ปมร้อน เลือกตั้ง “เอา” หรือ “ไม่เอา”คสช. บทสรุป การเมือง : วิเคราะห์การเมือง

 

ปมร้อน เลือกตั้ง “เอา” หรือ “ไม่เอา”คสช. บทสรุป การเมือง : วิเคราะห์การเมือง – สภาพและแนวโน้มทางการเมืองที่ดำรงอยู่ใน ห้วง 2 เดือนก่อนการเลือกตั้งมีความเป็นไปได้ที่ประเด็นใหญ่ในการต่อสู้เพื่อชิง ความได้เปรียบจะไม่ใช่ในเรื่อง “นโยบาย”

แม้พรรคพลังประชารัฐพยายามจะเน้น

ไม่ว่าจะในเรื่องของ “ไทยนิยมยั่งยืน” ไม่ว่าจะในเรื่อง ของ “ประชารัฐ” ไม่ว่าจะในเรื่องของการต่อเนื่องของ “ยุทธศาสตร์ชาติ”

แต่ดูเหมือนสถานการณ์โดยรวมจะไม่อำนวยให้

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะไม่เหมือนกับ การเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 ที่พรรคไทยรักไทยสามารถเอาชนะได้ด้วย “นโยบาย”

ผลงานของ “รัฐประหาร” ของ “คสช.” ต่างหากที่เป็นประเด็น

คําว่า “ผลงาน” ในที่นี้มิได้ครอบคลุมเพียงที่สัมผัส หรือได้เห็นจากการบริหารราชการแผ่นดินตลอดเวลาเกือบ 5 ปีต่อเนื่องกันอย่างด้านเดียว

หากแต่ยังสัมพันธ์กับ “รัฐประหาร” อย่างแนบแน่น

เพราะไม่ว่าอะไรซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่ กระทั่งถึงการ เลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ล้วนสัมพันธ์และเป็นความต่อเนื่องจากกระบวนการ “รัฐประหาร”

ไม่เพียงแต่รัฐประหาร 2557 หากยังยาวไปยังรัฐประหาร 2549

เพราะการเสนอคำว่า “เสียของ” ขึ้นมาเป็นเหตุผลหนึ่งในการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือผลงานและความสำเร็จจากรัฐประหารครั้งก่อน

“รัฐประหาร” จึงเป็นประเด็นร้อนใน “การเลือกตั้ง”

มีความพยายามจะเสนอขั้วหลากหลายขั้วผ่านการ เคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมืองโดยมีจุดเริ่มจากพรรคพลังประชารัฐ ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองอื่น

เหมือนกับจะไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของ 2 ขั้วการเมือง

พรรคประชาธิปัตย์ถึงกับเสนอธงขึ้น 2 ผืนในการต่อต้าน คือ 1 ต่อต้านนายกรัฐมนตรีคนนอก และ 1 ต่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

แต่ในเมื่อพรรคการเมืองล้วนได้รับผลสะเทือนจาก “รัฐประหาร”

ในเมื่อมีพรรคพลังประชารัฐเป็นธงนำอันเป็น ตัวแทนของ “คสช.” และแวดล้อมด้วยพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป จึงเท่ากับชี้นำให้พรรคการเมืองอื่น ต้องให้ความสำคัญ

ในที่สุดก็จะเหลือพรรค “เอา”คสช. กับ พรรค “ไม่เอา”คสช.

ทันทีที่กระแสในเรื่อง “เอา” หรือ “ไม่เอา” กลายเป็นประเด็นร้อนในทางสังคม เรื่องนโยบายก็จะกลายเป็นปัญหารองลงไปโดยอัตโนมัติ

คำถามที่เสนอต่อ “สังคม” จึงไม่สลับซับซ้อน

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป เปล่งเสียงเห็นด้วยกับคสช.ก็จะต้องมีเสียงคัดค้าน ต่อต้านจากพรรคการเมืองอื่นตามมา

แล้วทุกอย่างก็จะขมวดไปยัง “เอา” หรือ “ไม่เอา” คสช.

 

…..อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ที่…..

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน