เช็ก 4 อาการโรคอะเฟเซีย ภาวะสูญเสียการสื่อสาร เสี่ยงสมองอัมพาต แจงสาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน ใครเข้าข่าย?

บรูซ วิลลิส นักแสดงแอคชั่นชื่อดัง ประกาศอำลาวงการฮอลลีวูดและยุติบทบาทนักแสดงอย่างเป็นทางการ เหตุป่วยเป็นโรคอะเฟเซียหรือภาวะบกพร่องทางการสื่อความ ดังนั้น ทางทีมข่าวสดจะขอไขข้องข้องใจต่อภาวะโรงดังกล่าว ทั้งสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษา

ตามรายงานของพบแพทย์ โรคอะเฟเซีย (Aphasia) หรือภาวะบกพร่องทางการสื่อความ หมายถึง ภาวะผิดปกติทางการสื่อสาร ซึ่งมักเป็นผลมาจากสมองได้รับความเสียหายจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตก การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ รวมถึงผ่าตัดสมอง

ในบางรายอาจจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติในด้านทักษะของการสื่อสารและการใช้ภาษา ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ อาจมีความบกพร่องในการเขียน, การอ่าน, การวาดรูป, ความทรงจำ, การเคลื่อนไหว และการคำนวณร่วมด้วย ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) มีหลายระดับ โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ซึ่งในแต่ละรูปแบบจะมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกันออกไป

1. ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้ (Wernicke’s Aphasia) กลุ่มอาการนี้เกิดจากส่วนกลางของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยพูดได้ปกติ แต่ไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด ไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง มีแนวโน้มที่จะพูดประโยคยาว ๆ หรือประโยคที่ซับซ้อนติดต่อกันโดยไม่มีความหมาย มักใช้คำที่ไร้สาระ, คำฟุ่มเฟือย, ใช้คำไม่ถูก และไม่ทราบว่าผู้อื่นไม่เข้าใจ

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่ไม่สามารถสื่อสารได้ ( Broca Aphasia) กลุ่มอาการนี้เป็นผลมาจากส่วนหน้าของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย ส่งผลให้มีปัญหาด้านการสื่อสารโดยเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ดีกว่าการพูดสื่อสารออกไป ผู้ป่วยจะสื่อสารได้แค่ประโยคสั้น ๆ พูดไม่จบประโยค อาจลืมคำบางคำ และไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ทั้งหมด รู้สึกผิดหวังหรือไม่พอใจหากผู้อื่นไม่เข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการจะสื่อ มีอาการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตในซีกขวา

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความ แบบ Conduction ผู้ป่วยมีความเข้าใจและสามารถใช้ภาษาได้ดีทั้งการพูดและการเขียน พูดได้คล่อง แต่ไม่สามารถพูดตามได้หรือหากพูดตามจะพูดผิด








Advertisement

ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Global กลุ่มอาการนี้เป็นผลจากสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหายทั้งส่วนหน้าและส่วนกลาง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาทั้งการสื่อสารและการรับสาร ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ มีอาการของภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้และไม่ได้รวมกัน

สาเหตุของโรคอะเฟเซีย (Aphasia) ภาวะบกพร่องทางการสื่อความเป็นผลมาจากการที่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย ทำให้การลำเลียงเลือดเข้าสู่ในบริเวณดังกล่าวถูกขัดขวางจนทำให้เนื้อสมองตายในที่สุด

ซึ่งโรคอะเฟเซีย (Aphasia) อาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน หลังเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะสมองขาดเลือด การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะอย่างรุนแรง การเข้ารับการผ่าตัดสมอง นอกจากนี้ ในบางรายอาการอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยสาเหตุอาจมาจากเนื้องอก การติดเชื้อในสมอง โรคทางระบบประสาท หรือภาวะเสื่อมถอยของสมองอย่างโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

โรคอะเฟเซีย (Aphasia) แบบชั่วคราวมักมีสาเหตุมาจากอาการไมเกรน อาการชัก หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตกหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต ตามข้อมูลจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของสหราชอาณาจักร ภาวะสูญเสียการสื่อความสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักพบในผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองและภาวะทางระบบประสาทที่ก้าวหน้ามักส่งผลต่อผู้สูงอายุ

ภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) รักษาได้หรือไม่
สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วยภาวะเสียการสื่อภาษา (Aphasia) จะใช้การบำบัดทางการพูดและภาษาเป็นหลัก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยฟื้นฟูความสามารถด้านการใช้ภาษาและเสริมทักษะการสื่อสาร โดยผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสุขภาพทั่วไป ระดับความผิดปกติของการใช้ภาษา ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ และทักษะทางสังคมก่อนเข้ารับการบำบัดจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

การบำบัดดังกล่าวมีทั้งการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ การทำกลุ่มบำบัด และการทำครอบครัวบำบัด โดยในขั้นตอนของการบำบัด แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะฝึกหรือทบทวนการใช้คำ, ใช้ประโยคที่ถูกต้อง, การพูดทวน, ใช้การวาดภาพ, ท่าทาง และการถามตอบที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย

สำหรับบางคนมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เช่น เครื่องช่วยการสื่อสารด้วยเสียง (VOCA) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการบำบัดจะได้ผลที่ดีที่สุดเมื่อเริ่มทันทีหลังจากที่ร่างกายและสมองเริ่มฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บจนอยู่ในอาการที่ปลอดภัย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอะฟาเซีย เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการสื่อสารจึงอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะด้านความสัมพันธ์ การทำงาน หรือการทำกิจกรรมในแต่ละวัน อีกทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย หดหู่ ในบางกรณีอาจนำไปสู่การแยกตัว ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารได้ตามปกติ

การป้องกันโรคอะเฟเซีย การลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคอะฟาเซียสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสมองและดูแลสุขภาพของสมองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ
  • งดการสูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น
  • ควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนโลหิต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • หากสงสัยว่ามีอาการของภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด รวมถึงหากมีภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเช่นกัน

ขอบคุณที่มาจาก NHS พบแพทย์ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน