“ยุทธพล”ที่ปรึกษารมว.ทส.เปิดกิจกรรมให้ความรู้ใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม สร้างแหล่งปะการังเทียม จ.สุราษฎร์ธานี สร้างประโยชน์เพิ่มแหล่งปะการังใต้ท้องทะเล

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่โรงแรมบรรจงบุรี อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้ประโยชน์จากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียม จ.สุราษฎร์ธานี

โดยมีนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ตลอดจนคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวง ทส. คณะทำงานจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด อาจารย์และนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลชุมชนชายฝั่ง ประมงพาณิชย์ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวและเดินเรือ เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 600 คน

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายยุทธพล กล่าวว่า ตนได้ให้ความสนใจการใช้ประโยชน์จากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียมและได้ติดตามการดำเนินงานโครงการนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด นอกจากนี้ ตนได้หารือกับนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. รวมถึงทช. ในการกำหนดแนวทางการศึกษาและความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการดังกล่าว

อีกทั้ง ได้จับมือร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และกลุ่มนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้ข้อสรุปและนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561

โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดทำโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี (โครงการฯ)

โดยมอบหมายให้ทช. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการดังกล่าวร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอนประเทศไทย) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) เมื่อราวเดือนเมษายน พ.ศ. 2562

ในวันนี้เป็นการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และเสริมสร้างความรู้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ท้องทะเลไทย อย่างไรก็ตาม การนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่นไปจัดวางเป็นปะการังเทียม จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศทางทะเล สร้างที่อยู่อาศัยและแหล่งหลบภัยของสิ่งมีชีวิตวัยอ่อน ซึ่งการนำขาแท่นหลุมผลิต มาใช้ทำปะการังเทียมนั้น มีการดำเนินการในหลายพื้นที่ทั่วโลก

นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)

สำหรับประเทศไทยเอง มูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาการใช้โครงสร้างเหล็กชนิดเดียวกับขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียมในบริเวณพื้นที่อ่าวโฉลกหลำเกาะพะงัน และพบว่ามีความเหมาะสมในการเข้าอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆ

“อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวที่สามารถเป็นแหล่งดำน้ำและการประมง สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีรวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้”

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ได้มีการริเริ่มศึกษาความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ในสมัยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และพัฒนาการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง

ทาง ทช. จะร่วมดำเนินงาน ติดตามประเมินและดูแลพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่เชฟรอนประเทศไทย จะส่งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วจำนวน 7 ขาแท่น ให้แก่ ทช. เพื่อนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม

รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการฯ นอกจากนี้ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาทางวิชาการด้านกายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่ และการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ขาแท่นที่นำมาจัดวางนั้น มีลักษณะที่คงทน แข็งแรง ทำจากเหล็กกล้า (carbon steel) ไม่มีส่วนใดสัมผัสกับปิโตรเลียมมาก่อน จึงไม่มีการปนเปื้อนของคราบน้ำมันตกค้าง

สำหรับพื้นที่การจัดวางปะการังเทียมตั้งอยู่ห่างจากเกาะพะงันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 7.5 ไมล์ทะเล และมีระยะห่างจากหินใบไปทางตะวันออกประมาณ 7.8 ไมล์ทะเล ซึ่งกองปะการังเทียมจากขาแท่นฯ มีขนาดเพียง 0.05 ตารางกิโลเมตร ที่ระดับความลึกของน้ำประมาณ 38.5–39.5เมตร โดยมีระยะห่างระหว่างมียอดกองถึงผิวน้ำมากกว่า 15 เมตร

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)

“โดยจะเริ่มจัดวางในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ และ ได้แบ่งการดำเนินงานศึกษาติดตามออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจะใช้เวลา 2 ปี เพื่อศึกษาผลด้านกายภาพ ชีววิทยา นิเวศวิทยา ส่วนระยะที่สอง จะใช้เวลา 4 ปี ในการติดตามต่อเนื่องจากระยะแรกเพื่อเก็บข้อมูลสิ่งมีชีวิตที่เข้ามาอยู่อาศัยในแนวปะการัง และการเข้าใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย”

อย่างไรก็ตาม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน