สุรชาติ บำรุงสุข
6 ปีรัฐประหารทำประเทศขาดทุน

6 ปีรัฐประหารทำประเทศขาดทุน “รัฐประหารคือการขาดทุนครั้งใหญ่ของสังคมไทย และยิ่งรัฐบาลทหารอยู่นาน ก็ยิ่งขาดทุนมากด้วย”

22 พ.ค.ที่ผ่านมา ครบรอบ 6 ปี การรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557
แม้จะมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็สืบทอดอำนาจมาจาก คสช.
ประเทศไทยใต้การบริหารของคสช. ที่ยาวนานเช่นนี้ ได้สร้างอะไรให้กับบ้านเมือง และจะส่งผลต่ออนาคตอย่างไร
นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะ ไว้ดังนี้
6ปีรัฐประหารกับสิ่งที่ฝากไว้
รัฐบาลทหารทุกประเทศทั่วโลกประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน คือ การขาดความชอบธรรมทางการเมือง เพราะอำนาจได้มาด้วยการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน การขาดความชอบธรรมเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลทหารไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล ขณะเดียวกันก็ถูกต่อต้านในบ้าน
และแม้หลังจากการยึดอำนาจแล้ว รัฐบาลทหารจะใช้รูปแบบของระบบรัฐสภาเข้ามาช่วย แต่ก็เป็นเพียงรัฐสภาในระบบรัฐประหาร ที่ไม่ช่วยในการแก้ปัญหาความชอบธรรม
ดังนั้น ถ้าผู้นำทหารอยากเข้าสู่เวทีการเมืองในอนาคต ก็น่าที่จะกล้าถอดเครื่องแบบเข้ามาเป็นผู้เสนอตัวให้ประชาชนเลือก มากกว่าจะใช้อำนาจบังคับให้ประชาชนต้องยอมรับ
เพราะสุดท้ายแล้วอำนาจจากการรัฐประหารที่แม้จะมีกฎหมายพิเศษต่างๆ รองรับ แต่อำนาจนี้จะเป็นเหมือนผลด้านกลับในการทำลายสถานะของกองทัพเอง เพราะแรงต่อต้านที่เกิดทั้งในเวทีภายนอกและภายใน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการบั่นทอนสถานะและภาพลักษณ์ของกองทัพเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และสำหรับรัฐบาลทหารแล้ว คงต้องยอมรับความจริงประการสำคัญว่า นับจากการยึดอำนาจในเดือนพ.ค.2557 จนถึงการเลือกตั้งในเดือนมี.ค.2562 นั้น รัฐบาลไม่มีผลงานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงความสำเร็จของผู้นำทหารในการบริหารประเทศแต่อย่างใด
มีแต่ความพยายามในการสร้างภาพให้เกิดความชอบธรรมว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลทหาร คือ การทำให้ประเทศสงบ และปราศจากการชุมนุม เพื่อขายแก่ชนชั้นกลางปีกขวา และกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่ง
แต่ความสำเร็จในประเด็นด้านอื่นๆ ที่เป็นผลงานของรัฐบาลทหาร เป็นเพียงการขายวาทกรรม มากกว่าจะขายผลงานความสำเร็จที่เป็นจริง
สภาวะเช่นนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้กับสังคมไทยว่า ประเทศมีสิ่งที่ต้องจ่ายเป็นราคาให้แก่การรัฐประหาร และรัฐบาลทหารด้วยมูลค่าที่สูงมาก แต่ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วสังคมไทยได้ผลตอบแทนอะไรจากการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น
ถ้าพิจารณาด้วยสติแล้ว คงต้องยอมรับว่า รัฐประหารคือการขาดทุนครั้งใหญ่ของสังคมไทย และยิ่งรัฐบาลทหารอยู่นาน ก็ยิ่งขาดทุนมากด้วย
แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ก็ถูกมองไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง รัฐบาลก็มาจากการสืบอำนาจ
การสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารหลังเลือกตั้งเป็นเพียงความสำเร็จในระยะสั้น เพราะพรรคที่สืบทอดสถานะต่อจากรัฐบาลทหารอาจจะเอาชนะการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารได้ แต่การดำรงอยู่ในระยะยาวเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะผู้นำทหารไม่สามารถใช้กลไกพิเศษได้ในเวทีรัฐสภาในระยะยาว
การกำเนิดของ‘ระบอบพันทาง’ หลังการเลือกตั้งในเดือนมี.ค.2562 ชี้ให้เห็นถึง การใช้กลไกทุกอย่างที่อาจจะค้านกับความรู้สึกของสาธารณชน แต่ก็หวังเพียงความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ผู้นำทหารชุดเดิม แต่การทำเช่นนั้นก็มีผลอย่างมากต่อตัวผู้นำรัฐบาลเอง
ซึ่งในอนาคตแล้ว การใช้เกมการเมืองดังกล่าวอาจจะยิ่งลดทอนทั้งความชอบธรรม และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งลง
และยิ่งต้องเผชิญกับโรคระบาดจนกลายเป็นวิกฤตใหญ่ในช่วงต้นปี 2563 ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นถึงความอ่อนแอของรัฐบาลด้วย เห็นได้จากระยะที่ผ่านมาว่า สังคมไทยมีวิกฤตสองชุดคู่ขนาน คือ วิกฤตโรคระบาด และวิกฤตรัฐบาล
ต่อให้รัฐบาลนี้พ้นไปไม่ว่าเหตุใด หรือหมดวาระ คสช.ก็ยังอยู่ต่อได้ เพราะอำนาจโหวตนายกฯของส.ว.ยังอยู่
การสร้างกลไกส.ว. เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกค้ำยันรัฐบาลเป็นอีกประเด็นของความสำเร็จในระยะสั้น แต่การออกแบบกลไกเช่นนี้จะเป็นตัวสร้างวิกฤตทางการเมืองในอนาคต ผู้นำทหาร และฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย อาจจะชนะด้วยการใช้ ส.ว.เป็นกลไกเลือกนายกฯ
แต่หากเกิดความพลิกผันในอนาคต เช่น ถ้าพรรคฝ่ายค้านสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาล่างได้แล้ว อำนาจของส.ว.จะกลายเป็นปัญหาทันที และจะนำไปสู่วิกฤตรัฐสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวอย่างเช่นนี้สามารถตอบได้ชัดเจนว่า นักออกแบบรัฐธรรมนูญชุดนี้คงได้รับความชื่นชมในความภักดีที่พวกเขามีต่อรัฐบาลทหาร แต่การออกแบบให้อำนาจ ส.ว. เช่นนี้อาจกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งในการเมืองไทย ซึ่งไม่แน่ใจว่าเมื่อถึงจุดนั้นผู้นำในการออกแบบรัฐธรรมนูญนี้จะมีความรับผิดชอบเพียงใด
หรือพวกเขามั่นใจตลอดเวลาว่า อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายค้านก็ไม่สามารถชนะเสียงในสภาล่างได้ เพราะกลไกอื่นที่ถูกออกแบบคู่ขนานก็จะไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งได้
การลบล้างอำนาจคสช. ต้องเริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
การล้างอำนาจของระบอบรัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เพราะกลไกต่างๆ ทั้งในระบบและนอกระบบจะไม่ยินยอม และต้องตระหนักว่าการใช้อำนาจดังกล่าวไปอย่างไม่มีจุดจบนั้น
สุดท้ายแล้วอำนาจนี้จะเป็นชนวนสำคัญอีกส่วนของความขัดแย้งในการเมืองไทย ที่อาจนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงได้ ดังจะเห็นได้จากการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศในปี 2562
บางทีวันนี้ ผู้นำปีกขวาจัด ผู้นำทหารและผู้นำอนุรักษนิยมสุดโต่งอาจต้องตระหนักว่า สังคมไทยไม่ใช่ข้อยกเว้นในเวทีโลก ที่จะสร้างระบอบเผด็จการแบบถาวรขึ้นได้โดยปราศจากแรงต้านจากสังคมและประชาชน
วันนี้ระบอบเผด็จการอาจดูเข้มแข็งในสังคมไทย แต่พวกเขาก็เจอทั้งปัญหาและวิกฤตต่างๆ ไม่เว้นในแต่ละวัน และยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็นถึงความอ่อนด้อยของรัฐราชการเผด็จการที่แบกรับความเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ได้
โอกาสเกิดความรุนแรง บานปลาย หลังสถานการณ์โควิด
การเมืองไทยยุคหลังโควิดจะรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิกฤตโรคระบาด ในด้านหนึ่งเป็นวิกฤตการเมือง และในอีกด้านเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสมทบด้วยวิกฤตทางสังคม สุดท้ายแล้วบ้านสี่เสาของวิกฤตไทยจะรวมศูนย์อยู่กับขีดความสามารถของรัฐบาล ซึ่งเป็นดังเสาที่ห้า และจะต้องเป็นเสาหลักในการพาบ้านไทยออกจากวิกฤต
แต่ถ้าเสาที่ห้าล้มเหลว เสาที่เป็นวิกฤตอีกสี่ต้นจะถูกลากล้มลง และพาบ้านหลังนี้ถล่มลงได้อย่างง่ายดาย
สิ่งที่เป็นความน่ากังวลก็คือ ด้วยความเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหารเดิม รัฐบาลจึงขาดความชอบธรรมในตัวเอง และขาดความสนับสนุนจากสาธารณะเท่าที่ควร
ดังเช่นที่กล่าวแล้วในข้างต้น ภาวะเช่นนี้ทำให้ไม่แน่ใจในความหวังสุดท้ายว่าเสาต้นที่ห้าจะเป็นเสาหลักที่ค้ำยันบ้านหลังนี้ได้จริงเพียงใด
ขณะเดียวกันก็เห็นว่าในวิกฤตโควิดนั้น พรรคแกนนำรัฐบาลกำลังเผชิญวิกฤตในบ้านตัวเองอีกชุด จนเกิดการคาดเดาอย่างมากว่า ใครอยู่ใครไปในรัฐบาลไทยหลังโควิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน