าจะทำอะไรกับ #ตามหาความจริง ฝ่ายรัฐมีแต่เข้าตัว

#ตามหาความจริง โดยคณะก้าวหน้า ยังมีความหมาย เป็นการโยงคนรุ่นใหม่เข้ากับประวัติศาสตร์แห่งความคับแค้นของมวลชนเสื้อแดงปี 53 เพราะอำนาจที่กดทับคนรุ่นใหม่ กระทั่งเกิดแฟลชม็อบต้านทุกมหาวิทยาลัย ก็มาจากความหวาดกลัวพลังมวลชน หวาดกลัวประชาธิปไตย จนต้องยึดอำนาจ ปกครองด้วยเผด็จการยาวนาน แล้วสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ไม่ยอมให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน

ซึ่งยังย้อนแย้งน่าเศร้า กับเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่ “ม็อบมือถือ” อุตส่าห์ไล่ รสช.สืบทอดอำนาจ แต่ 28 ปีผ่านไป คนชั้นกลางในเมืองกลับเหยียบย่ำประวัติศาสตร์การต่อสู้ของตัวเอง เหยียบย่ำเจตนารมณ์วีรชน ยอมรับการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร กวาดต้อนนักการเมืองอย่างน่ารังเกียจยิ่งกว่าพรรคสามัคคีธรรม

อย่างน้อย สุจินดาก็ไม่ได้ตั้ง ส.ว.มาโหวตตัวเองเป็นนายกฯ

พฤษภา 35 ในเชิงอุดมการณ์มี 2 ด้านทับซ้อนกัน คืออุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ กับเกลียดชังนักการเมืองจากเลือกตั้ง กระทั่งไชโยโห่ร้องเมื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ แต่งตัวเก้อ

หลังจากนั้น ก็เกิดการเมือง 2 นครา คนชนบทเลือกรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับประชาชน ก็ยังแฝงแนวคิด “การเมืองคนดี” ตั้งองค์กรอิสระ ที่หวังว่าจะสถาปนาคนดีบริสุทธิ์ผุดผ่องไว้ปราบนักการเมืองชั่ว

เมื่อเกิดรัฐบาลไทยรักไทย ที่มีอำนาจมาก เพราะได้คะแนนนิยมล้นหลามจากคนชนบท ด้วยนโยบาย “ประชาธิปไตยกินได้” บริหารแบบ CEO ฉีกรัฐราชการ สร้างความขัดแย้งมีคนรักมากเกลียดมาก จนเกิดรัฐประหาร 2549 ยุบพรรค ตามด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 แต่พรรคพลังประชาชนยังชนะ กระทั่งม็อบพันธมิตรยึดทำเนียบยึดสนามบิน ยุบพรรค “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” เกิดม็อบเสื้อแดงล้นหลาม บุกกรุงปี 52-53 ทวงอำนาจให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่

นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ประเทศไทยยังข้ามไม่พ้นจนวันนี้ ทั้งในแง่ความแตกแยก เกลียดชัง ที่คนชั้นกลางอนุรักษนิยม เปลี่ยนทัศนะต่อคนเลือกทักษิณจาก “โง่ ถูกซื้อ ถูกหลอก” มาเป็นกองทัพไพร่ที่น่าสะพรึงกลัว เทเลือดแดงฉาน เดินเท้าไปตามถนน ยึดศูนย์กลางความเจริญ กระทั่งคล้อยตาม “ผังล้มเจ้า” “เผาบ้านเผาเมือง” ออกใบอนุญาตใช้ “กระสุนจริง” แล้วก็ช่วยกัน “บิ๊กคลีนนิ่ง”

ในทางการเมือง แม้ปราบม็อบได้ ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกวาดล้างจับกุม ลงทัณฑ์อย่างหนักหน่วง แต่พรรคเพื่อไทยก็ชนะเลือกตั้งล้นหลาม ภาคอีสาน ภาคเหนือ กระทั่งภาคกลางบางจังหวัด กลายเป็นพื้นที่สีแดง

รัฐประหาร 2557 ซึ่งมาจากม็อบปิดเมือง ขัดขวางเลือกตั้ง รวมพลังคนชั้นกลาง “มวลมหาประชาชน” จึงไม่สามารถคืนอำนาจ กลับสู่ประชาธิปไตยได้ ทั้งในด้านอำนาจมาจากเลือกตั้ง และสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงออก ชุมนุม

รัฐประหารจึงอยู่ยาว 5 ปี สืบทอดอำนาจ สถาปนารัฐราชการเป็นใหญ่ ยึดกุมอำนาจโดยฝ่ายความมั่นคง ขยายอำนาจกองทัพ กอ.รมน. ควบคุมประชาชนอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจอนุรักษนิยม ขณะเดียวกันก็สร้างเครือข่ายให้ประชาชนต้องพึ่งรัฐ สร้างประชานิยมโดยรัฐราชการ เพื่อไม่ให้ทวงอำนาจเลือกรัฐบาล

ความกลัวเสื้อแดง ความกลัวพลังมวลชนนี้เอง ที่ทำให้ประเทศถอยหลัง กระทั่งกดทับคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตในช่วงสิบปีหลัง ให้ถูกปิดกั้นเสรีภาพ ห้ามมีความคิดต่าง อยู่ใต้ระบบการศึกษากราบกราน อยู่ใต้การให้ร้ายป้ายสีอย่างบ้าคลั่ง ของพวกสลิ่มสุดโต่ง

ชะตากรรมของทักษิณ ชะตากรรมของอนาคตใหม่ ชะตากรรมของคนเสื้อแดง ชะตากรรมของคนรุ่นใหม่ อาจแตกต่างกัน แต่ถูกกระทำจนมีจุดร่วมเดียวกัน ต้อง #ตามหาความจริง ทวงถามประชาธิปไตยและความยุติธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน