ศาลปู่ตา
ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ศาลปู่ตาไม่ใช่ศาสนสถานในพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อในวิญญาณของบรรพชนที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองให้คนในหมู่บ้านให้มีความสุข ความปลอดภัย และดลบันดาลให้พืชผลในหมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นความเชื่อของบรรพชนไทยกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ศาลปู่ตา ที่ดอนปู่ตา อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด

ศาลปู่ตาจะปลูกเป็นซุ้มศาลาเล็กๆ อยู่ในบริเวณป่านอกหมู่บ้าน บริเวณศาลปู่ตาจะเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนในหมู่บ้านให้ความเคารพเกรงกลัวในพื้นที่เขตเมืองซึ่งใหญ่โตขึ้นกว่าเขตหมู่บ้านก็จะมีศาลปู่ตาเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นผีปู่ตาที่มีอิทธิฤทธิ์สูงกว่าผีทั้งหลายทั่วไป

ศิลาจารึกสุโขทัยหลัก 1 หน้า 3 บันทึกเรื่องของผีปู่ตานี้ไว้แต่จะเรียกชื่อใหม่ว่า พระขพุงผี มีฐานะเป็นเทพยดาที่คุ้มครองเมือง ดังจารึกว่า “เมืองสุโขทัยนี้ มีกุฏิพิหาร ปู่ครูอยู่ มีสรีคภงค์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ไหว้ดีผีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หายจากพระขพุงผี พัฒนาเพิ่มผีสำคัญ ในเมืองเป็นพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง คือเป็นผีที่มีหน้าที่ปกป้องรักษาเมือง”

และจากพัฒนาการเรื่องของผีปู่ตา ผีปู่ตาประสานเข้ากับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ดังนั้นเราอาจจะได้เห็นศาลปู่ตาปรากฏขึ้นในวัด อาจจะอยู่ที่บริเวณ กำแพงวัด บริเวณพุทธาวาสก็มี หรือบริเวณหลังวัดก็มี อันแสดงถึงความสัมพันธ์ของความเชื่อทางศาสนา โดยให้ความเชื่อเดิมในผีปู่ตาเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อที่จะให้ผู้คนในพื้นที่นั้นเป็นผู้มีความประพฤติดี ไม่เบียดเบียนลักขโมย อันทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน