คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

การติด “เบรก” ให้กับความพยายามผลักดันคำสั่งที่ 66/2523 ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการ “ปรองดอง” กำลังกลายเป็นเรื่องผิดปกติ

เหมือนกับเป็นการ “ปิด” ประตูใส่หน้า

ทั้งๆ ที่ข้อเสนอนี้สะท้อนความพยายามอย่างเต็มกำลังของคณะอนุกรรมาธิการภายในคณะกรรมาธิการที่ศึกษา ค้นคว้า เรื่องอันเกี่ยวกับ “ปรองดอง”

สะท้อนความปรารถนาดี สะท้อนการนำบทเรียนจาก “อดีต”

คนที่นำเสนอในเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง คือ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต คนที่ร่วมผลักดันอย่างแข็งขัน คือ นายนิกร จำนง สปท.ซึ่งมีพื้นฐานมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา

บทบาทและความหมายนี้จึงมิได้เป็นการปฏิเสธต่อบทสรุปและความพยายามของบางส่วนจากสปท.หากแต่เท่ากับปฏิเสธต่อคำสั่งที่ 66/2523

ทั้งๆ ที่ “คำสั่ง” นี้มีคุณูปการเป็นอย่างสูงต่อ “สังคมไทย”

เป็นความจริงที่ว่า คำสั่งที่ 66/2523 กับกรณี “ปรองดอง” ในปัจจุบันมีรายละเอียดอันเป็นพื้นฐานแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

เพราะเมื่อ 30 กว่าปีก่อนใช้ยุติ “สงครามกลางเมือง”

แต่คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ ทั้งๆ ที่เป็น “สงครามกลางเมือง” แล้วเหตุปัจจัยอันใดทำให้คำสั่งที่ 66/2523 ประสบความสำเร็จ

จะตอบคำถามนี้ได้จำเป็นต้องรู้แก่นแท้ของคำสั่งที่ 66/2523

แก่นแท้ของคำสั่งที่ 66/2523 คือ การต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ นี่เป็นเรื่องใหญ่หลวงอย่างยิ่ง ใหญ่หลวงเพราะว่าสามารถพลิกประเด็นจาก “ปราบปราม” มาเป็น “การต่อสู้” เท่ากับแทงทะลุเข้าไปยังสภาพความเป็นจริงทางความคิดอันเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทั้งปวง

ประเมินได้จากแนวทาง “การเมืองนำการทหาร”

ที่เรียกว่า “การเมืองนำการทหาร” ต้องรับรู้ด้วยว่า การเมืองในที่นี้ก็คือการเมืองที่เป็น “ประชาธิปไตย” มิใช่การเมืองที่เป็น “เผด็จการ”

เพราะ “เผด็จการ” มิอาจมีชัยเหนือกว่า “คอมมิวนิสต์” ได้

ตรงนี้ต่างหากคือ “หัวใจ” ตรงนี้คือลักษณะซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “สัจธรรมทั่วไป” ที่สามารถปรับประสานได้ในทุกสถานการณ์

เว้นแต่มีความเป็น “เผด็จการ” เท่านั้นที่มิอาจทำได้

คำสั่งที่ 66/2523 ประกาศออกมาภายใต้ความพยายามของรัฐบาลและของกองทัพที่จะผลักดันอาวุธแห่ง “ประชาธิปไตย” เข้าสู่สังคมประเทศไทย

ตรงนี้แหละที่ทำให้ได้รับชัยชนะ สามารถยุติ “สงครามกลางเมือง”

ท่าทีและการปฏิเสธอย่างฉับพลันทันใดจึงเป็นท่าทีและการปฏิเสธที่อาจก่อปัญหาและสร้างความแคลงใจ

เป็นการปฏิเสธเพราะความไม่เหมาะสม ทันต่อสถานการณ์ หรือเป็นการปฏิเสธเพราะเห็นว่า ผลักดันโดย ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ นายนิกร จำนง

หรือเพราะว่าเป็นการเชิดชูบุคคลอื่นที่มิใช่ “ผู้นำ” ร่วมสมัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน