วัยแรกโหวต กาบัตรหวังสิ่งใด : สดจากเยาวชนข่าวสด

วัยแรกโหวต กาบัตรหวังสิ่งใด : สดจากเยาวชนข่าวสด – สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำกรุงเทพมหานคร จัดงาน DMOC Day วันส่งเสริมประชาธิปไตย ที่ ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการประกวดโครงงานประชาธิปไตย DMOC Day Contest โดยนักศึกษาจาก 6 มหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมการเสวนาหัวข้อ “วัยแรกโหวตกาบัตรหวังสิ่งใด” สะท้อนเสียงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประชาธิปไตยยุค 4.0

วัยแรกโหวต กาบัตรหวังสิ่งใด

กิจกรรม DMOC Day นำเสนอผลงานสู่สาธารณะของนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า ภายใต้หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 8 (ปนป.8) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ จากนักศึกษาทั้งหมด 9 กลุ่ม ได้แก่ หัวข้อ Election for all, หัวข้อ First Time Voter empowerment : พลังวัยแรกโหวต และหัวข้อ ประชาธิปไตยต่างมุม

ขณะที่กิจกรรม DMOC Day Contest มีการประกวดโครงงานประชาธิปไตยโดยนักศึกษาระดับอุดมศึกษาจาก 6 มหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัยแรกโหวต กาบัตรหวังสิ่งใด

วัยแรกโหวต กาบัตรหวังสิ่งใด

มหาวิทยาลัยที่ชนะเลิศการประกวดโครงงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หัวข้อ “การส่งเสริมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนเพื่อสังคมไทย” จัดการแสดง “หนุมานสำแดงแผลงฤทธิ์ เนรมิตเลือกตั้งแดนสยาม” เพื่อใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเสวนาวิชาการ รู้ทันการเลือกตั้ง 2562 รวมทั้งการเดินรณรงค์การเลือกตั้ง โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้คนทั่วไปเข้าถึงกิจกรรม

วัยแรกโหวต กาบัตรหวังสิ่งใด

รองชนะเลิศอันดับ 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จากหัวข้อ “วัยรุ่นไทย 4.0 เข้าใจ เข้าถึง ประชาธิปไตยไทย” เสนอการจัดทำกิจกรรมกระตุ้นความคิดกับประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ 18-25 ปี (First Voter) เพื่อรณรงค์การเลือกตั้งในวันที่ 24 มี..นี้ และการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น โดยการเดินรณรงค์และจัดนิทรรศการภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีและชุมชนข้างเคียง

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากหัวข้อ “Countdown For Voting” กิจกรรมรณรงค์การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วยการนับถอยหลังโดยใช้วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นจุดหมาย และเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวแรกที่ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพ และมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตและขับเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตยอันสร้างสรรค์และยั่งยืน

ขณะที่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม หัวข้อ “ประชาธิปไตยในยุคดิจิทัล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หัวข้อ Democracy 5.0” และ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม หัวข้อ “ร่วมมือ ร่วมใจ คนรุ่นใหม่ ก้าวสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” คว้ารางวัลชมเชย

วัยแรกโหวต กาบัตรหวังสิ่งใด

ในการเสวนาหัวข้อ “ความหวังวัยแรกโหวต” สะท้อนแนวคิดเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ในวัยแรกโหวต ประกอบด้วยตัวแทนนักศึกษาจากทั้ง 6 มหาวิทยาลัย เริ่มที่ นายวรวิชญ์ วงศ์วศวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า ต้องการสังคมในอุดมคติที่ไร้การคอร์รัปชั่น มีผู้นำที่นำประเทศไปสู่ความก้าวหน้า ยินดีรับฟังเสียงส่วนมากและแก้ปัญหาความขัดแย้งบนพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย

นายภูมิพัฒน์ วิทยารัฐ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า การที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีส่วนร่วมเปลี่ยน แปลงทางการเมืองได้ต้องเริ่มจากการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไร้กรอบของคนรุ่นเก่า รักษาสิทธิและออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อสร้างโอกาสการกำหนดอนาคตของตนเองและประเทศชาติ นำไปสู่วิธีคิด วิธีทำแบบใหม่ สู่การพัฒนาอย่างแท้จริง

นายศุภวิชญ์ โกศลจันทรยนต์ จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากอดีตที่ผ่านมาล้วนมาจากการที่แต่ละฝ่ายขาดหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งได้โดยการสื่อสารต่อกันด้วยหลักการและเหตุผลในการแสวงหาทางแก้ปัญหาที่คนรุ่นเก่าต้องหยุดปลูกฝังความขัดแย้งแก่คนรุ่นใหม่

วัยแรกโหวต กาบัตรหวังสิ่งใด

ด้าน นายณฐนภ ศรัทธาธรรม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าสิ่งที่ต้องคาดหวังจากคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งคือความสามารถจัดการความขัดแย้งและความหลากหลายด้วยพื้นฐานประชาธิปไตย เพราะคนกลุ่มนี้เกิดมาในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารและอยู่กับสังคมที่มีความหลากหลาย หากแต่ความหลากหลายนั้นไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นเรื่องปกติและกลับส่งผลดีต่อประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยนี้เองที่จะสามารถเป็นเครื่องจัดการความขัดแย้ง และคนรุ่นใหม่ควรส่งเสริมพัฒนาชาติไปพร้อมกับคตินิยมว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”

นายวสันต์ จิตรเสงี่ยม จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มีความเห็นต่อประเด็นคำถาม “คนรุ่นใหม่จะเลือกคนหรือเลือกพรรค” ว่า สังคมพื้นฐานของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งครอบครัวและชุมชนยังมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงของ “วัยแรกโหวต” เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ต้องกล้าที่จะก้าวออกจากกรอบที่ถูกจำกัดความคิดไว้และต้องมีวิจารณญาณในการคัดกรองข่าวสารที่เชื่อถือได้

ปิดท้ายที่ นายอรรถพล ชมพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่าอนาคตประเทศไทยควรลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น โดยนโยบายระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน