การลดน้ำหนักไม่ใช่กระบวนการที่ราบรื่นและสิ่งแปลก ๆ หลายอย่างก็สามารถเกิดขึ้นกับน้ำหนักตัวของคุณได้เสมอ เช่น น้ำหนักขึ้นอย่างกะทันหัน น้ำหนักลด หรือแม้แต่น้ำหนักหยุดนิ่ง

หลังจากตื่นนอนและเข้าห้องน้ำ หลาย ๆ คนที่พยายามลดน้ำหนักคงเคยมีประสบการณ์ที่น่าสับสนอย่างน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นชั่วข้ามคืน แม้จะทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกาย

โจนาธาน เทย์เลอร์ เทรนเนอร์อาวุโสประจำ Ultimate Performance ให้สัมภาษณ์กับเดอะซันว่า
“น้ำหนักตัวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน เนื่องจากปัจจัยหลายประการที่ไม่เกี่ยวข้องกับปริมาณไขมันหรือมวลกล้ามเนื้อในร่างกาย”

“ตัวอย่างเช่น เหงื่อออกมากแค่ไหน อาหารและเครื่องดื่มที่เลือกสรร เวลาที่ชั่งน้ำหนัก รวมถึงมื้อสุดท้ายทานไปเมื่อไหร่ ซึ่งล้วนทำให้น้ำหนักผันผวนในแต่ละวัน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักจะต้องตีความมันอย่างระมัดระวัง”

ทางทีมข่าวสดขอนำเสนอสาเหตุบางประการที่ทำให้น้ำหนักขึ้นยามเช้า เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมน้ำหนักให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

1. อาการท้องผูก เป็นปัญหาทั่วไปที่ทำให้มีน้ำหนักมากกว่าที่เป็นจริง แต่เมื่อหายจากอาการแล้วจะทำให้น้ำหนักลดลง ซึ่งระบบสาธารณสุขประจำอังกฤษ NHS แนะนำว่า ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ไม่เพียงจะช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของลำไส้ แต่ยังเชื่อมโยงกับการลดน้ำหนักอีกด้วย

2. ทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปในหนึ่งวัน อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ในช่วงสั้น ๆ เพราะคาร์โบไฮเดรตส่วนเกินจะย่อยสลายและจัดเก็บไว้ในร่างกายในรูปของไกลโคเจน ซึ่งส่งไปยังเซลล์กล้ามเนื้อพร้อมกับน้ำ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นกระบวนการธรรมชาติและจำเป็นอย่างยิ่ง

3. สถานะความชุ่มชื้น มีผลกระทบอย่างมากต่อน้ำหนักขึ้นหรือลงชั่วคราวในแต่ละวัน ทั้งการขาดน้ำมีส่วนทำให้ไตทำงานหนักและการดื่มน้ำมากเกินไปก็ไม่ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ แต่ส่งผลให้การขับปัสสาวะของไตถึงขีดจำกัดจนเกิดอาการบวมน้ำ

4. ทานโซเดียมมากเกินไป American Heart Association (AHA) อธิบายว่าเมื่อมีปริมาณโซเดียมมากเกินไปในกระแสเลือดจะส่งผลให้ร่างกายจะทำการกักเก็บน้ำเข้าสู่หลอดเลือดมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

ไม่เพียงแต่จะทำให้น้ำหนักขึ้นชั่วคราวเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงอีกด้วย โดยร่างกายคนเราสามารถรับปริมาณโซเดียมได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

5. เข้าใกล้ช่วงมีประจำเดือน ก่อให้เกิดฮอร์โมนของร่างกายแปรปรวนและไม่สมดุล ดร.เมโลดี โควิงตัน แพทย์หญิงที่ Abundant Health and Vitality กล่าวว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มน้ำหนักได้ง่ายกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงต้องการมวลไขมันที่สูงกว่าผู้ชาย เพื่อรองรับการควบคุมฮอร์โมนตามปกติและการตั้งครรภ์

ทางด้าน Mayo Clinic กล่าวว่า กลไกการกักเก็บน้ำก่อนมีประจำเดือนอาจเกิดจากความผันผวนของฮอร์โมน ซึ่งอาการท้องอืดเป็นเรื่องปกติ แต่อาจบอกเป็นนัยว่าคุณมีน้ำหนักเกิน

6. การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีปริมาณแคลอรีและน้ำตาลหลายช้อนชา อีกทั้งการทานอาหารช่วงระหว่างการดื่มยังทำให้สามารถบริโภคอาหารในปริมาณที่เยอะมากขึ้น

ซึ่งแอลกอฮอล์ใช้เวลานานกว่าที่ร่างกายจะกำจัดออก เมื่อเทียบกับอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังสามารถเกิดภาวะขาดน้ำได้อีกด้วย

7. ออกกำลังอย่างหนักหน่วง ทำให้มวลกล้ามเนื้อ เกิดการขยายตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งในบางครั้งร่างกายอาจลดปริมาณไขมันและแทนที่ด้วยกล้ามเนื้อ

8. ทานอาหารมื้อสุดท้ายช้ากว่าปกติ ยิ่งทานใกล้เวลานอนเท่าไหร่ โอกาสที่ร่างกายจะนำอาหารมาเผาผลาญเป็นพลังงานก็น้อยลงเท่านั้น

ดร.เมโลดีกล่าวว่า “อาหารที่ทานตอนกลางคืนมักถูกเก็บเป็นไขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของอาหารที่ทานในตอนเย็นเพราะคนเรามักจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว”

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขบนตราชั่งนั้นไม่สำคัญ จอร์จี เฟียร์ ผู้เขียน Lean Habits for Lifelong Weight Loss กล่าว “สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ว่าน้ำหนักของคุณจะผันผวนในแต่ละวัน แต่ไม่ได้หมายความว่ากลยุทธ์การลดน้ำหนักของคุณล้มเหลว”

“การเผาผลาญไม่มีวันหยุด ดังนั้น ร่างกายจึงสามารถเพิ่มหรือลด ‘น้ำหนัก’ ได้ทุกเมื่อ ซึ่งการทานอาหารแคลอรีที่สูงขึ้นเป็นระยะเวลาสองวัน เมแทบอลิซึมจะเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชย ดังนั้น ไขมันจะไม่ถูกสร้างและจัดเก็บในทันที”

“ตรงข้ามกับการทานอาหารน้อยเกินไปเป็นเวลาสองสามวัน ระบบเผาผลาญของคุณจะช้าลง เพื่อชดเชยให้แก่ร่างกาย ก่อนที่จะน้ำหนักลดลง”

ขอบคุณที่มาจาก The Sun Womenshealthmag

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน