วิกฤตโควิดหลายระลอกสร้างผลกระทบวงกว้าง หลายธุรกิจสารพัดอาชีพ ลงถึงจุดดำดิ่ง รอความหวังว่าให้ทุกอย่างฟื้นกลับมาเป็นปกติ แม้มีมาตรการเยียวยา เงินช่วยเหลือ แต่ก็ไปไม่ถึงผู้เดือดร้อนทุกวงการ อย่างอาชีพพนักงานผสมเครื่องดื่มประเภทเหล้าหรือค็อกเทล หรือ “บาร์เทนเดอร์” ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เจ็บหนักเบอร์ต้น ๆ ของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่ถูกสั่งปิด เพราะเป็นกลุ่มที่สั่งห้ามดำเนินกิจการก่อนใคร มีพื้นที่ส่งเสียงขอความช่วยเหลือน้อยกว่าใคร กระทั่งเสียงเหล่านั้นถูกลืมไปจากสายตาของภาครัฐอย่างสิ้นเชิง แม้ล่าสุดจะมีประกาศว่ารัฐบาลจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ธุรกิจผับ บาร์ สถานบันเทิงเปิดหรือไม่ภายในวันที่ 1 ธ.ค. แต่ก็ยังไม่ชัดเจน และกว่าจะไปถึงวันนั้น พวกเขาก็ลมหายใจรวยรินเต็มที

กว่า 1 ปี แห่งความเงียบเหงา

เสียงสะท้อนอันเจ็บปวดของ “เดปนพป์เศรษฐ์ หิรัญวาทิต ซีเนียร์ บาร์เทนเดอร์ จากร้านแรบบิท โฮล (Rabbit Hole) ค็อกเทล บาร์ชื่อดังย่านทองหล่อ ผู้คร่ำหวอดในอาชีพนานกว่า 10 ปี อีกทั้งมีรางวัลการันตีความสามารถมากมายทั้งระดับเอเชียและระดับโลก เล่าว่า นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรก มีการสั่งปิดผับบาร์ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งกินเวลากว่า 1 ปีครึ่ง ในช่วงก่อนที่จะถูกสั่งปิด ตนเองก็แต่งตัวไปทำงานตามปกติ แต่แล้วรัฐบาลมีคำสั่งปิดโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทำให้พนักงานหลายคนตั้งรับไม่ทัน ไม่รู้จะไปทำอะไรต่อ หลายคนต้องกลับต่างจังหวัด หรือถึงขั้นต้องเปลี่ยนอาชีพ เพราะความหวังที่ผับ-บาร์จะกลับมาเปิดได้อีกครั้งแทบจะริบหรี่แล้ว

ส่วนเงินเยียวยาได้จากประกันสังคม 5 พันบาทเท่านั้น แต่กว่าจะได้มาต้องแข่งขันลงทะเบียน ทั้ง ๆ ที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับ อีกทั้งต้องมีการตามเรื่องซ้ำหลายครั้งกว่าจะได้มา แถมยังได้ล่าช้ากว่าคนทำอาชีพอื่น ทำให้ตอนนั้นตนเองเครียดหนักมากกับชีวิต เพราะไม่รู้จะทำอะไรต่อไป หรือแม้กระทั่งหากมีคำสั่งปิดยืดเยื้อยาวนานจะทำอย่างไรต่อไป

ทำงานมานาน มองว่าอาชีพนี้ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ ต้องใช้ทักษะกว่าจะได้เงิน สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ แต่เมื่อเกิดโรคโควิด-19 ทำให้ตั้งรับไม่ทัน กระทั่งเจอระลอก 2 ระลอก 3 จนไม่ไหวแล้ว เพราะมาตรการล็อกดาวน์ที่ปิดร้านอาหารจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การเยียวยาจากภาครัฐก็ไม่มี ได้เพียงจากประกันสังคมเท่านั้น หนำซ้ำเงินเหล่านั้นก็มีไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือภาระที่มีอยู่ ทางร้านเองก็ไม่สามารถจุนเจือพนักงานได้นาน เพราะรายได้ที่เข้ามาก็เป็นศูนย์

ขั้นตอนในการช่วยเหลือเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม ก็มีความยุ่งยาก หลายขั้นตอน ต้องลงทะเบียนต่อคิว ต้องคอยตามเป็นระยะ ไม่อย่างนั้นก็จะพลาดโอกาสไป หรือบางครั้งก็จ่ายช้า ซึ่งเงินเยียวยา 3,000-4,000 บาทต่อเดือน ก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือภาระที่ต้องรับในแต่ละเดือน เพราะเงินที่ได้คิดเป็น 20% ของรายได้ที่เคยได้รับเท่านั้น

จากบาร์เทนเดอร์สู่พ่อค้าโดนัท

เมื่อถามถึงในช่วงที่มีคำสั่งปิดสถานบันเทิง ต้องปรับตัวอย่างไร บาร์เทนเดอร์หนุ่มตอบอย่างละเหี่ยใจว่า ในช่วงที่มีคำสั่งปิดสถานบันเทิงรอบแรกตนเองหรือเพื่อนร่วมอาชีพหลายคนต้องนำเงินเก็บที่ได้จากการทำงานในแต่ละวันมาใช้ ต้องปรับตัวเองจากเดิมที่ใช้จ่ายซื้ออาหารวันละ 100-200 บาทต่อวัน ต้องลดให้ไม่เกิน 100 บาทต่อวัน บางคนต้องกู้ยืมจากที่ต่าง ๆ เพื่อมาประคองชีวิต รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอจากรายได้ที่หายไปก็มี

โชคดีที่ในช่วงสถานการณ์ปกติ ผมมีงานเสริม ออกงานอีเวนต์ตามที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีอาชีพเสริมที่ทำอยู่ระหว่างทำบาร์เทนเดอร์ จึงพอมีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละวันได้”

แม้จะพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง แต่หากต้องจ่ายออกไปทุกวันก็หมดได้ นพป์เศรษฐ์กับแฟนที่ทำงานในร้านอาหาร ที่ถูกสั่งปิดตามมาตรการด้วยเช่นกัน จึงลองทำโดนัทขายให้เพื่อน ๆ ในเฟซบุ๊ก หรือเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ เพื่อประคองตัวเองให้รอดในสถานการณ์นี้

ขณะที่อีกหลายคนต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายที่มี ไม่ว่าจะเรื่องครอบครัว หนี้สิน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ขาดหายไปจากการสั่งปิดของรัฐ นพป์เศรษฐ์มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องหันมามองเห็นกลุ่มคนทำงานกลางคืนบ้าง เพราะธุรกิจผับ-บาร์ หรือกลุ่มธุรกิจกลางคืน พร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ได้กลับมาเดินหน้าต่ออีกครั้ง

“ทุกวันนี้ เราเตรียมพร้อมสำหรับกลับมาเปิดแทบทุกวัน ทั้งการเร่งให้พนักงานในอาชีพบริการเหล่านี้เร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 2 โดส รวมถึงการกระตุ้นด้วยเข็ม 3 มากกว่านั้น ร้านของเราหรือร้านอื่น ๆ ตอนนี้ก็เตรียมพร้อมสำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่จะลดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งมาตรการเว้นระยะห่าง เตรียมเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการ หรือแม้กระทั่งเตรียมฉีดพ่นฆ่าเชื้อภายในร้านค้า”

“เสียงที่ไม่ได้ยิน ภาพที่มองไม่เห็น”

นพป์เศรษฐ์ ยังเล่าต่ออีกว่า ที่ผ่านมาตนเองและเพื่อนร่วมวิชาชีพในกลุ่มธุรกิจกลางคืนได้รวมตัว เพื่อพยายามส่งเสียงและฉายภาพให้เห็นถึงความเดือดร้อนของกลุ่มธุรกิจบริการกลางคืนหลายต่อหลายครั้ง ทว่า เสียงที่ส่งไป ภาพที่สะท้อนไป กลับถูกเพิกเฉย มองไม่เห็น กระทั่งไม่มีแม้มาตรการใด ๆ มาช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจบริการเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย

“เราส่งเสียง เราเรียกร้องไปหลายรอบ ทำมาแล้วทุกรูปแบบ อย่างล่าสุดที่เรียกร้องผ่านโซเชียลเป็นประเด็นร้อนแรง จนเกิดแฮชแท็ก #เปิดบาร์ได้แล้วไอ้หอก ก็มีมาแล้ว แต่ยังถูกเมินเฉย ไร้เสียงตอบรับกลับมา”

พร้อมกันนี้ บาร์เทนเดอร์หนุ่ม ยังตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาธุรกิจคลับบาร์เป็นหน่วยธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ประเทศมีรายได้ เศรษฐกิจขับเคลื่อน กระทั่งเจอวิกฤตโควิด-19 คนกลุ่มนี้กลับถูกตีตกออกไปชายขอบ เมื่อไปขอความช่วยเหลือ กลับถูกเพิกเฉยและสุดท้ายเรื่องก็เงียบ ซึ่งเคยเรียกร้องตั้งแต่ช่วงการระบาดรอบแรก ขอให้เยียวยาพนักงานหากต้องปิดการดำเนินกิจการ แต่ทุกวันนี้ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว รัฐบาลไม่เคยดูแล ไม่มาลงพื้นที่ จนหลายคนเกิดความเครียด จนท้อถอยหมดความหวังไป

“ในอดีตเคยมีรายได้ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน จนมาเจอโควิดรอบแรกก็หนักอยู่แล้ว พอมารอบ 2 จากความเห็นแก่ตัวของคนไม่กี่คน ลักลอบนำแรงงานเถื่อนเข้ามา มีการระบาดในสมุทรสาคร ทำให้คิดว่าระลอก 3 ต้องมาแน่ นำไปสู่การสั่งปิดผับบาร์ แต่ไม่ปิดห้าง อยากถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือรัฐบาลว่า คนทำงานกลางคืนผิดตรงไหน ต่างกับคนประกอบอาชีพกลางวันยังไง หรือเพราะคิดว่า เป็นคนไม่เท่ากัน จึงเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างที่เห็น”

นิ

ความหวังจากผู้ถูก ลืม

จากที่ล่าสุดภาครัฐประกาศว่าจะมีการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงหรือไม่ภายในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ สิ่งที่บาร์เทนเดอร์หนุ่มอยากเรียกร้องหรือส่งเสียงมากที่สุดในตอนนี้คือ รัฐบาลควรผ่อนปรนมาตรการให้ผับบาร์และร้านกินดื่มที่มีความพร้อมด้านมาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มคนผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการปิดร้าน ให้สามารถกลับมาทำงานหาเลี้ยงชีพได้โดยสุจริต

ความต้องการของเราในเวลานี้ไม่ใช่แค่การเยียวยาจากรัฐบาลหรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การได้โอกาสกลับมาเปิดร้านตามปกติ นั่นคือความหวังของเรา เราทุกคนต่างเข้าใจว่าสถานการณ์มันแย่ แต่ด้วยระยะเวลาเกือบ 2 ปี มาแล้ว เราต้องปรับตัวและต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้

“ขอโอกาสในการเรียกร้องไปยังรัฐบาล ผ่อนปรนกลุ่มพวกเราได้แล้ว ธุรกิจกลางคืน ร้านอาหาร ร้านค้า ให้กลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติอีกครั้ง เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เกิดการติดโควิด แต่เกิดจากการไม่เว้นระยะห่างและปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม ทุกวันนี้เราพร้อมเปิดให้บริการ เราพร้อมปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเปิดให้บริการ การนำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมมาใช้ภายในร้าน การเปิดปิดตามเวลา หรือแม้แต่การลดปริมาณลูกค้าเหลือ 50% จากเดิมก็ตาม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของกลุ่มผู้ใช้บริการและประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ขอเพียงเราได้กลับมาทำงานได้เหมือนเดิม เพราะตอนนี้ทุกคนเครียด อยากให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มคนเหล่านี้บ้าง”

แต่ถึงแม้จะเจอสถานการณ์วิกฤติที่หนักหนาไม่แพ้เพื่อนร่วมวิชาชีพ บาร์เทนเดอร์หนุ่มก็ยังไม่วายฝากกำลังใจทิ้งท้าย “ขอส่งกำลังใจถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพทุกคน ถึงกลุ่มทำงานกลางคืนทุกคน ไม่ว่าอุปสรรคหรือปัญหาจะหนักหนาแค่ไหน อยากให้สู้ อยากให้อดทน เชื่อว่าเราทุกคนยังมีความหวังอยู่ อาจเป็นวันพรุ่งนี้ก็ได้ ขออย่าเพิ่งท้อ”


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน