ปม ถวายสัตย์ กับ อุทยาน ราชภักดิ์ จบ แต่ยังไม่จบ

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า แม้กระทั่งญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ก็อาจกลายเป็น “โรคเลื่อน” เหมือนกระทู้ถามสด

แม้ นายชวน หลีกภัย เคยระบุว่าน่าจะทำได้ในเดือนสิงหาคม

แต่เมื่อ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาเผยวาระที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา อาจติดประชุมรัฐสภาอาเซียน ก็เริ่มชัด

เพราะการประชุมรัฐสภาอาเซียนมีในวันที่ 28-30 สิงหาคม

ยิ่งกว่านั้น ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติเป็นเรื่องใหม่สำหรับสภาผู้แทนราษฎร ไม่เคยมีข้อบังคับจึงอาจต้องปรับและทำความเข้าใจก่อนลงมือปฏิบัติจริง

เพียงวาระแห่งการประชุมรัฐสภาอาเซียนที่ นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องไปรับแขกและร่วมประชุมก็แจ่มแจ้ง

แจ่มแจ้งว่าจะต้องติดไปเรื่อยจนถึงสิ้นเดือน

ความหมายก็คือ การประชุมเพื่อดำเนินการตามญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ จะต้องผ่านการหารือ “ร่วม” ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน

หากมิอาจตกลงกันได้ก็จำเป็นต้อง “เลื่อน”

ในเมื่อกระทู้ถามสดของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก แล้วเหตุใดกลิ่นการเลื่อนจะไม่ลามไปถึงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ไม่ได้

หากฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าการเคลื่อนไหวรุกในประเด็น “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” ของฝ่ายค้านเป็นการเล่นเกม ทำไมกรณีเลื่อนญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปจะไม่เป็นการเล่นเกม

เพียงแต่การเล่นเกมของรัฐบาลสลับซับซ้อน

อาจมีการ “หนีสภา” อย่างต่อเนื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวชูเรื่อง แต่ผลก็คือ ไม่ว่ากระทู้ถามสด ไม่ว่าญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปก็ต้องเลื่อนตามไปด้วย

กลายเป็น “โรคระบาดใหม่” อันเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป้าหมายเฉพาะหน้าก็คือ ใช้กลไก “องค์กรอิสระ” มาเป็นตัวรั้งถ่วง จากผู้ตรวจการแผ่นดินไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ

ในที่สุด กรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” ก็เข้าสู่วิถีอย่างเดียวกันกับกรณีอุทยานราชภักดิ์ หรือกรณีแหวนของมารดา นาฬิกายืมเพื่อน

เด่นชัดว่าเป็นมาตรการ “เตะถ่วง”

ไม่ว่ากรณีอุทยานราชภักดิ์เหมือนกับจะจบ ไม่ว่ากรณีแหวนของมารดา นาฬิกายืมเพื่อน เหมือนกับจะจบโดยผ่านแต่ละกลไก “องค์กรอิสระ”

แต่ถามว่า “ชาวบ้าน” รู้สึกว่า “จบ” หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน