ข่าวสดสุขภาพ

รายงานพิเศษ

จากปัญหาภาวะรูปร่างเตี้ยหรือเจริญเติบโตช้าในเด็กจำนวน 100 คน จะพบเด็กที่ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์ถึง 1-5 คน ทางชมรมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย จึงได้จัดงาน “Growth Day ครั้งที่ 1 สูงสมวัย : เคล็ด(ไม่)ลับ” โดยแพทย์มีความคิดเห็นอยากให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานที่สงสัยว่ามีภาวะเตี้ยผิดปกติหรือขาดฮอร์โมนเติบโต เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่างๆ

ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา ประธานชมรมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทยและกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันพ่อแม่มีความสนใจถึงความสูงของลูก ดังนั้นโรคเด็กเตี้ยผิดปกติหรือภาวะขาดฮอร์โมนเติบโตจึงเป็นเรื่องที่สังคมอยากรู้และหาวิธีรักษา

จากปัจจัยหลายอย่างที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่างๆ ของรัฐ หรือผู้ปกครองไม่ทราบว่าลูกหลานของตนเองป่วยเป็นโรคนี้อยู่ จึงไม่พามารับการรักษา ทั้งๆ ที่ภาครัฐเองก็พร้อมที่จะให้บริการอยู่แล้ว นอกจากนี้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากได้นำเสนอการโฆษณาเรื่องของการเพิ่มความสูงหลากหลายรูปแบบ เช่น การยืดกระดูก การรับประทานอาหารเสริมสำเร็จรูปชนิดต่างๆ หรือการฝังเข็มเพื่อเพิ่มความสูง

สิ่งเหล่านี้ทำให้มีผู้ปกครองและผู้ป่วยเกิดความเข้าใจผิดและหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากโดยไม่ได้ผลจริง

ด้าน ศ.พญ.สมจิตร์ จารุรัตนศิริกุล รองประธานฝ่ายวิจัย ชมรมต่อมไร้ท่อฯ มหาวิทยา ลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “ภาวะเด็กเตี้ยที่เป็นปัญหาด้านการเติบโต หมายถึงเด็กที่เจริญเติบโตช้ากว่าอัตราปกติทั้งน้ำหนักและส่วนสูง โดยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ จะยึดตามเกณฑ์ความสูงที่ต้องไม่ต่ำกว่าเส้นล่างสุดของกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลก และสำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ขวบ ให้ใช้กราฟของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในการวัด กล่าวคือ เด็กแรกเกิด-1 ขวบมีอัตราการเจริญเติบโตประมาณ 25 ซ.ม./ปี, เด็กอายุ 1-2 ขวบ มีอัตราการเจริญเติบโต 12 ซ.ม./ปี, เด็กอายุ 2-3 ขวบ มีอัตราการเจริญเติบโต 8 ซ.ม./ปี, อายุ 3 ขวบ-ก่อนวัยหนุ่มสาว มีอัตราการเจริญเติบโต 4-7 ซ.ม./ปี โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5 ซ.ม./ปี”

ช่วงเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เด็กมักจะโตเร็วขึ้น กล่าวคือ เด็กหญิงมีอัตราการเจริญเติบโต 7-9 ซ.ม./ปี และเด็กชายเติบโตประมาณ 8-10 ซ.ม./ปี ผู้ปกครองจึงควรสังเกตการเติบโตอย่างใกล้ชิด โดยดูจากสมุดสุขภาพของเด็ก

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และประธานสมาพันธ์ต่อมไร้ท่อเด็ก ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า หากผู้ปกครองพบว่าความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้การเจริญเติบโตผิดปกติ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และให้การรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เด็กมีการเติบโตในอัตราปกติ เนื่องจากค่านิยมของคนไทยเชื่อว่าเด็กตัวสูงมีโอกาสที่ดีกว่าในการใช้ชีวิตปกติ เช่น เล่นกีฬาได้ดีกว่า บุคลิกดูดีกว่า

“เมื่อพาเด็กที่สงสัยว่ามีภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโตไปพบกุมารแพทย์ จะมีการตรวจโดยการกระตุ้นฮอร์โมนการเจริญเติบโต เมื่อตรวจพบความผิดปกติ กุมารแพทย์จะพิจารณาการรักษาโดยให้ฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดฉีดเท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่มีฮอร์โมนการเจริญเติบโตชนิดกินหรือชนิดพ่นหรือแบบอื่นๆ ตามที่ได้มีการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์” ศ.นพ.สุทธิพงศ์กล่าวในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน