ส่องศึกพปชร.กระเพื่อมถึงครม. : สัมภาษณ์พิเศษ – สุขุม นวลสกุล

ส่องศึกพปชร.กระเพื่อมถึงครม. “ให้ระวัง พล.อ.ประยุทธ์ จะเอาเทคโนแครตเข้ามาในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีพลังงาน หรือแม้แต่รัฐมนตรีพาณิชย์”

ความเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนตัวกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ส่งแรงกระเพื่อมถึงรัฐบาล

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเบรกปรับครม.ในช่วงสารพัดปัญหาประเดประดัง แต่คงยื้อไปได้ไม่นาน

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและการปรับครม.ที่จะมีขึ้นจะส่งผลอย่างไรทั้งต่อพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาล

นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการ อดีตอธิการบดีม.รามคำแหง วิเคราะห์ไว้ดังนี้

● ผลจากการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ?

ไม่ใช่การปรับโครงสร้าง แต่เป็นการปรับตัวบุคคล โดยจุดมุ่งหมายจริงๆ ของกลุ่มที่เคลื่อนไหวคือหวังว่าการปรับเปลี่ยนจะส่งผลต่อการปรับครม. ที่ออกมาเคลื่อนไหวก็เพราะเข้าไม่ถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์ จึงมาเคลื่อนไหวในพรรค

เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่เข้าข้างกลุ่มตัวเอง หรือจะไปพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ ได้ โดยหยิบเรื่องการประสานงานกับส.ส.มาใช้เป็นเหตุผลว่ากรรมการบริหารพรรคชุดเก่าเป็นพวกขาลอย ไม่ใช่ส.ส. เลยไม่เข้าใจส.ส.

ขณะที่สถานการณ์ตอนนี้ส.ส.ประสบความยากลำบากในการสนองตอบความต้องการประชาชน กลายเป็นว่าในสภาวะวิกฤตพรรคไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือส.ส. ไม่ได้เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนส.ส.ในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ทำให้พรรคไม่ได้รับความศรัทธา

ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่นักการเมืองแบบเก่า ตอนที่ลาออกจากรัฐมนตรีอาจคิดว่าเป็นการเสียสละลาออกมาตั้งพรรคการเมือง คงนึกไม่ถึงว่าการเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง ต้องรับผิดชอบต่อส.ส.ตลอดเวลา

ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ และแกนนำกลุ่ม 3 มิตร แถลงไว้ว่าทั้งสองคนไม่เข้าใจการทำหน้าที่ส.ส. ไม่ได้สนองตอบส.ส.ในพื้นที่ ไม่สามารถทำให้พรรคได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน

● การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

แรกสุดที่มีกระแสข่าวไม่อยากเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร จะลงมาเล่นเอง

การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันพล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค เพราะเข้ากับพวกเขาได้ เข้าใจพวกเขา ขณะที่คนเหล่านี้ไม่สามารถเกาะโต๊ะ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วพูดคุยได้ เพราะพล.อ.ประยุทธ์มองพรรคพลังประชารัฐว่าเข้ามา เป็นรัฐบาลได้ด้วยบารมีของตัวเขา

เมื่อพูดกับพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ จึงหวังให้ พล.อ.ประวิตร พูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์แทน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ. ประวิตร เป็นผู้มีพลังที่แท้จริงของรัฐบาลชุดนี้ สามารถพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

พล.อ.ประวิตร พูด พล.อ.ประยุทธ์ ต้องฟัง ไม่ว่าจะพูดอย่างไร และแม้จะปฏิเสธแต่พล.อ.ประวิตร ก็คือผู้จัดการรัฐบาล ใครๆ เขาก็มองกันอย่างนั้น

● การขึ้นนั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร จะมีผลอย่างไร?

หากถามว่า พล.อ.ประวิตรขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคจะดีกับพรรคหรือไม่ยังไม่รู้ แต่ชัดเจนว่าการเมืองจะกลับไปสู่รูปแบบเดิม เรื่องปฏิรูปการเมืองขอร้องอย่าพูด เพราะที่ผ่านมาไม่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเลย

และการมองนั้น นักการเมืองก็คิดอย่าง แต่ชาวบ้านก็คิดอีกอย่าง อย่างกรณี พล.อ.ประวิตร เมื่อท่านยกมือคนก็เห็นนาฬิกา

จึงมองว่าในที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจทำอย่างไรมากกว่า จะรับอิทธิพลจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวผ่านพล.อ.ประวิตร อย่างไร วันนี้จึงยังพูดไม่ได้ว่าผลจะออกมาอย่างไรเพราะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร

แต่หลายครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์คอนโทรลไม่ได้ เช่น ระยะหลังวิกฤตโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนแนวการบริหาร หันมายึดเทคโนแครตมากกว่าการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจน และส่วนตัวมองว่าคนพอใจมากกว่าเดิม เมื่อดูจากผลสำรวจต่างๆ

ดังนั้น จะมีผลอะไรตามมาจึงอยู่ที่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจอย่างไร

● จะส่งผลถึงการปรับครม. และการอยู่หรือไปของทีมเศรษฐกิจที่นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ อย่างไร?

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องปรับครม. และคนจะดูตรงนี้ ส่วนจะปรับครม.อย่างไร เอากลุ่มของนายสมคิดออกนำกลุ่มสามมิตรเข้ามา คนก็มองแบบหนึ่ง หรือยึดกลุ่มนายสมคิดไว้ แล้วแซมด้วยกลุ่มสามมิตรเข้ามา ก็มองได้อย่างหนึ่ง

แต่ให้ระวัง พล.อ.ประยุทธ์จะเอาเทคโนแครตเข้ามาในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีพลังงาน หรือแม้แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ ดังนั้นคนจะมองอย่างไรสำคัญตรงนี้ จากนั้นก็ไปวัดกันที่ผลงาน

แต่ถ้าคนร้องยี้ตั้งแต่ต้นรัฐบาลก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเริ่มต้นก็เป็นมะลิลาแล้ว ไม่ใช่มะลิซ้อน

ส่องศึกพปชร.กระเพื่อมถึงครม.

● หากกลุ่มนายสมคิดหลุดจากครม. จะอยู่อย่างไรในพรรคพลังประชารัฐ?

ต้องไม่ลืมว่าพล.อ.ประยุทธ์ มองพรรคพลังประชารัฐต่างที่พรรคพลังประชารัฐมองพล.อ.ประยุทธ์มองพลังประชารัฐเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่เจ้าของรัฐบาล ขณะที่คนที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ เช่น กลุ่มสามมิตรคิดว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มองว่าไม่ใช่

พล.อ.ประยุทธ์มองว่าพวกคุณอยากตั้งพรรคเพราะอยากเป็นรัฐบาล และมาอาศัยตัวเขาพรรคนี้ถึงได้เกิดขึ้น ตัวท่านเป็นหัวหน้าพรรค 250 เสียง พวกพลังประชารัฐคิดว่าตัวเองเป็นพรรคใหญ่สุด แต่ พล.อ.ประยุทธ์คิดว่าพรรค 250 เสียงใหญ่ที่สุด เขาไม่ได้ให้ราคากับพรรคพลังประชารัฐเท่ากับที่ควรได้

บุคลิกของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวของเขาเอง และประเมินตัวเองสูง มองว่าหากพลังประชารัฐไม่ได้ท่านก็ไม่ได้มาเป็นรัฐบาล

● การปรับครม.จะสะเทือนถึงพรรคร่วมรัฐบาลด้วย?

อาจเป็นการเขย่าใหม่ทั้งหมดก็ได้ และต้องยอมรับว่าพรรคที่มีส.ส.เพิ่มขึ้น อาจไม่ได้ที่นั่งเพิ่มก็ได้อย่างเช่นพรรคภูมิใจไทยที่มีส.ส.เพิ่มขึ้นจากอดีตส.ส. อนาคตใหม่ ก็ต้องยอมรับ แต่ก็อาจรักษาสัดส่วนเก้าอี้เดิมไว้ได้

ขณะที่บางพรรคสัดส่วนรัฐมนตรีอาจลดลง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคนี้ไม่ได้มีอะไรพิเศษ ขณะที่การคอนโทรลกันเองในพรรคไม่เป็นเอกภาพ การคุมเสียงส.ส.ไม่ชัดเจน

การปรับครม.คงเกิดขึ้นตามจังหวะ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยากปรับ ไม่อยากเปลี่ยน แต่ถึงเวลาจำเป็นก็ต้องปรับ และกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวก็อยากเปลี่ยน หากมาถึงตรงนี้แล้วไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เขาก็มีวิธีอื่นมาบีบอีกทางให้การปรับครม.เกิดขึ้นจนได้

ส่วนทีมเศรษฐกิจที่บางกระแสข่าวอ้างถึงการเตรียมคนไว้แล้วนั้น อย่างที่บอกว่าให้ระวังพล.อ.ประยุทธ์ อาจหันไปใช้บริการส่วนอื่น เช่น เทคโนแครต

● กระแสเพื่อไทยจับขั้วรัฐบาลใหม่กับพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน?

เป็นข่าวขู่ไม่ให้คนออกจากรัฐบาล ถ้าอยากออกก็ออกไปได้เลย เพราะทางนี้มีคนมาสำรอง ทำให้เกิดภาพว่ามีเสียงสำรองไว้แล้ว เป็นการขู่พรรคร่วมรัฐบาลไปในตัว

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ฝ่ายค้านเว้นชื่อ พล.อ.ประวิตร รวมถึงกรณีการเลือกตั้งซ่อมที่จ.ลำปาง ที่ไม่ส่งคนลงสมัคร และกรณีการไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย ก็ทำให้คนมองไกล มองลึกเข้าไป ซึ่งบางทีอาจเป็นเรื่องบังเอิญ แต่คนก็มีสิทธิ์มองว่ามีการพูดคุยอะไรกัน

● ภาพรวมการปรับเปลี่ยนในพรรคพลังประชารัฐ ปรับครม. จะทำให้ภาพของรัฐบาลดีขึ้น เท่าเดิม หรือแย่ลง?

เราไม่สามารถรู้ได้ แต่เมื่อวิเคราะห์จากสิ่งที่เกิดขึ้น อดีตที่ผ่านมาปรับเมื่อไรก็เตี้ยลง เพราะคนที่คาดหวังว่าปรับคราวนี้จะได้ ถ้าไม่ได้ก็จะก่อกวนอีก เป็นการเพิ่มคลื่นใต้น้ำ ซึ่งเป็นปัญหาวนไปอยู่อย่างนี้

เป็นความชุลมุน เกิดการเคลื่อนไหวในรูปแบบเดิมๆ คือมีการเคลื่อนไหวรูปแบบเดิมอย่างนี้ พอตั้งครม.ใหม่ก็มีกลุ่มใหม่มาเคลื่อนไหว การเมืองยังเป็นเรื่องของผลประโยชน์ การต่อรอง วัดพลัง

ส่วนการปฏิรูปการเมือง ไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่เคย เกิดขึ้น คนที่เคยออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเองก็ไม่ได้ผลักดันอะไร มีแต่พยายามดึงการเมืองแบบเก่ากลับมา รัฐธรรมนูญไม่เพียงไม่ก้าวหน้า แต่ย้อนไปปี 2521 ที่ยังให้ส.ว.โหวตนายกฯ

ไม่มีทางเลือกเพราะรัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คนอื่นไม่มีสิทธิ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน