คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

จันท์เกษม รุณภัย

การประชุมผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ของ เฟซบุ๊ก โซเชี่ยลออนไลน์ ยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก หรือ เอฟ 8 ประจำปี 2560 ที่นครซานโจเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา สร้างความฮือฮาให้แวดวงไอทีไม่น้อย เพราะ เอฟ 8 เป็นสถานที่ที่เฟซบุ๊กในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีไฮเทคจะเปิดเผยวิสัยทัศน์และโครงการต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ภายใต้ นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก

ปีนี้ เรียกเสียงปรบมือด้วย โครงการพัฒนาเทคโนโลยี อักเมนต์ เรียลลิตี้ หรือ เออาร์ ที่จะควบรวมมิติสมมติมาไว้ในมิติรอบตัวผู้ใช้ ถือเป็นขั้นกว่าของเวอร์ชวล เรียลลิตี้ หรือ วีอาร์ แว่นตาทะลุมิติปัจจุบัน รวมไปถึงเทคโนโลยีที่จะมาปฏิวัติรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ตลอดจนการสั่งงานคอมพิวเตอร์โดยตรงด้วยคลื่นสมอง!

สื่อความคิดสู่ตัวอักษร

ไฮไลต์ที่ฮือฮาที่สุดในเอฟ 8 ปีนี้ หนีไม่พ้นโครงการอันสุดเปรื่องปราดของซักเคอร์เบิร์ก ภายใต้โครงการชื่อว่า “Building 8”

เรจินา ดูแกน อดีตนักวิจัยของหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารของสหรัฐ หรือดาร์ปา (DARPA) ขึ้นเวทีแจกแจงว่า โครงการดังกล่าวมุ่งพัฒนาการ 2 ประการหลัก ได้แก่ การใช้สมอง สั่งพิมพ์ และการใช้ผิวหนังเพื่อรับฟังเสียง

ภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า เฟซบุ๊กจะสร้างระบบที่สามารถทำให้ผู้ใช้พิมพ์ได้มากถึง 100 คำต่อนาที ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ถอดความหมายจากคลื่นสมองที่มาจากระบบประสาทสั่งการส่วนภาษาของผู้ใช้ เป้าหมายของเฟซบุ๊ก คือการเปลี่ยนความคิดเป็นตัวอักษรบนหน้าจอ ระบบนี้จะไม่เข้าไปรบกวนสมองของผู้ใช้ และยังนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้พิการได้ด้วย

ส่วนอีกเป้าหมายหนึ่ง คือ การใช้ผิวหนังบางส่วนบนร่างกายมนุษย์ใช้เป็นประสาทหูเทียมเพื่อรับรู้เสียงที่เข้ามาได้

ระบบหลอมมิติ”เออาร์”

การมาถึงของเทคโนโลยีทะลุมิติ วีอาร์ (Virtual Reality) ทำให้เทคโนโลยีการจำลองสภาพแวดล้อมสังเคราะห์ขึ้นในสภาพแวด ล้อมจริงเป็นไปได้ และถือเป็นเทรนด์ต่อไปของระบบคอมพิวเตอร์ นั่นคือ ระบบหลอมมิติ เออาร์ (ไปจนถึงแว่นหลอมมิติ)

ซักเคอร์เบิร์กกล่าวว่า เฟซบุ๊กจะเริ่มแพล็ตฟอร์มสำหรับการเขียนซอฟต์แวร์เออาร์ให้กับนักพัฒนากล้องถ่ายภาพ ที่จะทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างซอฟต์แวร์จำลองภาพทับลงไปบนภาพบนกล้องแบบเรียลไทม์ (คล้ายแต่งภาพใน Snapchat)

รวมไปถึงสตูดิโอที่จะออกแบบมาสำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์เออาร์ เพื่อช่วยผลักดันเทคโนโลยีเออาร์ที่เฟซบุ๊กหวังให้เป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของ เฟซบุ๊กในอนาคต

ไฮไลต์อื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ บ็อตเมสเซ็นเจอร์ ที่เฟซบุ๊กต้องการสอดแทรกอยู่ในอณูของแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก นั่นรวมไปถึงเอไอผู้ช่วย “เอ็ม” (Virtual assistant M) ที่จะเริ่มขยันปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้มากขึ้นและคอยให้คำแนะนำต่างๆ ขณะที่ เฟซบุ๊กสำหรับใช้ทำงานในบริษัทเอกชนใหญ่ๆ จะได้รับการปรับปรุงเรื่องความปลอดภัย และการแบ่งปันงานให้สะดวกขึ้น

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังจะแจก Caffe2 เป็นซอฟต์แวร์แบบเปิดให้ผู้พัฒนานำไปสร้างเอไอ ผู้ช่วยที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงแจก API ตัวใหม่ สำหรับนักพัฒนาเกมบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่สำหรับเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้เล่นกว่า 800 ล้านคนต่อเดือนทั่วโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน