ตลอดช่วงระยะ 70 ปีที่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทรงครองราชย์ ทรงเล็งเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนของราษฎร จึงทรงมีพระราชดำริโครงการช่วยเหลือประชาชนขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2494

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,596 โครงการ ในจำนวนนี้มีโครงการที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบในฐานะหน่วยงานหลัก จำนวน 3,469 โครงการ

แบ่งเป็น 1.โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ 3,067 โครงการ 2.โครงการพัฒนาด้านการเกษตร 107 โครงการ 3.โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 33 โครงการ 4.โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ 79 โครงการ 5.โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข 2 โครงการ 6.โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร 4 โครงการ 7.โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคมการศึกษา 30 โครงการ และ 8.โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ 147 โครงการ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตร พระองค์ทรงใช้พระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทุกชีวิตในประเทศไทย กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ

“โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับป่า” เนื่องจากทรงห่วงใยในปัญหาปริมาณป่าไม้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงทรงพยายามค้นหาวิธีนานาประการที่จะเพิ่มปริมาณของป่าไม้ในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นคงและถาวร โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัด ตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิม

เช่น โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน จ.สกลนคร โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จ.เพชรบุรี โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จ.ลำพูน โครงการพัฒนาปากน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส ฯลฯ

“โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดิน” ด้วยพระปรีชาญาณอันยิ่งใหญ่ทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน อันเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น บางแห่งเป็นดินเปรี้ยว ดินด่าง ดินเค็ม และบางแห่งก็ไม่มีดินเลย ซึ่งทรงเรียกดินเหล่านี้ว่า “ดินแร้นแค้น”

นอกจากนี้ความเสื่อมโทรมของดินยังเกิดจากการกระทำอันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า และการใช้พื้นที่โดยขาดการอนุรักษ์ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาทรัพยากรดินเป็นอเนกประการ ซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่เกษตรกรทั่วประเทศ อาทิ

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จ.เพชรบุรี โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว จ.นครนายก โครงการหญ้าแฝก และโครงการแกล้งดิน

โดยโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2526 มีพระราชดำรัสด้วยน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยว่าหากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด เกษตรกรไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จึงพระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้าน ป่าไม้อเนกประสงค์

ถัดมาเป็น “โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าโครงการประเภทอื่น ทรงให้ความสำคัญในลักษณะน้ำคือชีวิต ดังพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2529 ความตอนหนึ่งว่า

“…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก

เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

เช่น โครงการแก้มลิง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน จ.นครนายก โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว จ.ลำพูน โครงการห้วยองคต จ.กาญจนบุรี โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง จ.เชียงใหม่ และลำพูน

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขื่อนขุนด่านปราการชล โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา โครงการฝนหลวง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “คลองลัดโพธิ์” ฯลฯ

ส่วนต่อมาคือ “โครงการแก้มลิง” เป็นพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย โดยพระองค์ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปีพ.ศ.2538 จึงมีพระราชดำริโครงการแก้มลิงขึ้น เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2538 โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป จึงสามารถลดปัญหาน้ำท่วม

แนวคิดของโครงการแก้มลิงเกิดจากการที่มีพระราชดำริถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ จึงมีพระราชกระแสอธิบายว่า

“ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”

ด้วยแนวพระราชดำรินี้ จึงเกิดเป็น “โครงการแก้มลิง” ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ ไว้รอการระบายเพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง

“โครงการฝนหลวง” กำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ

นอกจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่า ยังเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยรวมของชาติเป็นมูลค่ามหาศาล

จึงนำมาตรการทางวิทยาศาสตร์ ช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เริ่มทดลองพ.ศ.2512 ในพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และในที่สุดก็มีฝนตก

แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเสด็จสวรรคต แต่เชื่อว่าโครงการในพระราชดำริ โครงการเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นเสมือนรากฐานของแผ่นดิน นำพาประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตได้ ดังพระราชดำรัสในเดือนส.ค. 2542 ความตอนหนึ่งว่า

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอก รองรับบ้านเรือน ตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่ เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป…”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน