พระที่นั่งภัทรบิฐ

รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

พระที่นั่งภัทรบิฐ

พระที่นั่งภัทรบิฐ – ฉบับวานนี้ (22 เม.ย.) “โตมร” อยากทราบประวัติพระที่นั่งที่ทรงรับน้ำอภิเษกในพิธีบรมราชาภิเษก คือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ที่ประทับรับน้ำอภิเษก และพระที่นั่งภัทรบิฐ ที่ประทับหลังทรงรับน้ำอภิเษก

เมื่อวานตอบถึงพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แล้ว วันนี้อ่านเรื่องพระที่นั่งภัทรบิฐ นำความรู้มาจากหนังสือ “เสวยราชสมบัติกษัตรา” ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ เขียนไว้ในภาคสถาปัตยกรรมเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

พระที่นั่งภัทรบิฐ

ด้านตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ มีความหมายว่าแท่นที่ประทับอันเป็นมงคลของพระมหากษัตริย์ มีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตรสีขาว 9 ชั้น กางกั้นเหนือพระที่นั่ง เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าประทับเพื่อทรงรับน้ำอภิเษกถวายราชสมบัติ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จไปประทับยังพระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งเป็นพระราชบัลลังก์ที่พระมหากษัตริย์ประทับเพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ และเครื่องบรมราชูปโภคอันเป็นมงคลยิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อันเป็นเครื่องแสดงว่าทรงรับเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสยาม








Advertisement

พระที่นั่งภัทรบิฐมีรูปแบบอย่างพระเก้าอี้สำหรับประทับห้อยพระบาท มีพนัก หรือกง เป็นวงโค้งคล้ายรูปเกือกม้าโอบล้อมเบื้องหลัง ทอดพระเขนยอิงและผ้าทิพย์รูปพระครุฑพ่าห์ เทพพาหนะของพระนารายณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระราชอาสน์แทนพระที่นั่งภัทรบิฐองค์เดิม พระเก้าอี้ที่ใช้ประกอบเป็นพระที่นั่งภัทรบิฐนั้นเป็นงานเครื่องถม ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเป็นของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรม ราช (น้อย) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้สร้างขึ้นและน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งภัทรบิฐ

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะปูลาดหญ้าคาบนพระที่นั่งภัทรบิฐ จากนั้นจะนำแผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณมาวางทับ การปูลาดหญ้าคาเป็นคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธที่นำมาใช้ร่วมกับพระราชพิธีในราชสำนัก ในศาสนาพราหมณ์มักใช้หญ้าคาเป็นเครื่องบูชาเทพเจ้า โดยพราหมณ์จะร่ายเวทบนหญ้าคา ซึ่งเชื่อว่าเป็นพื้นที่อันปราศจากมลทิน และยังใช้หญ้าคาเป็นเครื่องประพรมน้ำมนต์ให้สถานที่นั้นบริสุทธิ์ ส่วนในศาสนาพุทธก็ถือว่าหญ้าคาเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งมงคล เนื่องจากในพุทธประวัติกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงรับหญ้าคาจากพราหมณ์โสตถิยะ แล้วทรงนำไปปูลาดเป็นอาสนะสำหรับประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก่อนตรัสรู้ในเวลาต่อมา

ดังนั้น เมื่อนำหญ้าคามาปูลาดบนพระที่นั่งภัทรบิฐ จึงเป็นสิ่งสะท้อนคติความเชื่อทั้งเรื่องความบริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ในการบูชาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ และพระที่นั่งภัทรบิฐยังอาจหมายถึงพุทธบัลลังก์ของพระพุทธเจ้าตามความเชื่อในศาสนาพุทธอีกด้วย ทำให้เห็นว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้รวมคติความเชื่อไว้ทั้ง 2 ศาสนา และทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า พระมหากษัตริย์เปรียบประดุจเทพเจ้าและพระพุทธเจ้าในสาระเดียวกัน

พระที่นั่งภัทรบิฐ

ส่วนการวางแผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรตุณทับหญ้าคาเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ เนื่องจากราชสีห์ถือเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจและความแกล้วกล้า เป็นสัตว์ในจินตนาการที่อยู่ในป่าหิมพานต์รอบเขาพระสุเมรุที่มีพลังอำนาจเหนือสัตว์ทั้งปวง ด้วยเหตุที่มีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือสมมติเทพ มีพระราชอำนาจและพระบรมเดชานุภาพสูงสุดในแผ่นดิน จึงได้มีการนำแผ่นทองคำจำหลักเป็นรูปราชสีห์และเขียนทับด้วยชาดหรคุณปูลาดพระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งเป็นพระราชบัลลังก์ที่พราหมณ์ราชครูทำพิธีทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ตลอดจนเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอื่นๆ

[email protected]

อ่าน : ทร.ฝึกซ้อมฝีพาย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

อ่าน : ราชาภิเษก : 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีของรัชกาลที่ 10

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน