ปิดภารกิจ13หมูป่า ‘ทีมดาราโลก’ลุยช่วย พาพ้นถ้ำหลวง-17วัน เด็กๆเปิดใจนาทีระทึก

แฟ้มคดี

ปิดภารกิจ13หมูป่า – ชื่นมื่นกันไปทั่วโลก สำหรับผลสำเร็จของปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต นักฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

ที่แม้จะยากเย็นแสนเข็ญ แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ และความช่วยเหลือจากยอดฝีมือทั่วโลก

ผ่านการวางแผน ตัดสินใจในสถานการณ์ที่บีบบังคับ

ทั้งภัยธรรมชาติ ที่ฝนระลอกใหม่กำลังตั้งเค้า รวมกับสภาพความอิดโรยของทั้งหมดที่นับวันจะมีมากขึ้น

ในที่สุดแผนการนำตัวออกมาก็ประสบความสำเร็จ ปฏิบัติการที่เป็นไปไม่ได้ ก็ลุล่วงไปได้อย่างเรียบร้อย

ส่ง 13 ชีวิตคืนสู่อ้อมกอดของครอบครัว

เหลือก็แต่การฟื้นฟูเยียวยาถ้ำหลวง รวมทั้งถอดบทเรียนเพื่อปรับใช้หากเกิดผู้ประสบภัยเช่นนี้อีก

ดังนั้นข้อเท็จจริงทั้งหมดจึงมีความสำคัญ

และควรจะมีการบันทึกอย่างละเอียด ทุกขั้นตอนปฏิบัติการ

เพื่อเป็นโมเดลสำหรับคนทั้งโลก ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทย

  • เปิดแผนช่วยหมูป่าพ้นถ้ำ

หลังจากที่ทีมค้นหาประสบความสำเร็จพบทั้ง 13 ชีวิต ทีมหมูป่า อะคาเดมี เมื่อเวลา 21.38 น. ของวันที่ 2 ก.ค. นายจอห์น โวลันเธน และนายริชาร์ด สแตนตัน 2 นักประดาน้ำชาวอังกฤษ สามารถดำน้ำเข้าไปพบผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน ติดอยู่บนเนินนมสาว เลยจากจุดพัทยาบีชไปประมาณ 400 เมตร

ภารกิจที่สำคัญต่อไป ก็คือจะนำตัวทั้งหมดออกมาได้อย่างไร

หลังจากใช้เวลาพักฟื้นให้ทั้ง 13 ชีวิตกลับมาแข็งแรง งานหนักของศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย(ศอร.) ที่จะหาวิธีนำทั้งหมดออกมาได้อย่างปลอดภัย

เนื่องจากแม้ว่าการสูบน้ำในถ้ำ รวมทั้งการปิดตาน้ำบนผาหมี และดอยนางนอน จะสามารถทำได้ แต่ปริมาณน้ำตั้งแต่ช่วงสามแยกเลยโถง 3 เข้าไปสู่พัทยาบีช และเลยไปยังเนินนมสาว ก็ยังท่วมสูง ต้องใช้วิธีดำน้ำเพียงอย่างเดียว แถมน้ำยังขุ่นข้น มองไม่เห็นทางใดๆ

แนวทางที่จะนำทั้ง 13 ออกมาได้ วิธีหนึ่งก็คือการระดมนักดำน้ำมืออาชีพจากทั่วโลกมาร่วมปฏิบัติภารกิจนี้ โดยต้องเตรียม ความพร้อมด้วยการนำขวดอากาศเข้าไปภายในถ้ำ และวางตามแนวเส้นทางดำน้ำทุกๆ 25 เมตร รวมทั้งใช้เชือกขึงนำทาง

แต่ก็ยังมีอุปสรรค ก็คือทั้ง 13 ชีวิตไม่เคยมีประสบการณ์ ดำน้ำมาก่อนเลย แม้จะใช้หน้ากากฟูลเฟซที่สามารถหายใจแบบปกติได้ก็ตาม

ทำให้การพิจารณาแนวทางดำน้ำออกมายังมีข้อกังวล

ขณะที่แนวทางอื่นถูกนำมาพิจารณาประกอบไม่ว่าจะเป็นการปูพรมออกค้นหาโพรงบนภูเขา เพื่อหวังจะเชื่อมได้ ถึงจุดเนินนมสาว พร้อมใช้เครื่องมือขุดเจาะขนส่งโดยเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปบนภูเขา เจาะโพรงนับร้อยจุด แต่ก็ไม่พบโชคดีใดๆ

หากไม่เร่งหาทาง จำต้องรอถึงฤดูแล้ง ที่จะมาถึงอีก 4 เดือน

 

  • ใช้ยาสลบ-พาดำน้ำออกมา

นอกจากนี้สถานการณ์ภายนอกก็เริ่มวิกฤต กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนว่าจะมีฝนตกหนักอีกในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะจ.เชียงราย ทำให้ฝ่ายปฏิบัติการต้องเร่งตัดสินใจจบภารกิจนี้ให้ได้ก่อนฝนมา ไม่เช่นนั้นอาจประสบปัญหาน้ำท่วมขังภายในถ้ำ นอกจาก 13 ชีวิตที่จะเป็นอันตราย ชีวิตของผู้ช่วยเหลือทั้งหมด ก็แขวนอยู่บนเส้นด้ายเช่นกัน

นอกจากนี้ปริมาณอากาศภายในถ้ำก็ลดน้อยลงจนน่าใจหาย จนเหลือเพียง 15 เปอร์เซ็นต์

เจ้าหน้าที่ต้องเร่งขนถังอากาศพร้อมต่อท่ออากาศ

แต่ก็เกิดเรื่องสลด เมื่อจ่าแซม จ.อ.สมาน กุนัน หน่วยทำลายใต้น้ำที่ปลดประจำการไปแล้ว แต่กลับมาเป็นอาสาสมัครช่วยในภารกิจครั้งนี้ เสียชีวิตในการปฏิบัติภารกิจขนถังออกซิเจน

เป็นสถานการณ์ที่บีบให้ต้องตัดสินใจ

ในที่สุดนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผบ.ศอร. ก็ตัดสินใจ โดยช่วงเย็นวันที่ 7 ก.ค. มีคำสั่งประกาศพื้นที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และใช้อำนาจตามกฎหมาย สั่งให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนออกจากพื้นที่โดยเด็ดขาด โดยให้ไปประจำการที่อบต.โป่งผา ที่อยู่ห่างไป 2 ก.ม.

ก่อนที่เช้าวันที่ 8 ก.ค. ก็เริ่มปฏิบัติการทันที โดยนายณรงค์ศักดิ์ เปิดเผยว่า การปฏิบัติการเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. นักประดาน้ำผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ 13 คน พร้อมหน่วยซีล 5 คน และเจ้าหน้าที่อีกร่วมร้อยชีวิต ที่ปฏิบัติการอยู่ในถ้ำ โดยใช้นักดำน้ำ 2 คน ประกบกับเด็ก 1 คน

โดยมีนพ.ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์และนักสำรวจถ้ำชาวออสเตรเลีย อายุ 53 ปี ร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้อย่างใกล้ชิด

ปฏิบัติการเริ่มด้วยให้ยาเคตามีน เพื่อให้น้องสงบลง แล้วใช้ฟูลเฟซมาสก์ หรือหน้ากากเต็มหน้า สวมชุดเว็ตสูท มีนักดำน้ำ 2 คนประคองออกมา จนกระทั่งถึงโถง 3 ก็มีเจ้าหน้าที่นำลำเลียงใส่เปลกู้ภัย พาออกมายังปากถ้ำ

และแล้ววินาทีแห่งความปลื้มปีติของคนทั้งโลกก็ปรากฏขึ้น เมื่อสมาชิกทีมหมูป่าคนแรกสามารถออกพ้นถ้ำได้ในเวลา 17.40 น. จากนั้นอีก 3 วันจนกระทั่ง 10 ก.ค. ทุกคนก็ออกจากถ้ำมาได้อย่างปลอดภัย

ปิดฉากภารกิจ 17 วันที่โลกเฝ้าจับตาด้วยความชื่นมื่น

  • น้องดอมเปิดใจนาทีระทึก

หลังจากที่พ้นความโหดร้ายในถ้ำมาได้ นายบรรพต ก้อนคำ บิดาของด.ช.ดวงเพชร หรือน้องดอม พรมเทพ กัปตันทีมหมูป่า อะคาเดมี ก็เปิดเผยว่า ลูกชายได้เล่าถึงเหตุการณ์วันดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.หลังซ้อมฟุตบอลเสร็จ ก็ไปเที่ยวถ้ำหลวงกับเพื่อนๆ กะว่าจะเข้าไปแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น จึงซื้อเพียงขนมเล็กๆ น้อยๆ ติดอยู่ในกระเป๋าเป้

แต่ขณะที่อยู่ในถ้ำ ก็เกิดฝนตกอย่างหนัก น้ำป่าไหลเข้ามาในถ้ำ ทำให้ทุกคนต้องวิ่งเข้าไปด้านในเพื่อหนีน้ำ

วินาทีดังกล่าวทุกคนตกใจมาก แต่โค้ชเอกบอกว่า ให้พวกเรารีบหนี ตอนนั้นทุกคนเดินลุยน้ำ เพื่อหาช่องทางหนี โค้ชเอกนำไฟฉายมาส่องใต้น้ำ เห็นโพรงเล็กๆ ทุกคนจึงได้ใช้มือตะกุยโคลน และยกหินออก เพื่อหลบเข้าไปลึกๆ

ตอนอยู่ในถ้ำ โค้ชเอกบอกให้นั่งอยู่นิ่งๆ ไม่ต้องใช้พลังงานเยอะ หากใครหิวน้ำก็ให้เอาไฟฉายสองขึ้นไปบนเพดานถ้ำ แล้วหารูที่น้ำฝนไหลมาและกินประทังชีวิต ซึ่งในตอนนั้นทุกคนไม่รู้วันรู้คืน มีการพูดคุยกันบ้าง เพื่อคลายเครียด โดยในวันที่มีนักดำน้ำชาวอังกฤษพบเจอทีมหมูป่านั้น ความจริงแล้ว ทีมหมูป่าอยู่สูงกว่าที่ทุกคนเห็นในคลิป แต่ตอนนั้น เห็นว่ามีคนมา จึงได้รีบวิ่งลงมาเพื่อตะโกนขอความช่วยเหลือ

จากนี้หากน้องดอมออกจากโรงพยาบาล ก็จะจัดงานวันเกิดย้อนหลังให้ และจะให้น้องดอมบวช เพื่อทดแทนบุญคุณและอุทิศส่วนกุศลให้กับ จ.อ.สมาน กุนัน ซึ่งเป็นผู้ที่มีพระคุณ ต่อทีมหมูป่าอย่างมาก

  • ระดมทีมดาราโลกลงมือ

สำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ ถือว่าเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดหลายๆ สิ่ง ทั้งในด้านความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชาติ และความช่วยเหลือจากนานาประเทศที่หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย

เป็นภารกิจของมวลมนุษยชาติไปโดยปริยาย

โดย 1 ในจิ๊กซอว์สำคัญ ก็คือ เวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ ที่เข้ามาช่วยในภารกิจนี้ตั้งแต่วันแรก ในฐานะที่อยู่เชียงรายมา 7 ปี และเคยสำรวจในถ้ำหลวงหลายครั้ง จนเรียกได้ว่ารู้พื้นที่ภายในเป็นอย่างดี

รวมทั้งข้อเสนอให้ประสานกับกู้ภัยประเทศอังกฤษ เพื่อขอตัวนักประดาน้ำในถ้ำที่มีประสบการณ์ช่วยชีวิตคนติดถ้ำมาแล้วทั่วโลก

ในที่สุด นายจอห์น โวลันเธน นายริชาร์ด สแตนตัน และนายโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ 3 นักดำน้ำผู้เชี่ยวชาญดำน้ำในถ้ำ จากเดอร์บี้เชียร์-เคฟ-เรสคิว-ออร์แกไนเซชั่น สหราชอาณาจักร ก็เดินทางมา พร้อมประสานนักดำน้ำมืออาชีพ รวมทั้ง นพ.ริชาร์ด ให้มาช่วยในภารกิจครั้งนี้ด้วย

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีหน่วยทหารจากสหรัฐ ที่นำกำลังพร้อมเครื่องสแกนอินฟราเรด มาช่วยเหลือค้นหาผู้ประสบภัย นักดำน้ำจากจีน-ลาว และอีกหลายประเทศ

รวมถึงทุกหน่วยงานในประเทศไทย ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ โดยหน่วยซีล กรมอุทยานฯ ที่ช่วยในภารกิจทำฝายสกัดน้ำ จิตอาสาสมาคมน้ำบาดาลไทย ที่ช่วยขุดเจาะระบายน้ำ กำลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ปูพรมค้นหาโพรงจากทั่วภูเขา

รวมทั้งอาสาสมัครทั้งหมด

ที่เป็นส่วนประกอบให้มิชชั่นอิมพอสสิเบิ้ลครั้งนี้ สำเร็จลงจนได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน