เปิดสถิติการอ่านของคนไทยเด็กรุ่นใหม่เป็นแนวโน้มที่ดี

เปิดสถิติการอ่านของคนไทยเด็กรุ่นใหม่เป็นแนวโน้มที่ดี – ส่งท้ายงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 47 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดผลสำรวจ “การอ่านของประชากร ประจำปี พ.ศ. 2561” ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ตัวเลขออกมาเป็นข่าวดีเล็กน้อย เมื่อคนไทยอ่านหนังสือนานสุด 80 นาทีต่อวัน เทียบจากปี 2558 อ่าน 66 นาที และปี 2556 อ่าน 37 นาที

การอ่านดังกล่าวเป็นการอ่านหนังสือเล่มร้อยละ 88 และอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 75.4 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น

สะท้อนว่าหนังสือเล่มยังคงอยู่เคียงคู่สื่อใหม่

ภาพรวมมีคนไทยอ่านร้อยละ 78.8 ซึ่งหมายถึงยังมีคนไทยที่ไม่อ่านถึงร้อยละ 21.2

เปิดสถิติการอ่านของคนไทยเด็กรุ่นใหม่เป็นแนวโน้มที่ดี

วันเพ็ญ พูลวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ แจงตัวเลขละเอียดขึ้นว่า คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน

กรุงเทพฯ มีคนอ่านมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 92.9, ภาคกลางร้อยละ 80.4 ภาคเหนือและภาคอีสานร้อยละ 75 และภาคใต้ ร้อยละ 74.3

ด้าน กิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการสำนัก งานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการ เรียนรู้ กล่าวว่าสถิติการอ่านของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับในปีนี้ เมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิตอล แน่นอนว่าการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ย่อมส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการอ่าน ทำให้ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องย่อมต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงหวังให้ข้อมูลและสถิติการอ่านนี้เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานด้านการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปที่ตัวเลขของกลุ่มที่ไม่อ่าน พบว่ามีถึงร้อยละ 21.2 คิดเป็นจำนวนประชากร 13.7 ล้านคน เหตุผลของการไม่อ่านมีตั้งแต่การดูทีวี ไม่มีเวลา อ่านไม่ออก ไม่ชอบ ไม่สนใจการอ่าน ชอบเล่นเกม รวมทั้งไม่มีเงินซื้อหนังสือ

เปิดสถิติการอ่านของคนไทยเด็กรุ่นใหม่เป็นแนวโน้มที่ดี

เหตุผลของประชากรไทยที่ไม่อ่านถึงเกือบ 14 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีคนที่บอกไม่ชอบและไม่สนใจอ่านถึงร้อยละ 25.2 คิดเป็นจำนวนประชากรอยู่ที่ประมาณ 3,450,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยทีเดียว

เมื่อจำแนกตามช่วงวัย พบว่าเด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี มีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่าการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้ผล แต่เมื่อดูในเด็กอายุ 15-24 ปี กลับพบว่าไม่ชอบการอ่านหนังสือถึงร้อยละ 34.9

ขณะที่วัยผู้ใหญ่ 25-50 ปี ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือมีถึงร้อยละ 32.8

ตัวเลขนี้ ชี้ให้เห็นว่า หลังการศึกษาช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงทำงานและเกษียณอายุ คนกลุ่มนี้ยังขาดนิสัยรักการอ่าน และยังแสดงให้เห็นว่าการปลูกฝังเรื่องรักการอ่านในคนไทยอาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จุดนี้ต้องกลับไปแก้โจทย์และหาแนวทางในการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านกันต่อไป

อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือกลุ่มเด็กเล็ก

เปิดสถิติการอ่านของคนไทยเด็กรุ่นใหม่เป็นแนวโน้มที่ดี

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 63.8 ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก โดยให้เหตุผลว่าเด็กยังมีอายุน้อยเกินไป ทำให้เด็กกลุ่มนี้ คิดเป็นจำนวนราว 1.1 ล้านคน ไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเหตุเพราะความเข้าใจผิดของผู้ปกครอง

ดังนั้นการรณรงค์ให้ความรู้และทำความเข้าใจในการส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็กยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่องและแข็งขันมากขึ้น

สำหรับการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียวในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี ที่มีจำนวนร้อยละ 5.4 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากผลสำรวจเมื่อครั้งที่แล้ว นั่นหมายถึงมีเด็กจำนวนถึง 145,000 คน ถูกพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว ซึ่งเสี่ยงผลกระทบที่ทีมแพทย์ระบุว่าการเสพสื่อผ่านจออิเล็กทรอนิกส์มีผลกระทบกับพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งไม่สมควรใช้กับเด็กเล็กแรกเกิดจนถึง 1 ขวบครึ่งอย่างสิ้นเชิง

ประเด็นสุดท้าย ห้องสมุดทั่วโลกต้องรู้จักปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่แสดงตัวเลขผู้อ่านหนังสือในห้องสมุดเพียงร้อยละ 0.6 ของคนอ่านหนังสือ หรือคิดเป็นจำนวน 298,000 คน ต่ำกว่า 3 แสนคนเป็นครั้งแรก!

ดังนั้นห้องสมุดเองจะต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ เพื่อรองรับการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในชุมชนอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน