ทส. ผนึกกำลัง GIZ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน 8 ประเทศอาเซียน ผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างคุ้มค่า เพื่อลด..จากมากกว่าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุม ร่วมกับ ดร.อุล์ฟ แย็กเคล ผู้แทนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และการป้องกันผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (GIZ) ในการเปิดประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ระดับภูมิภาคในหัวข้อ “Reduce! – From More to Better – Circular Economy for Sustainable Products in Southeast Asia (SEA)” โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมจากภูมิภาคอาเซียน รวม 8 ประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างศักยภาพในการกำหนดนโยบาย เครื่องมือ และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ตอบสนองต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน และการยืดอายุผลิตภัณฑ์ (Product Lifetime Extension : PLE) เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และป้องกันความหลากหลายทางชีวภาพ

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า การประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน ฉลากสิ่งแวดล้อมและการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ เส้นทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอาเซียน หรือ Scaling SCP , โครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย (ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และภูฎาน) (SCP Outreach) และโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) เพื่อปรับปรุงและพัฒนากรอบนโยบายการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ส่งเสริมการติดฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-labelling; EL) การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Public Procurement; GPP) และการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

โดยผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในงานได้มีการนำเสนอกรณีศึกษาของประเทศในแถบยุโรปเกี่ยวกับการยืดอายุผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมพลาสติก ผลิตภัณฑ์ ICT อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มหรือสิ่งทอ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ด้วยการนำเสนอมุมมอง 3 รูปแบบ ได้แก่ กลุ่มผู้กำกับนโยบาย กลุ่มผู้กำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง และกลุ่มฉลากสิ่งแวดล้อม เพื่อเปลี่ยนความได้เปรียบของประเทศไทยในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมในการแข่งขันผ่านนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

นายปิ่นสักก์ กล่าวอีกว่า BCG Model รวมสามด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ในความพยายามที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนหรือ SCP ประเทศไทยโดย ทส. ได้รวม SCP เข้ากับกรอบนโยบายระดับชาติต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และการลดมลภาวะ BCG Model โดยเฉพาะแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากทั่วโลก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและการกำหนดนโยบายด้านการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฉลากสิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะพลาสติก








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน