คุยกับเจ้าของร้านเฟม วิดีโอ ท่าพระจันทร์ ก่อนปิดตำนาน 32 ปี

คุยกับเจ้าของร้านเฟม วิดีโอ ชญานิศ อิทธิพงศ์เมธี

ค่ำวันพุธ ฝนเม็ดเล็ก ๆ ตกไม่ขาดสาย ถนนมหาราชในแถบท่าพระจันทร์ค่อนข้างเงียบเหงา แต่ร้านของลุงธานี จิริยะสิน กลับคึกคักผิดหูผิดตา อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบหลายปี

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ร้านเฟม วิดีโอ แขวนป้าย “ล้างสต็อก ปิดกิจการ” ไว้หน้าร้าน และโพสต์รูปดังกล่าวบนหน้าเฟซบุ๊กเพจของร้านพร้อมข้อความ “ใกล้ปิดตำนานร้านให้เช่าวิดีโอ วีซีดี ดีวีดี” ทำให้คอหนังหลายคนใจหายไปตาม ๆ กัน

แต่ใช่ว่าการปิดตัวลงของร้านเฟมจะเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย เนื่องด้วยการเดินทางมาถึงของยุคออนไลน์ที่เกือบทุกอย่างสามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเตอร์เน็ต ไหนจะบริการสตรีมมิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้ชะตากรรมของร้านวิดีโอและดีวีดีหลายร้านต้องทยอยปิดกิจการลง

“ร้านอื่นเขาไปก่อนเรานานแล้ว แต่เขาก็ไม่เจ็บตัวเท่าเรา” ธานี จิริยะสิน เจ้าของร้านเฟม วิดีโอกล่าว “ถ้าพูดถึงร้านที่มีบริการให้เช่าวิดีโอด้วย ก็ร้านเรานี่ล่ะ ร้านสุดท้ายในกรุงเทพ”

ก่อนหน้าจะเปิดร้านเฟมเมื่อ 32 ปีก่อน คุณธานีในวัยหนุ่มประกอบอาชีพขายตลับเทปอยู่หน้าโรงหนังในกรุงเทพสมัยนั้น เช่น โรงหนังฮอลลีวู้ด โรงหนังแม็คเคนนา เมื่อมีเวลาว่าง คุณธานีจะเข้าไปดูภาพยนตร์ในโรงหนัง ด้วยความชื่นชอบการดูหนังจนเป็นชีวิตจิตใจนี้เอง ทำให้เขาตัดสินใจเปิดห้องแถวหนึ่งคูหาบนถนนท่าพระจันทร์ แรกเริ่มลงทุนด้วยม้วนวิดีโอ 100 ม้วน หลังจากนั้นจึงทยอยเพิ่มจำนวนเป็นลำดับ

จนร้านเล็ก ๆ พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรนั้นเต็มไปด้วยหนังหลากประเภทนับพัน ๆ เรื่อง ตั้งแต่หนังอมตะสุดคลาสสิกอย่าง “วิมานลอย” (Gone with the Wind) หนังของอากิระ คุโรซาว่า ผู้กำกับญี่ปุ่นชื่อดัง ไปยันหนังจีนกำลังภายใน หรือแม้แต่หนังสัญชาติยุโรปนอกกระแสหายาก

เรียกได้ว่าจะหนังตลาด นอกกระแส สัญชาติไหนไม่เกี่ยง “เราเก็บหมด” คุณธานีว่าอย่างนั้น

“เราเป็นร้านแรก ๆ ในกรุงเทพด้วยซ้ำที่มีบรรยายไทยและอังกฤษ” คุณธานีกล่าว เขายังเล่าต่ออีกว่าในยุคที่ร้านวิดีโอรุ่งเรืองสุดขีดนั้น เขาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มากถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน หรือหลักล้านต่อปีทีเดียว

ประกอบกับทำเลที่ดี ซึ่งใกล้แหล่งท่องเที่ยว และอยู่ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้ร้านเฟมมีลูกค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่นักศึกษา อาจารย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักท่องเที่ยวตบเท้าเข้ามาอุดหนุนอยู่เรื่อย ๆ

คุยกับเจ้าของร้านเฟม วิดีโอ

“ตอนเย็นหลังเลิกงานก็จะมีคนเดินเข้ามาเช่าวิดีโอเพื่อเอากลับไปดูกับคนที่บ้านแบบพร้อมหน้าพร้อมตา มันเป็นความสุขของครอบครัวที่คนรุ่นนี้ไม่ค่อยเข้าใจแล้ว”

“บางคนติดหนังงอมแงม ถึงกับเคาะประตูร้านผมตอนกลางดึึก เพื่อมายืมม้วนต่อไปด้วยซ้ำ” ชายวัย 61 ปีรำลึกความหลังอย่างอารมณ์ดี

แต่แล้วกระแสของแผ่นวีซีดี ดีวีดีก็มาถึง เครื่องเล่นวิดีโอลดกำลังผลิตลงจนขาดหายไปจากตลาด การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้คุณธานีไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจำใจชั่งกิโลขายม้วนวิดีโอด้วยราคาเพียง 8 บาทต่อกิโลกรัม

“ผมขายไป 2 ตัน ขาดทุนไปเป็นหลักล้าน”

และหลังคุณธานีเดินหน้าลงทุนนำแผ่นวีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์มาเติมร้านได้เพียงไม่กี่ปี เขาก็ต้องเผชิญหน้ากับคลื่นลูกใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือเทคโนโลยีการดาวน์โหลดและบริการสตรีมมิ่งภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย จนคุณธานีจำเป็นต้องหันไปพึ่งกิจการขายเหรียญกษาปณ์และธนบัตรหน้าร้านเป็นรายได้เสริม

นอกจากนี้ คุณธานียังตัดสินใจยกเลิกระบบเช่าแล้วคืน โดยหันมาจำหน่ายแผ่นภาพยนตร์แบบเต็มตัว

ในปัจจุบันร้านเฟมขายแผ่นวีซีดีในราคา 10 บาท และดีวีดี 30 บาท

“ก็จะขายไปจนกว่าของจะเบาบางลง แต่ยังไงก็จะเปิดไม่เกินสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนร้านเป็นร้านขายเหรียญกับธนบัตรแทน”

ตั้งแต่ร้านเฟมประกาศจะปิดร้าน บรรดาคอหนังและลูกค้าหลายคนก็เริ่มแวะเวียนเข้ามาอุดหนุนมากขึ้นอีกครั้ง

ราวกับเป็นการร่วมส่งท้าย ก่อนตำนาน 32 ปีจะปิดตัวลง

“วันก่อนมีเด็กธรรมศาสตร์ใส่ชุดครุย เดินเข้ามาถ่ายรูปในร้าน เขาบอกว่าเขาคงไม่มีวันนี้ถ้าไม่มีร้านผม” คุณธานีกล่าว ก่อนเขาจะขอตัวไปดูแลลูกค้าที่อยู่แน่นร้าน แม้จะเลยหนึ่งทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาปิดทำการไปแล้วก็ตาม

ร้านเฟม วิดีโอตั้งอยู่บนถนนมหาราช ตรงข้ามวัดมหาธาตุ เปิดเวลา 10.00 น. – 19.00 น. ทุกวัน (ยกเว้นวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน)

++++++++++

อ่านเรื่องนี้ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ :

อ่านเรื่องราวอื่นที่น่าสนใจ :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน