ทุกวันนี้ แทบไม่มีใครไม่รู้จัก “เอ็มเค สุกี้” ขวัญใจคนไทยทุกเพศทุกวัย เพราะไม่เพียงมีเกือบ 500 สาขากระจายตัวทั่วทุกทิศประเทศไทย แต่ยังขึ้นชื่อเรื่องเมนูสุกี้ที่หลากหลาย พร้อมขยันออกโปรโมชั่นเด็ดโดนใจเป็นระยะ อีกทั้งที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยจำแบรนด์ “เอ็มเค สุกี้” ได้แม่น ก็เพราะลวดลายการแดนซ์ของพนักงานเอ็มเคที่ออกมาเต้นเอนเตอร์เทนลูกค้า จนกลายเป็นกระแสสนั่นโซเชียลอยู่ช่วงหนึ่ง กว่าจะมาเป็นสุกี้หมื่นล้านอย่างทุกวันนี้ ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้ง “เอ็มเค สุกี้” ก็ต้องงัดทุกกลยุทธ์ออกมาสู้ศึกการแข่งขัน ควบคู่กับความอดทน มุ่งมั่น พร้อมมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ กระทั่งพาธุรกิจทะยานขึ้นสู่เบอร์หนึ่งตลาดสุกี้เมืองไทย

แถมฤทธิ์ยังติดอันดับที่ 19 ใน 50 อันดับมหาเศรษฐีไทย ปี 2563 จัดโดยนิตยสารฟอร์บส (Forbes) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินราว 5.39 หมื่นล้านบาท อีกด้วย

@ “เอ็มเค สุกี้” มีวันนี้เพราะแม่ยาย

จะว่าไปแล้ว ชื่อ “เอ็มเค” ไม่ได้เกี่ยวพันกับชื่อของฤทธิ์เลยด้วยซ้ำ เพราะ “เอ็มเค” มาจากชื่อ มาคอง คิง ยี (Makong King Yee) เศรษฐินีชาวฮ่องกงที่มาเปิดร้านอาหารไทยย่านสยามสแควร์ โดยมี ทองคำ เมฆโต เป็นแม่ครัว วันหนึ่งเมื่อมาคอง คิง ยี ตัดสินใจเลิกกิจการในปี 2505 เพราะจะย้ายไปตั้งรกรากที่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทองคำจึงนำเงินที่เก็บหอมรอมริบไปซื้อต่อกิจการร้านอาหารของมาคอง คิง ยี

ความขยันและอดทนของทองคำ บวกกับฝีมือการทำอาหารที่ไม่เป็นสองรองใคร ทำให้ “เอ็มเค” ภายใต้การดูแลของทองคำเติบโตอย่างรวดเร็ว กระทั่งปี 2527 ก็สามารถขยายสาขาเข้าไปในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยใช้ชื่อใหม่ว่า “กรีน เอ็มเค”

อายุที่มากขึ้นของทองคำ ประกอบกับธุรกิจร้านที่กำลังไปได้สวย ยุพิน ลูกสาวของทองคำจึงเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของผู้เป็นแม่ ฤทธิ์ สามีของยุพินเลยเข้ามาแท็กทีมช่วยกันทำให้ “กรีน เอ็มเค” เป็นร้านอาหารที่คนบอกต่อมากขึ้น วันหนึ่ง สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารเซ็นทรัลขณะนั้น เห็นถึงความขยันขันแข็งของสองสามีภรรยา ที่ถึงร้านจะเปิดช่วงสาย แต่ทั้งคู่กลับมาเตรียมความพร้อมต่างๆ ตั้งแต่เช้า กว่าจะกลับก็ค่ำมืด สัมฤทธิ์ที่ต้องการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าของห้างได้รับประทานอาหารแปลกใหม่ จึงเอ่ยปากชักชวนให้ยุพินกับฤทธิ์เปิดร้านสุกี้ในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว

ทองคำและยุพินมองเห็นโอกาสในการเติบโต จึงตอบรับคำเชื้อเชิญของสัมฤทธิ์ แต่สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ กลับไม่เห็นด้วย เนื่องจากคิดว่าการทำร้านสุกี้นั้นเสี่ยงเกินไป ควรจะเน้นที่ร้านอาหารไทยที่เป็นความถนัดของครอบครัวมากกว่า แม้จะมีคำทัดทานดังเข้าหูอยู่เรื่อยๆ แต่ทองคำและยุพินเชื่อมั่นว่าต้องทำได้ ท้ายสุด ฤทธิ์ บัณฑิตวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ ที่เคยผันตัวไปเป็นผู้บริหารร้านหนังสือ จึงเข้าร่วมทัพใหญ่ ปั้นธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นให้ได้

ร้าน “เอ็มเค สุกี้” จึงถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2529 และโตไม่หยุดมาถึงทุกวันนี้








Advertisement

@ สร้างจุดแข็งด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

คำว่า “นวัตกรรม” ฟังแล้วชวนให้นึกถึงเทคโนโลยีหรือวิทยาศาสตร์ล้ำๆ แต่ก็ไม่ทั้งหมดเสียทีเดียว
เพราะอะไรที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือจุดอ่อน ทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น แม้จะเป็นเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่สิ่งนั้นก็สามารถจัดอยู่ในหมวดนวัตกรรมได้เหมือนกัน (อย่างนมข้นหวานหรือน้ำจิ้มไก่ที่พอไปอยู่ใน “หลอดบีบ” ก็ทำให้ชีวิตผู้บริโภคง่ายขึ้นเยอะ)

ฤทธิ์เป็นคนให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างมาก เขาเห็นว่านอกจากตัวสินค้าที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจแล้ว ก็จำเป็นต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างประโยชน์ให้ลูกค้าและองค์กรมากที่สุด ยกตัวอย่าง “เตาไฟฟ้า” ที่ฤทธิ์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าสมัยเรียนมหาวิทยาลัยมาออกแบบ แล้วเอามาใช้แทนเตาแก๊สเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุแก๊สระเบิดจนเป็นอันตรายต่อลูกค้า “ถาดคอนโด” ที่เขาเปลี่ยนจากจานมาเป็นถาดวางซ้อนสูงได้หลายชั้น ช่วยประหยัดพื้นที่บนโต๊ะอาหาร

หรือจะเป็น “พีดีเอ” (PDA) สำหรับให้พนักงานรับออร์เดอร์แล้วส่งเข้าระบบได้ทันที ไม่ต้องถือกระดาษจดออร์เดอร์เดินไปส่ง รวมถึง “ระบบสั่งอาหารแบบหน้าจอสัมผัส” ให้ลูกค้าสั่งอาหารได้เองเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ยังไม่นับระบบหลังบ้านที่ฤทธิ์นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการธุรกิจให้เดินหน้า รักษาความเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดสุกี้

@ ครองตลาดทุกกลุ่มเป้าหมาย

เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ไม่ได้มีเฉพาะ “เอ็มเค สุกี้” ที่เน้นกลุ่มลูกค้าครอบครัวและเพื่อนฝูงเท่านั้น แต่ยังมี “เอ็มเค ไลฟ์” เจาะกลุ่มลูกค้าเจนวายหรือกลุ่มคนวัยทำงาน ตกแต่งร้านให้ดูมีชีวิตชีวา

“เอ็มเค โกลด์” เมนูและบริการต่างๆ เหมือนร้านเอ็มเค สุกี้ แต่วัตถุดิบและอาหารจะเป็นระดับพรีเมียม ตกแต่งร้านให้ดูหรูหรา ตอบโจทย์กลุ่มคนมีรายได้ค่อนข้างสูง

นับถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 ทั้ง 3 แบรนด์มีสาขารวมกันทั้งหมด 463 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 250 สาขา คิดเป็น 54% และกระจายตัวอยู่เหนือใต้ออกตกอีก 213 สาขา หรือ 46%
เรียกได้ว่าถ้าเป็นธุรกิจสุกี้แล้ว เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ครองตลาดครบ จบทุกกลุ่มเป้าหมาย แถมยังขยายไปเปิดในตลาดเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และเวียดนาม แล้วยังข้ามไปบุกญี่ปุ่นด้วยจำนวนกว่า 30 สาขา ขณะเดียวกัน เมื่อธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยได้รับความนิยมไม่หยุด เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ก็ขอกระโดดเข้าไปร่วมวง ด้วยการตั้งบริษัทย่อยทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ” เสิร์ฟอาหารจานเดียวและแบบเซ็ต “ฮากาตะ” มีเมนูหลักเป็นราเมนและเกี๊ยวซ่า และ “มิยาซากิ” ขายอาหารประเภทกระทะร้อน

ในจำนวนอาหารญี่ปุ่น นับถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 “ยาโยอิ” มีสาขามากสุดคือ 196 สาขา มีสัดส่วนตลาดต่างจังหวัด 115 สาขา หรือ 59% ส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมี 81 สาขา หรือ 41%
ตัวเลขสาขาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้ตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยจะมีผู้เล่นมากมาย แต่ส่วนมากก็มักกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ขณะที่ “ยาโยอิ” เลือกจะแตกต่างด้วยการเจาะกลุ่มตลาดต่างจังหวัด ที่ต้องการรับประทานอาหารญี่ปุ่นคุณภาพดีในราคาเข้าถึงได้ ส่วนอาหารไทยที่เป็นธุรกิจแรกเริ่ม ฤทธิ์ก็มี “ณ สยาม” เน้นลูกค้ารายได้ระดับกลางถึงสูง และ “เลอ สยาม” เจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ต้องการลิ้มลองรสชาติแสนอร่อยของอาหารไทย “บิซซี่ บ็อกซ์” ร้านข้าวกล่องแบบเน้นซื้อกลับ รวมทั้งมีร้านขนมและเครื่องดื่ม “เลอ เพอทิท” และ “เอ็มเค ฮาร์เวสต์”

ไม่พูดถึงไม่ได้ คือดีลใหญ่ของบริษัทช่วงปลายปี 2562 ที่ทุ่มงบ 2,060 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นร้านอาหารทะเลชื่อดัง “แหลมเจริญ ซีฟู้ด” ซึ่งขณะนั้นมีเกือบ 30 สาขา เพื่อสร้างการเติบโตและขยายธุรกิจของบริษัทให้เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

อย่างที่บอกว่าฤทธิ์ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จึงมีบริษัทลูกด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) และในปี 2561 ยังลงเงิน 1,750 ล้านบาท ร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์เบอร์ 2 ของญี่ปุ่น ตั้ง “เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์” บริษัทที่ทำธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรในไทย หากถามเหตุผลว่าทำไมฤทธิ์ถึงตัดสินใจข้ามห้วยไปลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน คำตอบน่าจะเป็นวิสัยทัศน์ที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“เราในฐานะผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น”

@ เปิดฝาหม้อ ส่องรายได้สุกี้หมื่นล้าน

เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ขึ้นแท่นรายได้หมื่นล้านมาหลายปีดีดัก ดูจากผลประกอบการได้ตามนี้
ปี 2560 มีรายได้รวม 16,457 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,424 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้รวม 17,233 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,573 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้รวม 17,870 ล้านบาท สุทธิ 2,603 ล้านบาท

ถ้าแบ่งสัดส่วนรายได้คร่าวๆ ของบริษัทในปี 2562 “เอ็มเค สุกี้” ปั้นรายได้มากถึง 78% ตามด้วย “ยาโยอิ” 20% และอื่นๆ อีก 2% ส่วนรายได้รวมปี 2563 อยู่ที่ 13,655.26 ล้านบาท มีกำไรสุทธิที่ 907.37 ล้านบาท และถ้านับถึงวันที่ 19 มีนาคมปีนี้ เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 52,720.27 ล้านบาท

สาเหตุที่ทำให้ เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป รายได้หาย กำไรหด ไม่ต้องบอกก็คงเดากันออกว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะ “โควิด-19” ที่กระทบทุกธุรกิจแทบจะถ้วนหน้า เมื่อธุรกิจหมื่นล้านที่ช่องทางหลักของรายได้คือการรับประทานในร้าน สวนทางกับ “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดในปี 2563 ฤทธิ์จึงต้องนำทัพปรับกลยุทธ์แทบจะทุกรูปแบบ

ปีที่แล้ว เราจึงเห็น “เอ็มเค สุกี้” จัดหนักโปรโมชั่นผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ อย่าง “เมนูเป็ด 1 แถม 1” ระหว่างวันที่ 23-29 มีนาคม ทำเอาคนที่รู้ข่าวแห่สั่งเป็ดย่างเอ็มเคกันจนออร์เดอร์ล้น ต้องปิดรับออร์เดอร์ชั่วคราว แถมยังทำสถิติใหม่ด้วยการจัดส่งเป็ดย่างให้ลูกค้ากว่า 1 แสนจานภายในวันเดียว

“เอ็มเค สุกี้” ยังเลี้ยงกระแสเดลิเวอรี่ต่อเนื่อง ด้วยการออกโปรโมชั่น “สั่งสุกี้ฟรีหม้อ” ในเดือนเมษายน เรียกเสียงฮือฮาจากสุกี้เลิฟเวอร์ทั่วประเทศ จนสินค้าหมดก่อนกำหนด

ขณะเดียวกัน บริษัทก็ควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย ด้วยการชะลอการลงทุนเปิด “เอ็มเค สุกี้” และ “ยาโยอิ” สาขาใหม่ พร้อมกับเน้นสาขาที่ทำกำไร เพื่อปั้นรายได้ช่วงวิกฤต เพราะฉะนั้น แม้รายรวมปี 2563 จะตกลงจากปีก่อน แต่อย่างน้อย เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ภายใต้การนำของฤทธิ์ก็ยังพอประคองตัวได้ ไม่เจ็บหนักจนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ
_____________

อ้างอิงข้อมูลจาก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
รายงานประจำปี บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป
https://www.mkrestaurant.com/th
http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=07020010658&srcday=&search=no
https://www.prachachat.net/asian-100/news-257304
https://www.prachachat.net/marketing/news-499500

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน