กลบกระแสการเมืองเสียสนิท

กรณีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก บุกคุมตัว นายเปรมชัย กรรณสูต เจ้าสัวใหญ่บริษัทอิตาเลียนไทยฯกับพวก ขณะลักลอบตั้งเต็นท์พักแรมกลางป่าในจุดหวงห้าม

พร้อมของกลางซากสัตว์ป่าถูกชำแหละทั้งเสือดำ เก้ง ไก่ฟ้าหลังเทา กับปืนไรเฟิลอาวุธสังหาร ส่งตำรวจดำเนินคดี 9 ข้อหาหนัก

เปิดโอกาสพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้พักหายใจ หายคอจากมรสุมการเมืองรุมเร้า ซ้ำเติมสภาวะขาลง

โดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ได้จังหวะฟื้นกระแส สั่งดำเนินการกับเจ้าสัวเปรมชัย ตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่มีการช่วยเหลือปกป้องใดๆ จากฝ่ายรัฐ

ชิงตัดไฟแต่ต้นลม หลังสังคมเริ่มจับตาจากข้อมูลที่เปิดออกมาว่าบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ยักษ์ใหญ่วงการรับเหมาก่อสร้างเบอร์ต้นๆ ของประเทศ

มีเมกะโปรเจ็กต์ผูกติดอยู่กับรัฐบาลมากมายหลายโครงการ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ทางด่วน สนามบิน โรงไฟฟ้า ฯลฯ จะมีผลตัดตอนไม่ให้คดีเดินไปสุดซอยหรือไม่

แต่หากดูจากสถานการณ์ลุกลามไปทั่วทุกวงการตอนนี้ รัฐบาลคงไม่อยากยื่นมือเข้าไปเสี่ยงช่วยเหลือ เพราะนอกจากจะทำให้ต้องตกเป็นจำเลยสังคมไปด้วย

ลำพังรัฐบาลเองตอนนี้ก็แทบเอาตัวไม่รอดจากพายุการเมืองที่โหมกระแทกเข้าใส่รายวัน ทั้งยังมีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่รัฐบาลคสช.ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่า

จะมีการเลือกตั้งได้เมื่อใด

ถึงจะกำหนดโรดแม็ปใหม่ไว้คร่าวๆ หลังที่ประชุมสนช.มีมติขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ไปอีก 90 วันหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

ว่าส่งผลทำให้การเลือกตั้งตามลายแทงเดิมเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องขยับตามออกไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ก็ใช่ว่าจะแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์

ล่าสุดเส้นทางการทำคลอดกฎหมายลูก 2 ฉบับในหมวดเลือกตั้ง ได้แก่ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ถึงจะผ่านที่ประชุมสนช.วาระสามไปแล้ว

ยังส่อเค้าเกิดอาการเครื่องสะดุดให้เห็น หลังจากสนช.ส่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ สอบถามความเห็นจากกรธ.ในฐานะเจ้าของร่างเดิม และกกต.ในฐานะผู้มีอำนาจและหน้าที่จัดการเลือกตั้งโดยตรง

ปรากฏทั้งกรธ.และกกต.มีความเห็นแย้งในร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ส่งกลับมาให้สนช. ประเด็นหลักๆ ก็คือ

ไม่เห็นด้วยกับการให้จัดมหรสพหาเสียงได้เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง การห้ามรณรงค์โหวตโนที่เป็นการจำกัดสิทธิประชาชน

การช่วยคนพิการกาบัตร ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ การขยายเวลากาบัตรเป็น 07.00-17.00 น. ที่อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่กกต.และกรรมการประจำหน่วย การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายไปอีก 90 วัน

การลดกลุ่มผู้สมัครส.ว.จาก 20 กลุ่มเหลือแค่ 10 กลุ่ม การแยกผู้สมัครส.ว.เป็นประเภทสมัครแบบอิสระกับแบบเสนอชื่อโดยนิติบุคคล เป็นต้น ที่กรธ.และกกต.ต่างก็เห็นแย้งกับสนช.

เมื่อเป็นดังนี้ ทางออกจะต้องตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย ตัวแทนสนช. 5 คน ตัวแทนกรธ. 5 คน และกกต. 1 คน รวมเป็น 11 คน

ขึ้นมาพิจารณาหาจุดลงตัวร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ว่าจะผ่อนปรนอย่างไรหรือแก้ไขประเด็นใดบ้าง ภายในกรอบเวลา 15 วัน ก่อนส่งกลับให้ที่ประชุมสนช.ลงมติชี้ขาดอีกครั้ง

สำหรับการตั้งกมธ.ร่วมนั้น ทั้งรัฐบาล สนช. ตลอดจนพรรคการเมือง มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ไม่มีผลกระทบต่อระยะการทำคลอดกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ

เนื่องจากการตั้งกมธ.ร่วมนี้ถูกนับเวลารวมในโรดแม็ปเดิมที่จะให้มีการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่แล้ว ส่วนที่ต้องขยับออกไปข้ามปีในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

เป็นเพราะถูกหน่วงเวลาโดยสนช. กำหนดให้พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ขยายการบังคับใช้ออกไป 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา แทนที่จะให้บังคับใช้ทันทีในวันถัดไป

จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มคน “อยากเลือกตั้ง” จำนวนหนึ่งออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว เรียกร้องให้รัฐบาลจัดเลือกตั้งภายในปี 2561 ตามที่ผู้นำรัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน

โดยต้องไม่มีการต่อท่อสืบทอดอำนาจใดๆ

แต่แล้วการชุมนุมเรียกร้องอยากเลือกตั้ง กลับกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐ นักศึกษา ประชาชน และนักวิชาการ จำนวน 39 คน ซึ่งต่อมาเรียกกันว่ากลุ่ม “เอ็มบีเค 39” ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหาขัดคำสั่งคสช. กระทำผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ บางคนโดนมาตรา 116 พ่วงเข้าไปด้วย

ซึ่งกำลังถูกจับตาว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดจัดการกับประชาชนที่อยากเลือกตั้ง จะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย หรือส่งผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายเพื่อเคลียร์ข้อขัดแย้งในร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ

ถึงจะได้รับการกล่าวอ้างว่าเป็นไปตามโรดแม็ป การเมืองปกติ แต่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที

หากสนช.ตั้งธงไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่ยอมแก้ไขร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับตามข้อสรุปของกมธ.ร่วม ซึ่งจะนำไปสู่จุดพลิกผันที่มีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ

การ “คว่ำ” ร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าหากสนช.เลือกที่จะลงมติ “คว่ำ” ร่างกฎหมาย โรดแม็ปเลือกตั้งจะต้องหยุดชะงักยาว เพราะต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญ 2560 อาจต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี ในการทำประชามติขอแก้ไขและเริ่มกระบวนยกร่างกฎหมายใหม่แทนฉบับที่ถูกคว่ำไป

หรือหากเลือกใช้วิธีที่เบากว่า คือ สนช.รวบรวมเสียงสมาชิก 1 ใน 10 ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า

การเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไม่น่าเกิดขึ้นได้จริง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะใช้การคว่ำร่างกฎหมายลูกเป็นเทคนิคในการขยายเวลาเลือกตั้งออกไป แต่ถึงที่สุดแล้ว

การคว่ำหรือไม่คว่ำก็เป็นการตัดสินใจโดยอิสระของสมาชิกสนช.แต่ละคน ซึ่งต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด

ส่วน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ก็ไม่กล้ารับประกันว่า กฎหมายลูกจะไม่โดนคว่ำจนทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนยาวออกไป เพราะ อาจจะเกิดอะไรขึ้นที่ไหนก็ไม่รู้”

ขณะที่บุคคลศูนย์กลางอำนาจเบ็ดเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ระบุ

“วันเลือกตั้งเป็นไปตามกฎหมาย กฎหมายลูกมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ ก็นั่นแหละวันเลือกตั้ง เป็นไปตามกระบวนการ เรื่องพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว.ยังอยู่ในกระบวนการ เมื่อทุกอย่างพร้อม ทุกฝ่ายพร้อม ก็โอเค เลือกตั้งกันไป”

เมื่อมีการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายในสัปดาห์หน้า นับต่อจากนั้นอีก 15 วันไปจนตลอดเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงเวลาแห่งการชี้ชะตาอนาคตประชาธิปไตยไทยอีกครั้ง ว่าสุดท้ายแล้ว

จะเป็น ไทยแลนด์เฟิร์ส” ที่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนต้องมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง

หรือว่าจะเป็น ไทยแลนด์โอนลี่” ที่นานาประเทศในโลกประชาธิปไตยอยากตีตัวออกห่าง

ไม่ต้องการคบค้าสมาคมด้วยอีกต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน