โค้งท้ายเลือกตั้ง ยังพลิกได้ตลอด

โค้งท้ายเลือกตั้ง – วันอาทิตย์ 17 มี.. ตรงกับวันใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ก่อนถึงวันประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลือกตั้งใหญ่ 24 มี..

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดผู้ลงทะเบียนผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตทั้งประเทศ จำนวน 2,632,935 คน

สูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ 928,789 คน ชลบุรี 221,541 คน สมุทรปราการ 164,575 คน ปทุมธานี 134,783 คน และนนทบุรี 97,321 คน

รอดูจะวุ่นวายหรือราบรื่น

หากดูบรรยากาศใช้สิทธินอกราชอาณาจักร 119,184 คน ใน 67 ประเทศ ที่เพิ่งปิดหีบไปเมื่อวันที่ 16 มี..ที่ผ่านมา หลายคนไม่แน่ใจ

คนไทยในต่างแดนหลายประเทศไม่ว่าในมาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ฯลฯ ต่างต้องประสบอุปสรรคนานัปการ ตามที่เผยแพร่แชร์กันสนั่นโลกโซเชี่ยล

ทั้งเรื่องคูหาเลือกตั้งไม่พอรองรับผู้มาใช้สิทธิ์จำนวนมาก จนต้องใช้กล่องกระดาษดัดแปลงเป็นคูหา การจัดพิมพ์ข้อมูลผู้สมัครผิดพลาดทั้งชื่อ นามสกุล เพศ อาชีพ วุฒิการศึกษา

กระทั่งข้อผิดพลาดแรงๆ เช่น พิมพ์หมายเลขประจำตัวผู้สมัครผิด เบอร์เดียวมี 2 คน ระบุพรรคผู้สมัครไม่ถูกต้อง บางแห่งชื่อผู้สมัครกับพรรคแยกกันอยู่คนละหน้า

รวมถึงการจัดส่งบัตรลงคะแนนให้ผู้ใช้สิทธิ์ล่าช้า จนส่งกลับมาไม่ทัน หรือไม่ก็กำหนดแบบฟอร์มชื่อที่อยู่ผู้ส่งผู้รับบนซองไปรษณีย์สับสน ทำให้บัตรลงคะแนนถูกตีกลับ กว่าจะส่งไปใหม่ก็ไม่ทันเส้นตาย 16 มี..

กลายเป็นเสียงตกน้ำไปดื้อๆ

สรุปรวมความได้ว่า ผลงานจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของ กกต.รอบนี้ ได้รางวัลเป็นก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้ไม่คุ้มค่างบ 12 ล้าน ที่ใช้ยกโขยงกันไปดูงานตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนหน้าไม่กี่วัน

แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับการที่ประชาชนจำนวนมาก ที่ต่างคาดหวังให้การเลือกตั้งครั้งนี้สุจริต โปร่งใส เท่าเทียม เสรีและเป็นธรรม เป็นทางออกให้ประเทศ

ต้องมาหวั่นไหวกับการทำหน้าที่ของ กกต.

ย้อนกลับมาดูสถานการณ์ในสนามของแต่ละพรรคการเมือง ที่แบ่งแยกตามจุดยืนเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย กับฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ

พร้อมใจเข้าสู่โหมดตะลุมบอน

ในช่วงนับถอยหลัง 7 วันก่อนเลือกตั้งใหญ่ 24 มี.. เป็นช่วงเวลาที่นักการเมืองแต่ละคนแต่ละพรรค ทยอยปล่อยของ ทิ้งไพ่ตาย ออกอาวุธกันเต็มที่

โพลหลายสำนักเปิดผลสำรวจคะแนนนิยมแต่ละพรรคโขมงโฉงเฉง ทั้งอีสานโพลของ .ขอนแก่น ใต้โพลของ ..หาดใหญ่ ต่างบ่งชี้คำตอบไปในทางเดียวกัน

ฝ่ายใดจะคว้าชัยในสนามเลือกตั้งระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย นำโดย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ กับฝ่ายสนับสนุนสืบทอดอำนาจ นำโดย พรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเมืองฮือฮาในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องยกให้กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาประกาศจุดยืนชัดๆ

ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุนพล.. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯต่อหลังเลือกตั้ง

ผลจากการกระตุกหนวดก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมหลายด้าน แต่ก็ไม่ถึงขั้นจะสรุปได้ว่านายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือเสียจากประกาศจุดยืนดังกล่าว

ต้องรอดูหลังวันที่ 24 มี..

แน่นอนว่าในส่วนพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทั้งเพื่อไทยและอนาคตใหม่ นอกจากไม่ได้ยินดียินร้ายกับจุดยืนที่เปลี่ยนไปของนายอภิสิทธิ์

ยังมองว่าเป็นความพยายามเรียกคะแนนจากประชาชนในช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง เพราะเริ่มจับกระแสได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เข็ดหลาบกับ 5 ปีที่ผ่านมา

ไม่อยากให้มีการสืบทอดอำนาจอีกต่อไป

การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งเป้านำพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล พร้อมจับมือพรรคพลังประชารัฐที่ไม่มีพล..ประยุทธ์ แต่จะไม่จับมือกับพรรคเพื่อไทยเด็ดขาด

ไม่สนเสียงครหาเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง

ในส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นไม่เดือดร้อน เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรมามีจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรมกับประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

นับตั้งแต่เหตุการณ์ม็อบพันธมิตรฯ ปี 48 เหตุการณ์สลายม็อบ 99 ศพเดือนเม..-..ปี 53 ร่วมเป่านกหวีดกับลุงกำนันปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง ชัตดาวน์ประเทศเมื่อปี 56-57

พรรคที่ออกอาการเดือดร้อนมากที่สุดต่อกรณีนายอภิสิทธิ์ จึงเป็นพรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจอย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคแนวร่วมเครือข่าย

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) อดีตผู้นำม็อบ กปปส. ถึงกับปรี๊ดแตก ทั้งขึ้นเวทีปราศรัย ทั้งโพสต์เฟซบุ๊ก สับแหลกนาย อภิสิทธิ์ ไม่เหลือชิ้นดี

ตั้งแต่เอ่ยปากทวงบุญคุณเคยช่วยให้ได้เป็นนายกฯ หลังพรรคพลังประชาชนโดนยุบเมื่อตอนปี 51 ว่าถ้าตอนนั้นไม่ใช่เพราะตนเอง ไม่รู้ว่าชาติหน้านายอภิสิทธิ์จะได้เป็น นายกฯ หรือไม่

จนถึงกล่าวหานายอภิสิทธิ์ ประกาศเลิกสนับสนุนพล..ประยุทธ์ เพราะต้องการไปเข้ากับพรรคฝ่ายทักษิณเพื่อที่จะเป็น นายกฯ คนต่อไปเสียเอง

อยากถามว่าตกลงอภิสิทธิ์ยืนข้างเดียวกับทักษิณเต็มตัวแล้วใช่มั้ย นี่แสดงว่าถ้าฝ่ายทักษิณเทคะแนนให้เป็นนายกฯ เอาทันทีใช่มั้ย นี่แสดงว่ามึงอยากจะเป็นนายกฯ จนลืมหัวกูแล้วใช่มั้ยนายสุเทพกล่าวปราศรัยดุเดือด

มีการประเมินว่าฝ่ายที่ได้รับแรงสะเทือนจากกรณีนายอภิสิทธิ์ มากที่สุด คือพรรคพลังประชารัฐ ที่มีจุดยืนในการก่อตั้งพรรคเพื่อสืบทอดอำนาจให้พล..ประยุทธ์ โดยตรง

แต่แรกเริ่มเดิมทีพรรคพลังประชารัฐ คาดหวังว่าจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ จัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ช่วงหนึ่งถึงกับมีกระแสข่าวการหยิบยื่นเก้าอี้ประธานสภาให้เสียด้วยซ้ำ แต่อีกฝ่ายไม่สนใจ

ต้องการสงวนท่าทีรอดูสถานการณ์ไปอีกสักระยะ รวมถึงกระแสพรรคพลังประชารัฐ และตัวพล..ประยุทธ์ ว่าจะพุ่งแรงไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่

จวบจนกระทั่งการเลือกตั้งเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย

ปรากฏว่าทั้งพล..ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ วางหมากผิดพลาดหลายเรื่อง ทั้งการคบซ้อนตำแหน่ง การคัดสรร 250 ..แบบปกปิด สถานะแคนดิเดต นายกฯ ที่ยังคลุมเครือ จนไม่กล้าไปขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง และ ฯลฯ

เหล่านี้สะท้อนว่า แทนที่พล..ประยุทธ์จะเป็นจุดแข็งให้พรรค ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นจุดอ่อน เปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามรุมโจมตีเสียเอง

ส่งผลให้ทั้งพรรคทั้งคนเข้าสู่สภาวะขาลง

การตีจากของพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ ทำให้พรรคพลังประชารัฐและพล..ประยุทธ์ ต้อง สูญเสียพรรคกองหนุนสำคัญไปอีกราย

ในจังหวะใกล้เคียงกับที่พรรคภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ประกาศไปก่อนแล้วว่าจะไม่สนับสนุนนายกฯ ที่ไม่ได้เป็นส.. และไม่ได้มาจากการโหวตเลือกของส..

กระนั้นก็ตามถึงสัญญาณหลายอย่างบ่งชี้ว่า พรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจเริ่มออกอาการเป๋ ในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะวางใจ

เพราะหากดูจากกรณีโต๊ะจีน หรือล่าสุด กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐการเสนอชื่อพล.. ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมือง ทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง

สะท้อนได้ว่า ถึงพล..ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ จะไม่มีพรรคการเมืองอื่นเป็นกองหนุน

แต่ก็ยังมีพรรค 250 .. พรรคองค์กรอิสระที่ไม่อิสระ พรรคทุนใหญ่ พรรคข้าราชการ และพรรคทหาร

พร้อมออกแรงพลิกกระแสช่วงโค้งสุดท้ายได้ไม่ยาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน