ข้อพิพาท‘ลิงเก็บมะพร้าว’ – นับจากห้างสรรพสินค้าในอังกฤษ 4 แห่ง ได้แก่เวทโทรส โอคาโด โค-ออป และบูตส์ เลิกขายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ได้แก่ น้ำมะพร้าว และน้ำมันมะพร้าว เพื่อประท้วงที่เมืองไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวตามที่องค์กรพิทักษ์สัตว์พีตา (PETA) เผยแพร่ข้อมูลการทารุณของลิงที่สวนมะพร้าวของไทย โดยเฉพาะส่วนที่ส่งออกไปต่างประเทศเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

พร้อมระบุว่า จากการสืบสวนพบว่าลิงเหล่านี้ถูกบังคับให้แปลงตัวเป็น “เครื่องจักรเก็บมะพร้าว” ตามสวน 8 แห่งในประเทศไทย ถูกนำไปฝึกด้วยกระบวนการที่ยากลำบากและน่าสับสน ถูกล่ามไว้ตลอดเวลา ถูกจับแยกให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ทั้งๆ ที่พวกมันควรได้อยู่ในป่า เล่นกับครอบครัว จับคู่กับลิงตัวไหนก็ได้ที่ต้องการ

นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และ แคร์รี ซีมอนส์ คู่หมั้น ต่างก็เรียกร้องให้ห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ดำเนินมาตรการเดียวกัน

กรณีนี้จึงถือว่ากระทบต่อชื่อเสียงด้านการส่งออกมะพร้าวของไทยอย่างจัง แม้ว่าผู้ส่งออกหลายรายทำความเข้าใจกับลูกค้าได้ถึงความแตกต่างระหว่างมะพร้าวชนิดต่างๆ ที่มีการเก็บผลผลิตต่างกัน เช่น มะพร้าวน้ำหอมที่มีต้นเตี้ย ไม่เคยต้องใช้ลิงเก็บแต่อย่างใด

เอกสารยุทธศาสตร์มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรม พ.ศ.2561-2579 จัดทำโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวลำดับที่ 7 ของโลก มีผลผลิตประมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะ “กะทิสำเร็จรูป” ที่ส่งออกไปทั่วโลก เมื่อปี 2562 สร้างรายได้เกิน 12,700 ล้านบาท

ปี 2563 ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อังกฤษแม้เป็นอันดับ 2 ตลาด ส่งออกกะทิไทย แต่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับสหรัฐ อเมริกา อันดับหนึ่ง ครองสัดส่วนอยู่ร้อยละ 34.73 แต่ผู้ผลิต และผู้ส่งออกต่างคาดหวังให้รัฐบาลเร่งทำความเข้าใจกับนานาชาติว่าอุตสาหกรรมไทยไม่มีการทารุณสัตว์ในขั้นตอนการผลิต เพื่อเรียก ความเชื่อมั่นจากนานาชาติกลับมา

ด้านรัฐบาลไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ชี้แจงต่ออังกฤษว่า อุตสาหกรรมมะพร้าวไทยใช้แรงงานมนุษย์เท่านั้น ส่วนการใช้ลิงในสวนภาคใต้เป็นเรื่องท้องถิ่น ไม่ใช่ระดับอุตสาหกรรม

เอกสารของสถานทูตที่แถลงผ่านทางเพจเฟซบุ๊กเมื่อ 14 ก.ค.ระบุว่าผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวรายใหญ่ของไทย ได้แก่ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว ผู้ผลิตกะทิตราชาวเกาะ, บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ ผู้ผลิตกะทิตราอร่อยดี และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ต่างยืนยันว่าไม่มีการใช้ลิงในกระบวนการผลิต

สถานทูตระบุว่า การเก็บมะพร้าวในไทยเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก โดยเป็นการใช้แรงงานมนุษย์เท่านั้น ใช้ไม้สอยตามวิธีดั้งเดิม โดยตัดครั้งเดียวได้มะพร้าว 10-30 ลูก ไม่สามารถทำโดยลิงได้

เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค สมาคม ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปจะทำงานร่วมกับบริษัทสมาชิกสมาคมเพื่อทำระบบการตรวจสอบกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวดมากขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าแต่ละชิ้นไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการทรมานสัตว์

“เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าการใช้ลิงในสวนมะพร้าวท้องถิ่นในพื้นที่บางส่วนของภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวบ้านตามธรรมเนียมลิงเหล่านี้ถูกเลี้ยงและฝึกให้ช่วยเก็บมะพร้าวเพื่อการทำมาหากินของ ชาวบ้าน และโดยทั่วไปก็ถูกเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตมะพร้าวในเชิงอุตสาหกรรมแต่อย่างใด”

แถลงการณ์ระบุ พร้อมยืนยันว่าไทยเหมือนกับหลายประเทศอื่นๆ สังคมไทยไม่ อดกลั้นต่อการใช้ความรุนแรงทารุณสัตว์ สังคมไทยมุ่งมั่นส่งเสริมการคุ้มครองสวัสดิภาพและสิทธิสัตว์ และคาดหวังให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส ส่วนข้อกล่าวหาของพีตาเป็นกรณียกเว้น ไม่ใช่วิถีปฏิบัติที่เห็นทั่วไป ในไทย

กรณีดังกล่าวเป็นข่าวดังไปทั่วโลก จึงมี สื่อต่างประเทศเข้าไปถ่ายทำและสัมภาษณ์บรรดาผู้เลี้ยงลิงตามสวนมะพร้าว เช่น นายเสน่ห์ คงสุวรรณ ประธานชมรม ผู้เลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าว จังหวัดชุมพร ต้อนรับผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเกียวโด ประเทศญี่ปุ่น ที่บ้านเลขที่ 117 หมู่ที่ 18 ตำบลนาพญา อำเภอหลังสวน โดยพาไปดูวิถีชีวิตของลิงกังขึ้นมะพร้าวตั้งแต่แรกเกิด การฝึกลิงกังขึ้นมะพร้าวความเป็นอยู่และการทำงานร่วมกับชาวสวนมะพร้าวอย่างละเอียดทุกขั้นตอน

นายเสน่ห์เล่าให้นักข่าวต่างประเทศฟังถึงความเป็นมาของการเลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าวที่จังหวัดชุมพร และความเป็นอยู่ของลิงกังขึ้นมะพร้าวว่า การเลี้ยงลิงกังขึ้นมะพร้าวของชาวสวนมะพร้าวในจังหวัดชุมพรมีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย การเลี้ยงดูลิงกังนั้นจะเพาะพันธุ์ลูกลิงกังจากพ่อแม่ที่ผ่านการคัดเลือกว่า มีความฉลาดและไม่ดุร้าย หลังจากนั้นนำมาฝึกเพื่อที่จะให้รู้จักการขึ้นมะพร้าวจนเป็นที่ชำนาญจึงจะนำไปขึ้นมะพร้าว

วันหนึ่งลิงจะขึ้นมะพร้าวตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. และลิงกัง 1 ตัวจะขึ้นมะพร้าวได้เพียงประมาณ 300 ลูก เมื่อกลับมาถึงบ้านก็จะจัดอาหาร เครื่องดื่ม ให้ลิงกังขึ้นมะพร้าวได้กินอย่างเต็มที่ รวมถึงการจัดที่หลับนอนในช่วงตอนกลางคืน

ในอดีตส่วนใหญ่ลิงกังขึ้นมะพร้าวจะนอนอยู่ภายในบ้านเจ้าของด้วยกัน แต่ต่อมาสร้างบ้านไว้สำหรับลิงกังขึ้นมะพร้าวให้อยู่แยกออกมาต่างหาก เลี้ยงดูเสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ไม่เคยทุบตี หรือบังคับลิงกังขึ้นมะพร้าว ให้ทำงานด้วยความรุนแรง ส่วนเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็จะได้รับการรักษาอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายควบคุมและมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของทางราชการอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทรมานลิงกังขึ้นมะพร้าว

เช่นเดียวกับ นายนิรันดร์ วงศ์วานิช ที่ต้อนรับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์เข้าไปเยือนที่สวน เลขที่ 52/3 หมู่ 1 ต.คลองน้อย อ.เมืองสุราษฎร์ธานี พร้อมให้สัมภาษณ์ว่าการใช้ลิงขึ้นมะพร้าวเป็นวิถีชีวิต การประกอบอาชีพของเกษตรกรมากว่า 100 ปีแล้ว โดยมีการเพาะพันธุ์ลิง การอนุบาลและการเลี้ยงดูที่เอาใจใส่เหมือนบุคคลในครอบครัว

สำหรับตนเองเปิดฝึกลิงมากว่า 30 ปีแล้ว สืบทอดตั้งแต่รุ่นพ่อถึงปัจจุบันมีลิง 38 ตัว เลี้ยงดูแลอย่างดี ให้อาหารครบ 3 มื้อ พร้อมขนมและผลไม้บ้างบางเวลาที่อยู่จะล่ามไว้กับต้นมะพร้าว ใช้ล้อยางรถยนต์เก่าเป็นที่บังแดดบังฝนตามธรรมชาติในป่าที่ลิงต้องอาศัยต้นไม้ใบหญ้าหลบแดดหลบฝน

มีความผูกพันกับลิงเหมือนคนในครอบครัวเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน