“พระราชวัชรรังษี” หรือ “หลวงปู่เอี่ยม สิริวัณโณ” มรณภาพอย่างสงบเมื่อช่วงเวลา 22.15 น. วันพฤหัสบดีที่ 8 มิ.ย.2566 จากอาการอาพาธด้วยโรคชรา

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายจิตรพัฒน์ ไกรฤกษ์ เชิญพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปวางที่หน้าหีบศพ ณ ศาลา 7 วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ด้วย

พระราชวัชรรังษี เป็นพระเถระต้นตำรับหนังสือ “มนต์พิธี” เล่มสีเหลือง เรียบเรียงบทสวดมนต์สำคัญต่างๆ ไว้มากมาย กล่าวได้ว่าเป็นตำราที่ทุกวัดในประเทศไทยล้วนต้องมีไว้ กุลบุตรใดจะบวชต้องอ่านหนังสือของท่านทั้งสิ้น

ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม

มีนามเดิมว่า เอี่ยม สุภราช เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 1 ก.ย.2476 เกิดที่บ้านพังตรุ หมู่ที่ 1 ต.พังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายกรุย และนางแคล้ว สุภราช (ศรีสุข) ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

ช่วงปฐมวัยเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดพังตรุ เมื่อจบชั้นป.2 บิดาถึงแก่กรรม อยู่กับมารดาและป่วยหนัก มารดาถึงจุดธูปเทียนบนว่าถ้าหายจะให้บวชเณร 7 วัน ปรากฏว่าหายป่วย

ต่อมาเรียนหนังสือจนจบชั้นป.4 ไม่ทันได้บวชแก้บน มารดาก็ถึงแก่กรรม จึงต้องอยู่กับยายและน้าสาว กระทั่งป่วยหนักอีกจึงเล่าเรื่องที่แม่บนให้ยายฟัง ยายจึงบนต่อเพิ่มให้อีก 7 วัน รวม 14 วัน ไม่ช้าก็หายป่วย

วันที่ 31 ส.ค.2493 บวชแก้บนที่วัดสาลวนาราม (ดอนตาเพชร) มีหลวงพ่อซ้ง เจ้าอาวาสวัดสาลวนาราม และเจ้าคณะตำบลพนมทวนเป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมาพระอาจารย์เหลือ รองเจ้าอาวาสและครูสอนนักธรรมเกณฑ์ให้ท่องสวดมนต์ เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ทำวัตรเช้า-เย็นแปล นวโกวาท คู่มือพระพุทธประวัติ ฯลฯ

อยู่จำพรรษาที่วัดสาลวนารามร่วมสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม กับพระอาจารย์ณรงค์ ปริสุทโธ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระเทพเมธากร) วัดราษฎร์ประชุมชนาราม และพระอาจารย์ไพบูลย์ กตปุญโญ (ต่อมาดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมคุณาภรณ์) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม

พ.ศ.2496 สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ จากสำนักเรียนวัดบ้านทวน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี

อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ 1 พ.ค.2496 ที่วัดเบญพาด (ใกล้ญาติพังตรุ) อ.พนมทวน มีพระปลัดซ้ง วัดสาลวนาราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการเพิ่ม วัดดอนงิ้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เหลือ วัดสาลวนาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พำนักอยู่วัดสาลวนาราม ก่อนย้ายไปวัดไชยชุมพลชนะสงคราม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

พ.ศ.2499 ย้ายมาอยู่จำพรรษาวัดคูหาสวรรค์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี รับหน้าที่ให้เป็นครูสอนนักธรรม

จากนั้น พ.ศ.2500 ได้มาอยู่วัดช่องลม (วัดสุทธิวาตวราราม) ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยหลวงพ่อทองดี เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ เป็นผู้ฝากฝังคอยช่วยงานคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร

ต่อมา พ.ศ.2507 ย้ายอยู่วัดอรุณราชวราราม ช่วยงานพิมพ์หนังสือของคณะสงฆ์

พ.ศ.2511 ย้ายไปเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดชลบุรีที่วัดราษฎร์บำรุง และเรียบเรียงหนังสือมนต์พิธี โดยรวมคำสองคำคือ สวดมนต์และศาสนพิธี เป็นคำย่อว่า “มนต์พิธี” ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมอย่างมาก รวมทั้งเริ่มจำหน่ายเพื่อหาทุนมาจัดพิมพ์ได้อย่างต่อเนื่อง

ต่อมากลับไปที่วัดอรุณราชวรารามอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2528

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2511 เป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี พ.ศ.2528 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม

พ.ศ.2529 เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดประดู่ในทรงธรรม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2534 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่พระครูอรุณธรรมรังษี พ.ศ.2549 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนามเดิม

ล่าสุด วันที่ 20 มิ.ย.2564 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวัชรรังษี

พระราชวัชรรังษีกล่าวถึงหนังสือมนต์พิธีว่า “ได้รวบรวมเรียบเรียงไว้นั้น ก็เป็นที่ชื่นชอบอยู่ด้วย หนังสือเล่มนี้รวบรวมบทสวดมนต์ พระมหาคาถาทั่วแผ่นดินสยามที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับพระภิกษุ-สามเณร ผู้เตรียมตัวบวช ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่สนใจในพระศาสนา เปรียบเสมือนเป็นมรดกทางธรรม เพื่อสืบทอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาต่อไป”

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยงและชราภาพ ช่วงเวลา 22.15 น. วันพฤหัสบดีที่ 8 มิ.ย.2566 มรณภาพด้วยอาการสงบ

สิริอายุ 89 ปี พรรษา 69

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน