เด็กกรุงมุ่งบูโด ซ่อมโพรงนกเงือก

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

เด็กกรุงมุ่งบูโด ซ่อมโพรงนกเงือก – ที่บ้านนาเนเจอร์สคูล เด็กๆ ใช้วันหยุดเรียนรู้โลกกว้าง ธรรมชาติ สรรพสัตว์ วิชาธรรมชาติอันหลากหลาย โดยมี ครูเกรียง เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ชักชวนให้เรียนรู้ร่วมกัน ปิดเทอมที่ผ่านมามีโอกาสดีได้เดินทางลงใต้มุ่งสู่ดินแดนนกเงือกที่เทือกเขาบูโด จังหวัดนราธิวาส

ด.ช.ปัน ปัณฑา

ไปด้วยใจแม้ไกลแค่ไหนก็ไปจนถึง เด็กๆ ตั้งใจมาช่วยซ่อมโพรงรังให้นกเงือกในฤดูกาลซ่อมแซมโพรงรัง ปี 2562 เป็นอาสาสมัครรุ่นจิ๋วที่สุดของทีมซ่อมรังนกเงือกที่บูโด

โพรงรังเบอร์ 5 อยู่บนชั้น 5 ของน้ำตกปาโจ อุทยานแห่งชาติบูโดสุไหงปาดี เป็นโพรงรังแรกที่ซ่อมแซมในปีนี้ เด็กๆ ได้รับเกียรติในภารกิจเพื่อนกเงือก

บนชั้น 5 น้ำตกปาโจ

ปีนี้นกเงือกไม่มาใช้บริการโพรงรังเบอร์ 5 เพราะโพรงทรุด ต้องใช้ดินถมพื้นโพรงจนมีระดับเหมาะสมที่นกเงือกจะรับอาหารและขับถ่ายออกมาภายนอกได้สะดวก วิธีการไม่ยากแต่หวาดเสียวเล็กน้อย คือขุดดินจากพื้นใส่กระสอบส่งขึ้นไปบนต้นไม้ที่ความสูง 22 เมตร และทำงานอยู่บนเส้นเชือกตลอดเวลา

ก๊ะนูรีฮันดูแลเด็กๆ อย่างดี

นูรีฮัน ดะอูลี สาวแกร่งหนึ่งเดียวในทีมงานปีนต้นไม้ซ่อมโพรงนกเงือก กล่าวถึงเด็กๆ อย่างชื่นชมว่าเด็กๆ พร้อมเรียนรู้ แนะนำอะไรก็พร้อมจะเข้าใจและกระตือรือร้นช่วยเหลือเราเต็มที่

ประเทศไทยของเรามีโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ทำงานมายี่สิบกว่าปี มีองค์ความรู้ต่างๆ มากมายที่จะช่วยเหลือนกเงือก ที่สำคัญที่สุดคือการดูแลโพรงรังซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติ ในขณะที่ต้นไม้ใหญ่ๆ ที่มีโพรงก็ยิ่งหายากขึ้นทุกวัน

พื้นโพรงทรุดต้องถมดิน

บนเขาบูโดมีนกเงือกหายากอยู่ถึง 6 ชนิด จาก 13 ชนิดที่มีในประเทศไทย บางชนิดมีความเสี่ยงสูงใกล้สูญพันธุ์ ความเสี่ยงนั้นไม่ใช่การล่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือก หากนกถูกคนรบกวน มีการตัดไม้ มันจะออกลูกขยายพันธุ์ได้อย่างไร

นกเงือกเป็นสัตว์ที่ระมัดระวังตัวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูทำรัง จึงสามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาได้ยาวนานจนถึงปัจจุบัน ที่เขาบูโดมีนกเงือกหัวหงอกที่สืบสายพันธุ์เก่าแก่ถึง 47 ล้านปี ในขณะที่นก ชนหินก็เก่าแก่ถึง 45 ล้านปี เป็นสมบัติทางธรรมชาติที่มีค่ายิ่งของเทือกเขาแห่งนี้

ปีนสูงเป็นครั้งแรกของรุ่นจิ๋ว

บุ๊น ..ธรรมบุญ อุยยานนวาระ มีความฝันอยากซ่อมรังให้ นกชนหิน แต่ครั้งนี้ได้ซ่อมรังนกกกเบอร์ 5 ก็พอใจแล้วเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นโพรงรังนกเงือก ไม่คิดว่ามันจะใหญ่มาก คนเข้าไปอยู่ข้างในได้ ตื่นเต้นครับ

ส่วน ปัน ..ปัณฑา พวงสมบัติ รู้สึกทึ่งกับนกเงือกเช่นเดียวกันมันมหัศจรรย์มากครับ นกเงือกตัวใหญ่ๆ เข้าไปอยู่ในโพรงที่ถูกปิดเหลือแค่ช่องเล็กๆ ได้ อยู่นานตั้งสามสี่เดือน เลี้ยงลูกในนั้น สุดยอดเลยครับ

บุ๊นเริ่มปีน

ในแต่ละปีนกเงือกขนาดใหญ่อย่างนกกก นกเงือกหัวแรด นกเงือกกรามช้าง และนกชนหิน ทำรัง ฟักไข่ ได้ลูกครั้งละ 1 ตัว ในขณะที่นกเงือกขนาดเล็กลงมา เช่นนกเงือกปากดำและนกเงือกหัวหงอก อาจจะมีลูกได้ 2-3 ตัวเพราะมีผู้ช่วยเลี้ยง

ห้องเรียนบนภูเขา

ปีนี้นกเงือกที่เทือกเขาบูโดทำรัง 45 โพรง สำเร็จได้ลูก 31 ตัว และมีนกเงือกเพิ่มขึ้นมากกว่า 600 ตัวแล้วในระยะเวลาที่ผ่านมา

ได้มาเห็นกับตา ลงมือทำด้วยตนเอง เด็กๆ จึงรู้ว่าการซ่อมแซมโพรงรังให้พร้อมใช้งานมีประโยชน์กับนกเงือกแค่ไหน หากเราทำอะไรด้วยความรู้ความเข้าใจ ต่อเนื่อง จริงจัง ย่อมเห็นผล อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับนกเงือกที่นี่ ประสบการณ์ครั้งนี้คุ้มค่าและน่าจดจำ เด็กๆ ตั้งความหวังจะกลับมาที่บูโดอีกครั้ง

ฝึกหัดบันทึก

บูโดอยู่ไกลมาก การที่เด็กๆ เดินทางมาถึงและทำกิจกรรมต่างๆ แปลว่าอยากจะช่วยนกเงือกจริงๆ ติดตามภารกิจเพื่อนกเงือกของเด็กๆ บ้านนาเนเจอร์สคูล ในทุ่งแสงตะวัน เสาร์นี้ 9 พฤศจิกายน 2562 ตอน ฝนนี้ที่บูโด เวลา 05.05 . ทางช่อง 3 กด 33

โดย – วสวัณณ์ รองเดช

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน