เทศกาลกินเจประจำปี 2564 ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม – 14 ตุลาคม 2564 รวมเป็นระยะเวลา 9 วัน ซึ่งนอกจากจะได้สร้างบุญสร้างกุศล ยังดีต่อสุขภาพและเป็นโอกาสอันดีที่จะควบคุมน้ำหนักตัวอีกด้วย

อาหารเจในปัจจุบันมีการพัฒนาความหลากหลายพร้อมปรับรสชาติให้อร่อยถูกปากและสามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น แต่หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าจะทำอย่างไรให้การทานเจมีประโยชน์สูงสุดและเลือกทานอาหารเจอย่างไรให้ถูกต้อง ดังนั้น ทางทีมข่าวสดจึงมาไขข้อสงสัยดังกล่าว พร้อมแบ่งปันเทคนิคการทานอาหารเจดี ๆ ดังนี้

1. กินโปรตีนให้เพียงพอ นอกจากควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อป้องกันร่างกายขาดสารอาหารแล้ว ยังควรตระหนักถึงการทานโปรตีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งอย่างที่เรารู้กันดีว่าเทศกาลกินเจ ห้ามทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสัตว์ทุกชนิด

ดังนั้น โปรตีนที่สามารถทานได้ต้องมาจากพืช ไม่ว่าจะถั่ว, ธัญพืช, เต้าหู้ขาว, เห็ด, สาหร่าย, งาดำ, งาขาว, น้ำเต้าหู้ และนมถั่วต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการทานอาหารที่เลียนแบบเนื้อสัตว์สำเร็จรูป ซึ่งมักจะทำจากแป้งและไขมันมากกว่าโปรตีนเกษตร

2. ปรุงอาหารทานเอง จะสามารถคำนวณคุณค่าทางสารอาหารให้ครบถ้วน ควบคุมส่วนผสมและเครื่องปรุงรสในปริมาณที่พอเหมาะของแต่ละวันได้ โดยขอแนะนำให้ปรุงด้วยวิธีการต้ม นึ่ง เผา หรือย่าง หากคุณจำเป็นต้องพึ่งพาร้านอาหาร อาหารสำเร็จรูป หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูปควรใส่ใจการคัดสรรคุณภาพร้าน ความสะอาด และการรับรองมาตรฐาน

โดยมีป้ายสัญลักษณ์รับรองมาตรฐาน อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) จากกรมอนามัย พร้อมหลีกเลี่ยงของทอด อาหารหมักดอง อาหารเมนูผัดต่าง ๆ

3. ระมัดระวังการทานโซเดียม โซเดียมทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากเกินไปมักจะทำให้เกิดอาการบวมน้ำหรือที่เรียกว่า ตัวบวม รวมไปถึงอาจเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้

ตามข้อมูลของสสส. ปริมาณโซเดียมมาตรฐานที่ร่างกายต้องการนั้นต้องมีปริมาณไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจได้ 10% ลดปัญหาหลอดเลือดอุดตันลง 13% พร้อมยืดอายุไต ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคร้ายอื่น ๆ

4. ทานคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ขัดสีจะย่อยง่ายอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความโหยอาหารและทานมื้อระหว่างวันเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ควรเลือกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน(ไม่ขัดสี)และไขมันไม่อิ่มตัว เพราะอัดแน่นไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และคุณค่าสารอาหารต่าง ๆ มากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี, ข้าวกล้อง, เส้นหมี่กล้อง, ขนมปังโฮลวีท, น้ำมันมะกอก, น้ำมันรำข้าว, น้ำมันงา และน้ำมันคาโนลา เมื่อรับประทานทานเข้าไปจะใช้เวลาย่อยและดูดซึมนานกว่า เพิ่มระยะเวลาการเผาผลาญพร้อมระดับน้ำตาลในเลือดค่อย ๆ เพิ่มขึ้นช้า ๆ

5. เน้นทานผักและผลไม้ โดยเลือกทานผักและผลไม้ให้หลากหลายสีเพราะแต่ละชนิดมีประโยชน์โดดเด่นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะสีเขียวมีคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll), สีม่วงมีแอนโทไซยานิน (Anthocyanin), สีแดงมีไลโคปีน (Lycopene), สีขาวมีแซนโทน (Xanthone) หรือผักสีส้มและสีเหลืองที่มีเบตาแคโรทีน (Beta-carotene)

ซึ่งล้วนแต่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ และไฟโตนิวเทรียนท์ ซึ่งทำหน้าที่ลดไขมันส่วนเกินในร่างกาย พร้อมทั้งควรเลือกทานผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัดและมีปริมาณน้ำตาลต่ำ เพื่อป้องกันการเพิ่มระดับน้ำตาลในเส้นเลือด

อย่างไรก็ตาม การล้างผักและผลไม้เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง โดยแช่ผักในน้ำสะอาด จากนั้นแช่ผงฟู (โซเดียมไบคาร์บอเนต) 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตรเป็นระยะเวลา 15 นาที เพื่อป้องกันสารพิษตกค้างถึง 90 – 95 เปอร์เซ็นต์

6. ออกกำลังกาย การมีสุขภาพที่ดี นอกจากจะทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ยังควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมออีกด้วย แต่เนื่องด้วยในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เราขอแนะนำให้ทุกท่านงดออกกำลังกายตามสวนสาธารณะและหันมาออกกำลังกายที่บ้านแทน

นอกจากนี้ หากใครที่เพิ่งเริ่มทานเจ เราขอแนะนำให้ศึกษา 9 สิ่งต้องรู้ ก่อนเตรียมตัวทานเจ ลดความเสี่ยงทำสิ่งต้องห้ามก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน