สอนโค้ดดิ้งเสริมพลังเด็กไทย ผ่านค่ายแพลตฟอร์มออนไลน์ : คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

สอนโค้ดดิ้งเสริมพลังเด็กไทย – เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากโครงการนำร่องในปีที่แล้ว บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด สานต่อโครงการ Samsung Innovation Campus (SIC) สอนโค้ดดิ้งให้เยาวชนไทยปีที่ 2

โดยปีนี้ประเทศไทยเริ่มโครงการเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ยกระดับโครงการสู่รูปแบบออนไลน์ พร้อมพัฒนาเนื้อหาและกิจกรรมให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์

ไม่ว่าจะเป็นในด้านเนื้อหาโครงการที่ปรับสัดส่วนของภาษาโค้ดดิ้งให้เหมาะสมกับผู้เริ่มต้นเรียนและนักเรียนมัธยมต้นที่ต้องการศึกษาพื้นฐานการเขียนโปรแกรม เสริมเนื้อหาความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง

เครื่องมือของนวัตกรเบื้องต้นในการคิดพัฒนานวัตกรรม และด้วยสถานการณ์เฝ้าระวังในปัจจุบันจึงปรับรูปแบบค่ายอบรมสู่แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรก

อาจารย์อดิศักดิ์ เสือสมิง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า เนื้อหาของหลักสูตรออนไลน์ในครั้งนี้มุ่งเน้นให้นักเรียนเข้าใจพื้นฐานการเขียนโปรแกรมผ่านสแครตช (Scratch), และไพธอน(Python)

ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจะต้องเรียนในวิชาวิทยาการคำนวณ ค่ายอบรมจะเน้นด้านเนื้อหาที่เรียนแบบต่อเนื่องและเน้นการประยุกต์ความรู้เป็นชิ้นงานจริง

นอกจากนี้ยังเพิ่มเนื้อหาภาษาซี (C-Programming) ซึ่งเป็นพื้นฐานการเขียนโค้ดหลากหลายภาษาโครงการคาดหวังว่าความรู้พื้นฐานที่นักเรียนได้รับจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจการเรียนการสอนในห้องเรียนมากขึ้น และต่อยอดความรู้ไปสู่การเขียนโปรแกรมในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต

“สำหรับค่ายอบรมที่ปรับมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์นั้น สถาบันฯ ในฐานะผู้พัฒนาหลักสูตรร่วมกับซัมซุงและเป็นผู้สอนเนื้อหาให้นักเรียน เตรียมแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยในการจัดการเรียนการสอนรวมถึงทีมผู้ช่วยสอนที่จะให้คำปรึกษาแบบหนึ่งต่อหนึ่งกับนักเรียนตลอดจนจบโครงการ

เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนจะได้รับความรู้และคำแนะนำในการเรียนไม่ต่างจากการเรียนในรูปแบบปกติ และยังทำกิจกรรมร่วมกันผ่านทางออนไลน์ได้อย่างน่าสนใจ” อาจารย์อดิศักดิ์กล่าว

ด้าน นางวรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการในปีนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากเยาวชนทั่วประเทศ มีผู้สมัครเข้ามากว่า 500 คน และมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2-3 ทั้งสิ้น 55 คน จาก 11 จังหวัด ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมกับโครงการเป็นระยะเวลา 70 ชั่วโมง ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้

“คาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เยาวชนไทยทำความคุ้นเคยกับการเขียนโปรแกรม พร้อมช่วยให้นักเรียนค้นพบความสนใจของตนเอง และช่วยจุดประกายให้นักเรียนนำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาตนเองเป็นสุดยอดนวัตกรรุ่นเยาว์ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อตนเองและชุมชนต่อไป” นางวรรณากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน