“ภูปอ” ภูเขาหินทราย สูง 336 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือ มีความสูง 94 เมตรจากพื้นดิน ทอดตัวตามแนวเขา ทิศตะวันออก-ตะวันตก ไปทางทิศเหนือ อยู่ในเขตพื้นที่ อ.สหัสขันธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ส่วนฟากเขาด้านทิศใต้ เป็นเขต อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

ภูเขาหินทราย มีภูมิทัศน์สวยงาม เป็นแหล่งอาหารตามฤดูกาลของชาวบ้านในพื้นที่ในการหาของป่า อาทิ เห็ด หน่อไม้ หน่อไร่ ดอกกระเจียว แมลง ต่างๆ เป็นต้น

ภูปอ ยังมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา บริเวณเชิงเขาด้านหลัง วัดอินทร์ประทานพร ต.ภูปอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เป็นที่ตั้งของ “พุทธสถานภูปอ” มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ โบราณ 2 องค์ประดิษฐาน สลักแบบนูนสูงไว้บนผนังหินใต้เพิงผาภูปอแห่งนี้

สำหรับองค์แรกอยู่เชิงเขาชาวบ้านเรียกองค์ย่า สันนิษฐานว่าสร้างสมัยทวารวดี ส่วนองค์ที่สองอยู่สูงขึ้นไปประมาณ 80เมตร เกือบถึงยอดภูปอ ชาวบ้านเรียกองค์ปู่ พระนอนองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยหลัง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตามแบบพระนอนองค์ที่ 1 ที่อยู่เชิงเขาเป็นแบบ ผสมผสานกับพุทธศิลปะแบบสุโขทัย และทวารวดี

ส่วนตำนานพื้นบ้านเล่าถึงการสร้างพระพุทธรูปนี้ว่า สมัยโบราณมีการสมโภชองค์พระธาตุพนม หัวเมืองต่างๆ นำสิ่งของมีค่าไปร่วมงาน แต่พอถึงบริเวณภูปอ ทราบข่าวว่า มีการสมโภชองค์พระธาตุพนมพ้นไปแล้ว จึงฝังทรัพย์สมบัติต่างๆ ไว้ และสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ไว้ ณ ที่แห่งนี้








Advertisement

นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกลในความศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ช่วงวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะมีนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ เดินทางมากราบไหว้สักการบูชามิได้ขาด

นอกจากนั้น วันวิสาขะบูชา เทศบาลตำบลภูปอ ร่วมกับชุมชนในพื้นที่จะมีการจัดงานบรวงสรวง สรงน้ำ ปิดทองพระพุทธรูปปางไสยาสน์โบราณ 2 องค์ เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นพุทธบูชา

หากเมื่อนักท่องเที่ยวมาถึงพุทธสถานภูปอ ก่อนที่จะขึ้นไปสักการบูชาพระพุทธรูปปางไสยาสน์ทั้ง 2 ควรศึกษาข้อมูลก่อน ที่บริเวณลานกว้างใกล้ที่จอดรถก่อนจะขึ้นภู จะมีป้ายภาษาไทยนำเสนอข้อมูลรายละเอียดความเป็นมาเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางไสยาสน์ทั้ง 2 องค์ จัดทำโดยสำนักศิลปากรที่ 9 จ.อุบลราชธานี มีข้อความดังนี้

“จากหลักฐานการสลักหน้าผาหินเป็นภาพพระพุทธรูปปางไสยาสน์ แบบนูนสูง 2องค์ จัดอยู่ในสมัยทวารวดีและสุโขทัย ตั้งอยู่ใต้เพิงผาภูเขาหินทราย 2 แห่ง แห่งที่ 1 อยู่บริเวณเชิงเขาสูงจากพื้นดินประมาณ 5เมตร แห่งที่ 2อยู่ตอนบนเขาเหนือขึ้นไปประมาณ 80เมตร

พระพุทธรูปองค์ที่อยู่เชิงเขาตอนล่าง ประมาณว่า สร้างในพุทธศตวรรษที่ 13 ตามแบบศิลปะทวารวดีพื้นถิ่นอีสาน มีขนาดกว้าง 1.27 ม.ยาว 3.30 เมตร ลักษณะประทับนอนตะแคงขวา หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ พระพักตร์ผินไปทางทิศตะวันตก

มีวงพระพักตร์ค่อนข้างสี่เหลี่ยม พระเนตรปิด พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาใหญ่ พระรัศมีกลมนูนคล้ายลูกแก้ว พระกรซ้ายวางแนบพระวรกาย พระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวาเหลือมกันเล็กน้อย ครองจีวรห่มดองเรียบ

นอกจากนี้ช่างยังได้สลักแผ่นหินให้เป็นผ้าปูลาดรองพระองค์ มีหมอนรองหนุนพระเศียร และพระบาท รอบๆ พระวรกาย และพระเศียรสลักรูปประภามณฑล ที่เส้นกรอบนอกสลักรูปดอกไม้เป็นระยะ และที่ปลายพระบาทมีจารึกอักษร

ส่วนองค์ที่ 2 อยู่ตอนบนเขาประมาณว่า สร้างขึ้นพุทธศตวรรษที่ 18-19 ตามแบบศิลปะทวารวดีผสมศิลปะสุโขทัย เน้นส่วนสัดและมีลักษณะอ่อนช้อยกว่าองค์ที่อยู่ตอนล่าง มีขนาดกว้าง 1.50 ม. ยาว 5.20 ม. แสดงอิริยาบถนอนตะแคงขวาเช่นกัน

หนุนพระเขนยรูปสามเหลี่ยม หันพระเศียรไปทางทิศเหนือและผินพระพักตร์ไปทาง ทิศตะวันตก พระกรซ้ายวางพาดแนบไปบนพระวรกาย พระพักตร์รุบไข่ พระขนงเป็นเส้นโค้งคมยาวรับกับพระขนงเป็นเส้นโค้งคมยาวรับกับพระเนตร พระนาสิกโด่ง

พระโอษฐ์แย้ม พระกรรณยาว พระสกเป็นแบบก้นหอยขนาดใหญ่ เปลวรัศมีเป็นแบบเปลวสั้นสลักเป็นเส้นบางๆ ครองจีวรห่มดอง สลักร่องเป็นแนวสังฆาฏิพาดทับไปบนพระปฤษฎางค์ ด้านซ้ายปลายสังฆาฏิทำหยักเป็นริ้ว พระบาทซ้ายเกยพระบาทขวาแบบไม่ซ้อนกัน แนบสนิทบนแท่นบรรทม

เอกลักษณ์พระพุทธรูปสลักบนภูปอ คือการแสดงถึงวัฒนธรรมการสร้างรูปสลักหินในสมัยทวารวดีแบบพื้นถิ่นอีสาน และอิทธิพลศิลปะสุโขทัยประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-19

ผศ.ดร.สมชาติ มณีโชติ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี ม.มหาสารคาม ให้ความเห็นการสลักหินไว้ตามเพิงผาว่า สมัยโบราณยังไม่มีการสร้างวัดไว้กลางแจ้ง แต่ใช้ถ้ำ เพิงผา เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ฉะนั้นในอดีต จึงมีการใช้ถ้ำและเพิงผา ที่เทียบว่า เป็นพระอาราม หรือ วัด นั่นเอง

ดังนั้นพระพุทธรูปที่สลักไว้ตามเพิงผา หรือ สลักไว้ในถ้ำ ก็คือ พระประธาน ของสถานที่ประกอบพิธีกรรมนั้นเอง เหมือนกับที่มีพระประประธานอยู่ในสิม หรือในพระอุโบสถ ดังเช่นในปัจจุบัน

ส่วนการเดินทางมากราบสักการะพระพุทธไสยาสน์ภูปอ สามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เส้นทางการคมนาคมสะดวก ห่างจากอำเภอเมือง จ.กาฬสินธุ์ 37 กิโลเมตร ง่ายๆ ตามสมัยนิยมคือ การตั้งพิกัดเดินทางตาม กูเกิลแมพ และเมื่อมาเที่ยว “ภูปอ” เสร็จเรียบร้อยแล้ว ยังสามารถเดินทางไปสนุกต่อยังสถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอใกล้เคียงได้อีกหลายแห่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน