ทช.รับมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม 7 ขาแท่น จากเชฟรอน หลังวางเป็นปะการังเทียม บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมติดตามศึกษาโครงการอย่างต่อเนื่อง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ดำเนินการโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเชฟรอนฯ ส่งมอบขาแท่นให้กรมทะเล เป็นผู้ดูแลพื้นที่โครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เปิดเผยว่า กรมทะเล ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ดำเนินโครงการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมมาจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โครงการฯ ดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 เมื่อครั้งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ยังคงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม การจัดวางขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ได้ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้ง ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่แล้ว ทำให้สามารถมั่นใจได้ในระดับหนึ่งก่อนดำเนินการจัดวาง

ที่ปรึกษารมว.ทส.เปิดความรู้ใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมสร้างปะการังเทียม

ทั้งนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เสนอแนวทางการดำเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้รับความเห็นชอบในหลักการเรียบร้อยแล้ว

สำหรับการจัดวางขาแท่น ได้เริ่มจัดวางขาแท่นแรกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 และขาแท่นสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 โดยหลังจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้กำหนดเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine protected area) พร้อมแผนและมาตรการการบริหารจัดการพื้นที่จัดวางขาแท่นดังกล่าว

รวมทั้ง แนวทางการติดตามและศึกษาผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากการใช้ขาแท่นปิโตรเลียมในการจัดวางเป็นปะการังเทียม ซึ่งเป็นสิ่งที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำเสมอถึงผลกระทบที่อาจจะขึ้นต่อเนื่องจากโครงการฯ

ดังนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้กำหนดแนวทางการติดตามผลกระทบในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศทางทะเล เพื่อการตัดสินใจในระดับนโยบาย การต่อยอดโครงการในอนาคต และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์

สุดท้าย ตนอยากขอบคุณบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะหนึ่งในบริษัทชั้นนำในด้านการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญและความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ดีมาโดยตลอด และตนเชื่อว่าความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน จะยังเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศให้คงความสมบูรณ์ ยั่งยืน เช่นนี้ ต่อไป

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนโครงการนี้ ด้วยการส่งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วให้กับ ทช. ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านการจัดวางและงบประมาณโครงการฯ ตลอดจนจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สนับสนุนงานศึกษาวิจัยของโครงการฯ

เชื่อมั่นว่าโครงการศึกษานำร่องนี้จะสร้างองค์ความรู้ที่มีค่าด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลด้วยปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการดำเนินงานในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยตลอดระยะการดำเนินงาน เชฟรอนได้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนดกฎหมายและเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล

โดยการดำเนินโครงการนี้ ได้รับการอนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมง นอกจากนี้ เชฟรอนยังได้ทำงานร่วมกับบริษัทผู้ร่วมทุน อันได้แก่ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการดังกล่าว ที่เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นเพื่อการเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน