สาวชาวปักกิ่งรายหนึ่งได้รับเงินชดเชยสำหรับการเป็นแม่บ้านเต็มเวลา นี่จึงนับเป็นครั้งแรกในประเทศจีนที่มีการตัดสินคดีหย่าร้างในรูปแบบดังกล่าว ทำชาวเน็ตจีนแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม

สื่อโกลเบิลไทมส์ globaltimes รายงานว่า ว่า หญิงแซ่หวัง ชนะคดีที่ยื่นฟ้องขอเงินชดเชยค่าตอบแทนแรงงานในครัวเรือน เป็นจำนวน 50,000 หยวน หรือประมาณ 2.3 แสนบาท หลังจากถูกสามีแซ่เฉินฟ้องหย่า

เนื้อหาการฟ้องร้องระบุว่า นับจากแต่งงานกันเมื่อปี 2558 ฝ่ายหญิงทำหน้าที่รับผิดชอบงานบ้านทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลบ้านช่องไปจนถึงการเลี้ยงดูลูก ฝ่ายชายไม่เคยทำงานบ้านหรือรับผิดชอบดูแลลูกใด ๆ เลย ทั้งยังนอกใจภรรยาอีกด้วย

คำตัดสินของศาลนอกจากจะแบ่งทรัพย์สินส่วนกลางของทั้งคู่ออกอย่างเท่ากันแล้ว ศาลยังตัดสินว่านางหวังได้หย่าขาดจากนายเฉินผู้เป็นสามีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และนายเฉินต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับนางหวัง บุตรของทั้งคู่จะได้อยู่กับอดีตภรรยา และนางหวังจะได้รับเงินค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 2,000 หยวน หรือประมาณ 9,300 บาท

ผู้พิพากษา เฟิง เหมา อธิบายว่าคำตัดสินดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 1088 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีที่คู่สมรสคนหนึ่งต้องรับภาระหน้าที่เพิ่มเติม ในการเลี้ยงดูบุตรดูแล ผู้สูงอายุหรือช่วยเหลือคู่สมรสอีกฝ่ายในการทำงาน คู่สมรสดังกล่าวมีสิทธิขอค่าชดเชยเมื่อหย่าร้างกับอีกฝ่ายหนึ่งและอีกฝ่ายหนึ่งจะชดใช้ตามสมควร”

กรณีของนางหวังกลายเป็นกรณีแรก ที่จะมีการชำระค่าชดเชยแรงงานในครัวเรือน หลังจากมีกฎหมายการแต่งงานใหม่ในประเทศจีน

จากกรณีดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียลจีนเป็นอย่างมาก ชาวเน็ตส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นด้วยในคำตัดสินดังกล่าว บางส่วนก็ได้แสดงความคิดเห็นว่าเงินจำนวนนั้นน้อยเกินไปสำหรับการเป็นแม่บ้านเต็มเวลาในเมืองปักกิ่ง เธอควรจะได้มากกว่านั้น

ทั้งนี้ชาวเน็ตบางส่วนถกเถียงประเด็นชายหญิง ว่าผู้หญิงนั้นไม่ได้จำเป็นต้องเป็นแม่บ้านแบบเต็มเวลาเสมอไป และยังเชื่อว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีเกี่ยวกับกฎระเบียบเรื่องการชดเชยแรงงานในครัวเรือนของประเทศจีน

จากการสำรวจของ United Nations Women พบว่าผู้หญิงยังคงทำงานบ้านและดูแลบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้างมากกว่าผู้ชายอย่างน้อยสองเท่าครึ่ง ภาพ: เก็ตตี้อิมเมจ

นักกฎหมายรายอื่นตั้งข้อสังเกตถึงความซับซ้อนของคดีหย่าร้าง และเตือนว่าเป็นการยากที่ทราบถึงจำนวนของแรงงานภายในครัวเรือน ที่มักจะให้ผู้หญิงทำงานภายในบ้านมากเกินไปโดยไม่จำเป็น

“ชีวิตครอบครัวมีความซับซ้อนมาก และสถานการณ์ของแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน เพศจึงไม่ใช่มาตรฐานเดียวในการตัดสินคดีดังกล่าว ทุกคนควรมีความสมดุลในเรื่องงาน และหน้าที่ภายในครอบครัว นั้นถือว่าเป็นทางเลือกส่วนบุคคล” เฉิน หาว ทนายความกล่าวกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน