แฟ้มคดี : ย้อนปฏิบัติการสู้ไฟนรกไหม้วอดโรงงานหมิงตี้สลดอาสาสมัครพลีชีพจี้ล้อมคอก-แก้กฎหมาย

ย้อนปฏิบัติการสู้ไฟนรกไหม้วอดโรงงานหมิงตี้ : เป็นบทเรียนสำคัญ สำหรับเรื่องของกฎหมายผังเมืองและการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับเหตุเพลิงไหม้โรงงาน และถังสารเคมี โรงงานหมิงตี้ ย่านกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ที่ลุกไหม้ยาวนานข้ามวัน บ้านเรือนประชาชนเสียหายกว่า 100 หลังคาเรือน

ย้อนปฏิบัติการสู้ไฟนรกไหม้วอดโรงงานหมิงตี้

ไฟวอดโรงงาน

สูญเสียชีวิตอาสาสมัครดับเพลิงไปอีก 1 ราย และบาดเจ็บอีกหลายคน

กลายเป็นประเด็นคำถามถึงระบบการบริหารจัดการของรัฐบาล ในการดูแลแก้ไขวิกฤตที่เกิดจากสาธารณภัยว่ามีความพร้อมเพียงใด

รวมทั้งเรื่องของกฎหมาย ทั้งเรื่องพ.ร.บ.โรงงาน และเรื่องกฎหมายผังเมือง ที่กลายเป็นปัจจัยให้โรงงานที่เก็บสารเคมีอันตราย อยู่ร่วมกับชุมชนเช่นนี้

ว่าจะมีการทบทวนแก้ไขอย่างไรในอนาคต หรือจะปล่อยให้ทุกอย่างเงียบหาย เพื่อรอวันที่จะเกิดปัญหา ให้ได้สูญเสียซ้ำแล้วซ้ำอีก

สารเคมีรั่วไหม้ระทึกข้ามวัน

เหตุสลดครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อกลางดึกของวันที่ 4 ก.ค. หรือประมาณ 03.00 น. วันที่ 5 ก.ค. โดยเกิดเหตุระเบิดสนั่นหวั่นไหวและไฟไหม้อย่างรุนแรงที่บริษัทหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ตั้งอยู่เลขที่ 87 หมู่ 15 ซอยกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แรงระเบิดทำให้โรงงานพังเสียหายทั้งโรง ส่งผลให้โรงงานใกล้เคียงระยะ 500 เมตรเสียหายอีกนับสิบโรง

บ้านเรือนใกล้เคียงหลายหลังถูกแรงระเบิดอัดใส่กระจกแตก ชิ้นส่วนระเบิดตกใส่หลังคา เสียหายนับ 100 หลัง

ย้อนปฏิบัติการสู้ไฟนรกไหม้วอดโรงงานหมิงตี้

ใช้ ฮ.ดับเพลิง

หน่วยดับเพลิง อบต.ราชาเทวะ และพื้นที่ใกล้เคียงระดมรถดับเพลิง และเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเพลิง ตรวจสอบเบื้องต้นโรงงานที่ระเบิดมี 5-6 โกดัง โดยโกดังแรกเก็บสารเคมีน้ำหนักกว่า 50 ตัน ระเบิดไปแล้ว 20 ตัน และมีชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บกว่า 20 ราย

ขณะที่พนักงานโรงงานให้การว่าโรงงานผลิตโฟมทุกชนิด มีพนักงานกว่า 100 คน ขณะที่เกิดเหตุมีคนงานทำงานอยู่ 9-10 คน เบื้องต้นมีผู้มาแจ้งว่าเกิดสารเคมีรั่วไหล แต่เมื่อออกมาดูก็พบว่ากลิ่นสารเคมีรุนแรง ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ทันใดนั้นเสียงระเบิดดังสนั่นรุนแรง พนักงานจึงรีบหนีรอดออกมาได้

ต่อมาช่วงเช้าเวลาประมาณ 07.00 น. มีคำสั่งจากทางจังหวัดสมุทรปราการ ให้ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร อพยพออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากในพื้นที่มีถังบรรจุเคมีขนาดใหญ่ มี ความจุ 1,600 ตัน (1.6 ล้านลิตร) หากควบคุมเพลิงไม่ได้อาจทำให้ ถังเคมีขนาดใหญ่ระเบิดขึ้น

โดยจัดเตรียมสถานที่ไว้ที่ลานอเนกประสงค์ข้างที่ทำการ อบต.บางพลีใหญ่ ลานดินข้างมูลนิธิร่วมกตัญญู โรงเรียนเตรียมปริญญา นุสรณ์ และวัดสลุด อ.บางพลี

ขณะที่การดับเพลิง เจ้าหน้าที่ขอสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมภารกิจดับเพลิงครั้งนี้ แต่ด้วยเป็นเพลิงที่ไหม้สารเคมีสไตรีนมอนอเมอร์ จึงไม่สามารถดับได้ด้วยน้ำ ต้องใช้โฟมฉีดหล่อเลี้ยง รวมทั้งใช้เฮลิคอปเตอร์บินโปรยสารเคมีโฟมถึง 47 เที่ยวบิน

ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของเพลิงครั้งนี้คือถังเคมีใหญ่ที่มีรอยรั่ว จนทำให้ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ จนกระทั่งทีมดับเพลิงวางแผนส่งเจ้าหน้าที่ 3 นายเข้าไปปิดวาล์วถังเคมี ประกอบด้วยนายฉัตรชัย อภิวงค์ นายวิทวัส ประสงค์ทรัพย์ นายนฐพล ดานะ

ทั้งสามเสี่ยงเข้าไปปิดวาล์วโดยมีทีมสนับสนุนฉีดน้ำไล่เปลวเพลิงให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ ในที่สุดก็สามารถทำได้สำเร็จ จนควบคุมเพลิงได้ในระดับหนึ่งช่วงกลางดึกวันที่ 5 ก.ค. แต่ก็ยังมีเปลวไฟปะทุอยู่ประปราย ต้องฉีดโฟมคลุมหล่อเลี้ยงเอาไว้ และยังห้ามประชาชนกลับเข้าสู่บ้านเรือน เพราะเกรงจะปะทุขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งสารเคมีที่รั่วไหลจะส่งผลอันตรายต่อชีวิตของประชาชน

เป็นเหตุการณ์ที่กระทบกับชีวิตประชาชนจำนวนมาก

สลดสูญเสียอาสาดับเพลิง

ขณะที่เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดความสูญเสียอาสาสมัครกู้ภัย นายกรสิทธิ์ ราวพันธ์ อายุ 19 ปี หรือน้องพอส อาสาสมัครกู้ภัยดับเพลิงหน่วยสมเด็จเจ้าพระยา และมีผู้บาดเจ็บสาหัส 3 ราย

ย้อนปฏิบัติการสู้ไฟนรกไหม้วอดโรงงานหมิงตี้

อาลัยน้องพอส

นายพงศพัศ กตคุณวิสิทธิ์ หัวหน้าอาสากู้ภัย ธน 28 เปิดเผยว่า น้องพอสนั้น จบ ม.3 เพราะอยากให้พี่ได้เรียนหนังสือ พร้อมตอบโต้กรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความประมาท ว่า มีคนถามว่าดับเพลิงได้เงินเท่าไหร่ อยากให้เขาไปแปลเจตนารมณ์ของอาสาสมัครใหม่ กู้ภัยยังได้ค่าเคส แต่ดับเพลิงมีแต่เจ็บกับเจ็บ

อุปกรณ์บางชิ้น เปียแชร์มาซื้อกัน วันที่สูญเสียน้องไม่มีใครได้บอกลา เราไม่ใช่อาสาสมัครไม่มีสมอง เราเป็นนักดับเพลิง เดินไปกองซากปรักหักพังของเศษไฟไหม้ไม่ใช่แคตวอล์กที่จะได้เดินกลับออกมาได้ง่ายๆ

พร้อมเล่าวินาทีที่ไฟคลอกว่า ตรงนั้นไม่มีไฟอยู่ แต่แป๊บเดียวไฟมันวนกลับมา ไม่มีใครอยากให้เกิด เอาคำว่าวีรบุรุษกลับไป ผมอยากได้น้องคืนมา ไม่มีส่วนไหนที่ประมาท หรือผิดพลาด เราทำตามที่อบรมมา มันเป็นเหตุสุดวิสัย จุดที่น้องพอสยืน ไม่มีแสงไฟเลย แต่สารที่ระเหยขึ้นมาอิ่มตัวพร้อมจะจุดติด ระเหยไปตรงไหนก็พร้อมจุดติด ลมม้วนกลับมา ไฟเลยเข้าหาตัวน้องที่ยืนอยู่จุดนั้น

“แถมตอนทำงาน ไม่มีใครบอกข้อมูลอะไร เช่นตึกถล่ม วิศวกรบอกว่า โครงสร้างมันไม่ได้แต่คนพูดอยู่ไหนไม่รู้ เช่นเดียวกับการทำงานในครั้งนี้ หน่วยงานที่มีข้อมูลแปลน ผัง วิศวกรอยู่ไหนไม่รู้ ไม่มีใครบอกข้อมูลอะไรให้เราป้องกันตัวได้” นายพงศพัศกล่าว

ขณะที่การดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบในเหตุร้ายแรงนี้ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้มีการสั่งปิดโรงงานบริษัทหมิงตี้ และตรวจสอบรายละเอียดของเหตุไฟไหม้ และสารเคมีรั่วไหลครั้งนี้ และดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป

เบื้องต้น พบว่าโรงงานเครื่องจักรเสียหายทั้งหมด มีสารเคมีตกค้าง 2 ส่วน คือ สไตรีน 1,600 ตัน และสารเพนเทน 4-5 ถัง สารเคมีทั้งหมดจะต้องส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ใต้พื้นดินมีความร้อนคาดว่ามีสารตกค้าง มีโอกาสที่จะปะทุ ต้องฉีดน้ำเลี้ยงไปยังถังที่หลงเหลืออยู่เพื่อเลี้ยงอุณหภูมิไว้

โดยที่สภ.บางแก้ว มีผู้เสียหายเดินทางไปแจ้งความแล้วกว่า 300 ราย เพื่อสอบปากคำ ตรวจหลักฐานความเสียหายทั้งบ้าน รถ และทรัพย์สินอื่นๆ รวมทั้งอาการบาดเจ็บ เพื่อดำเนินการตามสิทธิอันพึงได้รับ

เป็นคดีความที่ต้องดำเนินต่อไป

เปิดรายละเอียดโรงงานหมิงตี้

สำหรับโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2532 ด้วยทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียนคือ 22299 การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเม็ดโฟม โดยมีสัดส่วนผู้ถือหุ้น-รายชื่อกรรมการ 1.บริษัท เอเวอร์แกรนด์ จำกัด จดทะเบียนที่หมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ) ถือหุ้น 48.1429% 2.นายเจิ้นเหวย หง (สัญชาติไทย) ถือหุ้น 21.8571% 3.นายฉงหาว หง (สัญชาติไทย) ถือหุ้น 21.8571% 4.นายหมิง อี้ หง (สัญชาติไทย) ถือหุ้น 8.1429%

มีสินทรัพย์รวม 699,095,810.07 บาท รายได้รวม 1,202,795,860.31 บาท กำไรสุทธิ 25,734,588.11 บาท

ซึ่งความเสียหายครั้งนี้ประเมินเบื้องต้นสูงถึง 700 ล้านบาท

โดยกรณีของบริษัทหมิงตี้ เคมีคอล พบว่ามีการขออนุญาตตั้งโรงงานมาตั้งแต่ปี 2532 หรือก่อน พ.ร.บ.โรงงาน ที่ออกในปี 2535 และก่อนการประกาศผังเมืองรวมของจังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2544 ที่กำหนดให้พื้นที่บริเวณซอยกิ่งแก้ว และใกล้เคียงเป็น “พื้นที่สีม่วง” หรือเขตอุตสาหกรรม

แต่แวดล้อมไปด้วย “พื้นที่สีแดง” หรือย่านพาณิชยกรรม ส่งผลให้บริเวณรอบๆ โรงงานหมิงตี้ฯ เกิดเป็นชุมชนที่พักอาศัยขึ้นมาในภายหลัง โดยไม่มี “เขตพื้นที่สีเขียว” ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือที่โล่ง เข้ามาคั่นระหว่างตัวโรงงานที่เป็นสถานที่เก็บสารเคมีอันตรายกับชุมชนแต่อย่างใด

จึงไม่ถือว่าผิดกฎหมายผังเมือง

อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของรัฐบาล ที่ถูกมองว่าไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ ไม่มีการสั่งการแบบรวมศูนย์เพื่อจัดการวิกฤต ปล่อยให้ท้องถิ่น และอาสาสมัครแก้ปัญหากันเอง ไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงที จนภาคเอกชนต้องทำแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนภัยใช้

ตลอดจนยังไม่เห็นแผนจัดการกับสารเคมีตกค้าง ทั้งในอากาศ บนดิน และแหล่งน้ำ รวมทั้งให้ข้อมูลกับประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว

มีเพียงการเสนอแผนทำฝนเทียมจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ซึ่งก็ได้ยกเลิกไปในภายหลัง เมื่อทราบว่าเพลิงที่ไหม้สารเคมีนั้น หากมีฝน ตกลงมากระทบกับแหล่งน้ำอย่างใหญ่หลวง

รัฐบาลต้องวางแผนบริหารจัดการให้เร็ว

ป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก!??

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน