อาหรับสปริง

มีการพูดถึง อาหรับสปริงสรุปให้ได้ไหม เกิดจากอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่

จิงจิง

ตอบ จิงจิง

มีคำตอบอยู่ในบทความเรื่อง “1 ทศวรรษของอาหรับสปริง” โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ สรุปความดังนี้

สปริง หรือฤดูใบไม้ผลิ คือฤดูที่ใบไม้ผลิดอกออกใบอีกครั้งหลังฤดูหนาวจบสิ้นลง และเป็นสัญลักษณ์ของการบังเกิดใหม่ ชีวิตใหม่ที่ผ่านพ้นฤดูหนาวที่มีหิมะตกหนาวเย็น ต้นไม้ทิ้งใบเสมือนตายไปแล้ว พอถึงฤดูใบไม้ผลิก็ผลิใบใหม่และต้นได้ฟื้นขึ้นมาใหม่

อาหรับสปริง คือการบังเกิดชีวิตใหม่ที่ได้ผ่านพ้นฤดูหนาวที่ต้นไม้พากันทิ้งใบเสมือนตายไปแล้วของชาติอาหรับที่มีอาณาเขตจากมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันตกจรดทะเลอาหรับทางตะวันออก และจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางเหนือจรดจะงอยแอฟริกา และมหาสมุทรอินเดียทางตะวันออกเฉียงใต้

ชาวอาหรับเป็นชาว เซมิติกเช่นเดียวกับชาวยิว ประกอบ 23 ประเทศ ได้แก่แอลจีเรีย จิบูตี บาห์เรน ชาด เอริเทรีย อิรัก จอร์แดนคูเวต เลบานอน ลิเบียมอริเตเนีย โมร็อกโก โอมาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ซาอุดีอาระเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย ตูนีเซีย, อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเยเมน ส่วนใหญ่ปกครองแบบอำนาจนิยม ประชาชนยากจน

อาหรับสปริงเกิดขึ้นที่ประเทศตูนิเซีย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553 นายโมฮาเหม็ด โบอาซีซี พ่อค้าหาบเร่แผงลอยวัย 26 ปี ผู้ขายผักและผลไม้ในเมืองซิดิบูซาอิดหาเลี้ยงมารดาและน้องๆ อีก 6 คน ถูกตำรวจเทศกิจยึดแผงลอยพร้อมผักผลไม้และตาชั่ง เนื่องจากเขาไม่มีใบอนุญาตและไม่มีเงินจ่ายสินบน เขาไปร้องเรียนต่อผู้ว่าการเมืองซิดิบูซาอิดแต่ถูกไล่กลับถึง 3 ครั้ง เขาจึงราดน้ำมันเผาตัวเองที่หน้าศาลากลางเมืองซิดิบูซาอิดอย่างหมดหวังในชีวิต

การประท้วงและเสียชีวิตของนายโมฮาเหม็ด โบอาซีซี ทำให้ประชาชนที่ไม่พอใจอยู่แล้วกับการบริหารของประธานาธิบดีไซเน เอล อบิดีน เบน อาลี ที่ปกครองมา 24 ปี ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลกันเป็นจำนวนมหาศาล กระทั่งโค่นล้มรัฐบาลลงได้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2554

ความสำเร็จของประชาชนตูนิเซียเป็นไฟที่ลุกขึ้นและลามไปติดกลุ่มประเทศอาหรับรวดเร็ว ไม่กี่วันหลังจากนั้น ชาวอาหรับในประเทศต่างๆ เริ่มออกมาต่อต้านรัฐบาลตัวเองที่โอมาน, เยเมน, แอลจีเรีย, อียิปต์, จีบูติ, ซูดาน ก่อนจะลามไปที่อิรัก, ลิเบีย, โมร็อกโก, บาห์เรน, คูเวต, ซีเรีย รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ผลจากอาหรับสปริงแตกต่างกันไป เช่น ตูนิเซีย ลิเบีย และอียิปต์โค่นล้มรัฐบาลที่ครองอำนาจมานานลงได้ บางประเทศนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่นซาอุดีอาระเบีย แต่บางประเทศอย่าง อิรัก ซีเรีย นำไปสู่สงครามกลางเมือง สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยคือการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล

สรุปปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ประเทศทั้ง 6 ดังกล่าว (6 ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของอาหรับสปริงคือ บาห์เรน, อียิปต์, ลิเบีย, ซีเรีย, ตูนิเซีย และเยเมน) ยังห่างไกลจากเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่อาหรับสปริงก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของชาวอาหรับทั้งผอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน