คอลัมน์ อาเซียน

เรือนไทย 4 ภาค วันนี้ขอนำเสนอ เรือนโบราณภาคใต้ ลักษณะเด่นของเรือนไทยภาคใต้ คือหลังคาทรงสูงและมีความลาดเอียงเพื่อให้น้ำฝนไหลผ่านได้สะดวก ชายคาต่อยาวออกไปคลุมถึงบันไดเนื่องจากฝนตกชุกมาก

ทั้งยังนิยมปลูกเรือนวางเสาบนตอม่อ ฐานเสาทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ศิลาแลง หรือก่ออิฐฉาบปูนรองรับเป็นตีนเสา เหตุที่ไม่ฝังเสาลงดินเพราะดินมีความชื้นจากสภาพอากาศฝนชุกเกือบทั้งปี หากวางเสาลงดินเสาจะผุเร็ว

เรือนไทยภาคใต้ที่พบเห็นทั่วไปแบ่งออกเป็น “เรือนเครื่องผูก” เป็นเรือนง่ายๆ ไม่ถาวร มักเป็นกระท่อมยกใต้ถุนสูง ใช้ไม่ไผ่เป็นโครงสร้างผูกด้วยหวาย หลังคามุงจากหรือแฝก มักปลูกติดกันเป็นหมู่บ้าน เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยในช่วงที่หัวหน้าครอบครัวต้องออกทะเลไปนานหลายวัน

ส่วน “เรือนเครื่องสับ” เป็นบ้านสำหรับคนมีฐานะ ปลูกด้วยไม้เคี่ยมหรือไม้หลุมพอ ตัวเรือนยาวเป็นสองช่วงของความกว้าง มีพื้นระเบียงลดต่ำกว่าตัวเรือนใหญ่ และมีชาน หลังคาจั่วตั้งโค้งติดไม้แผ่นปั้นลมแบบหางปลามุงกระเบื้องและมีกันสาด

นอกจากประเภทของเรือนแล้ว หลังคาเรือนไทยภาคใต้ยังแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ “หลังคาจั่ว” รูปจั่วตรงมุงด้วยกระเบื้อง ประดับเชิงชายและช่องลมไม้ฉลุ ขณะที่ “หลังคาปั้นหยา” รูปทรงลาดเอียงสี่ด้านไม่มีจั่ว ตรงรอยตัดเหลี่ยมครอบด้วยปูนกันฝนรั่ว แข็งแรงและ ต้านลมพายุได้ดี พบมากในจังหวัดสงขลา และ “หลังคามนิลา” หลังคาจั่วผสมปั้นหยา ด้านล่างลาดเอียงลงมารับกับหลังคาด้านยาว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน