แม้จะผ่านด่านอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยชนะเสียงโหวตในสภามาได้ แต่ปฏิกิริยาในเชิงลบต่อการได้เสียงโหวตด้วยการแลกกล้วย ยังกระหึ่มไปทั่ว กลายเป็นจุดด่างของรัฐบาลที่ลบเลือนได้ยาก เป็นชัยชนะที่เหมือนไม่ชนะ

ผลสะเทือนจากอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงยังไม่จบสิ้น

ขณะเดียวกัน สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด่านหินยังไม่จบแค่ศึกซักฟอก

ด่านต่อไปอยู่ใกล้ๆ นี่เอง นั่นคือการตีความระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ประเด็นคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ในมาตรา 158 ได้ระบุเอาไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี มิได้

ขณะที่ข้อความในมาตรา 264 มีการตีความว่า เป็นมาตราที่มัดชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อเนื่องมาจนจะครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคมนี้!

มีการตีความการนับระยะเวลา ออกเป็น 3 แนวทาง

1.นับตั้งแต่เป็นนายกฯ ครั้งแรก ตามที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อ 24 สิงหาคม 2557








Advertisement

2.นับตั้งแต่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เท่ากับจะครบ 8 ปี ในปี 2568 และ 3.นับจากเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เท่ากับจะครบ 8 ปี ในปี 2570

ถ้านับตามแนวทางแรก จะครบในวันที่ 23 สิงหาคมนี้

ดูตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ ระบุให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

ผู้รู้ทางกฎหมายชี้ว่า คำว่า “เป็น” แปลได้ว่า คือการดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่แค่รักษาการ ไม่ใช่การอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อหลังจากพ้นตำแหน่ง!

นอกจากนั้น ในมาตรา 264 วรรคสาม บัญญัติให้การแต่งตั้งรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

เท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้พ้นจากตำแหน่งเดิม เพราะไม่ใช่การดำรงตำแหน่งใหม่หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

ทั้งโดยปกติ เมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง องค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญย่อมสิ้นสุดลงตามไปด้วย

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีบทเฉพาะกาลให้คณะรัฐมนตรีชุดเดิมเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป

นายกรัฐมนตรีก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยไม่มีการปฏิบัติในลักษณะการเข้ารับตำแหน่งใหม่ ไม่มีการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ไม่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ!

เท่ากับนายกฯ ยังคงเป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง

เหล่านี้บ่งชี้ว่า จะต้องนับวาระการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557

ถ้านับตามนี้ วันที่ 23 สิงหาคมนี้ จะครบ 8 ปี เป็นวันหมดอายุของเก้าอี้นายกฯ ที่พล.อ.ประยุทธ์นั่งอยู่

สุดท้ายอยู่ที่การชี้ของศาลรัฐธรรมนูญ

โดยในทางการเมืองเดือนหน้านี้ ประเด็นนี้จะร้อนแรงอย่างยิ่ง!!

วงค์ ตาวัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน