เชือด‘ปนัดดา-ไพรินทร์’4รมต.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ‘สุวิทย์-ธีระเกียรติ’ด้วย

ทะลุคนทะลวงข่าว : 4รมต.ถือหุ้นสัมปทานรัฐ พิจารณารายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการไต่สวนแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติทันที ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรมช.ศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มีการถือครองหุ้นเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง

เห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 และขณะนี้อยู่ระหว่างให้สำนักงานกกต.ดำเนินการยกร่างคำร้อง ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมกกต.พิจารณาและประธานกกต.ลงนาม เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นการตรวจสอบกรณี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ตรวจสอบรัฐมนตรี 4 รายดังกล่าว ว่าถือครองหุ้นสัมปทานของรัฐ เข้าข่ายกระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มาตรา 170 วรรคหนึ่ง(5) หรือไม่

คำร้องยื่นต่อกกต. เมื่อเดือนม.ค. และก.พ.2561 ที่สุด กกต.มีมติชัด เข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง

เปิดเผยจากประธาน กกต. การพิจารณาไปตามเนื้อหา รายละเอียดทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งได้ตัดสินไป กกต.ก็คำนึงถึงศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุผลในคำวินิจฉัยนั้นด้วย

อันไหนเป็นกรณีเหมือนกัน ก็ต้องมองไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มองเอาไว้ กรณีไหนคล้ายกันแต่ไม่ใช่โดยแท้ ก็จะถือว่ายังไม่เกี่ยวข้อง และอาจจะเป็นประเด็นที่เราเห็นว่ายังไม่มีบรรทัดฐานชัดเจน ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด

สำหรับกรณีดังกล่าวนายเรืองไกรยื่นคำร้องขอให้กกต.ตรวจสอบ โดยระบุว่า ม.ล.ปนัดดาได้แสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินต่อป.ป.ช.ว่ามีหุ้นของบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือทอท. กว่า 6 พันหุ้น แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่เหตุผลที่นายเรืองไกรอ้างในการยื่นกกต.ตรวจสอบย้อนหลัง เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติในลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ จะต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ตามมาตรา 160 ประกอบ 187

ส่วนนายสุวิทย์ คำร้องระบุ ถือหุ้นในบริษัท GPSC หรือบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 9 หมื่นหุ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่รวมบริษัทลูกของ ปตท. ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ

ขณะที่นายไพรินทร์ และคู่สมรส ถือหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐโดยถือหุ้นใน บมจ. GPSC 5 หมื่นหุ้น บมจ. IRPC 2.4 แสนหุ้น บมจ. ปตท. 5 พันหุ้น บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล 6 หมื่นหุ้น บมจ.ไทยออย 4 หมื่นหุ้น บมจ. กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมมท์ 3 แสนหุ้น บมจ.บ้านปู พาวเวอร์ หมื่นหุ้น บมจ. อินทัช โฮลดิ้ง 2.6 หมื่นหุ้น

ขณะที่นพ.ธีระเกียรติ ถือหุ้นสัมปทาน SCG ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 5,000 หุ้น

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล

วัย 62 เกิดวันที่ 26 ส.ค. 2499

สำเร็จปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ และปริญญาโททางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยบริกแฮม ยัง สหรัฐอเมริกา ผ่านหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่นเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยโซเฟีย ญี่ปุ่น

เส้นทางราชการเริ่มที่กองทัพบก เป็นอาจารย์ส่วนการศึกษา กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชั้นยศร้อยเอก

ย้ายเข้าสังกัดกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

เคยเป็น ผอ.ส่วนนโยบายการเมืองการปกครองและการบริหาร สำนักนโยบายและแผน เป็นหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย และปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการกองการต่างประเทศอีกตำแหน่ง

เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รองผู้ว่าฯปทุมธานี และรองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ นครปฐม และผู้ว่าฯ เชียงใหม่

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาล คสช.

2559 เปลี่ยนเก้าอี้เป็น รมช.ศึกษาธิการ จนพ้นความเป็นรัฐมนตรีเมื่อพ.ย.2560 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วย รมต.ประจำนายกฯ ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

เกิดวันที่ 8 ก.ค. 2499 วัย 62 ปี

ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทและเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ญี่ปุ่น

เคยเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. และกรรมการผู้จัดการบริษัทพีทีที อาซาฮี เคมิคอล

เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. และกรรมการผู้จัดการบริษัทพีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง และบริษัทพีทีที อาซาฮี เคมิคอล

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)

และเป็นกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จนเกษียณ

23 พ.ย. 2560 เป็น รมช.คมนาคม

 

สุวิทย์ เมษินทรีย์

เกิดวันที่ 12 พ.ค. 2504

ปริญญาตรีเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโทด้านการตลาด สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนอร์ท เวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา

เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และเป็นผู้อำนวยการ SIGA

เป็นผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงพาณิชย์ และเป็นที่ปรึกษารองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

หลังรัฐประหาร 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วเป็น รมช.พาณิชย์

เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สวมหมวกรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หนุนพล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา อยู่ยาว

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

เกิดวันที่ 3 พ.ย. 2505

สำเร็จแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวุฒิบัตรสถาบันจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน แผนกจิตเวชศาสตร์และจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น

เคยเป็นรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอาจารย์กิตติมศักดิ์อาวุโส มหาวิทยาลัยลอนดอน

สมาชิกราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร และอดีต ผอ.ศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณรัฐบาล คสช.ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วย รมต.ศึกษาธิการ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ก่อนเป็น รมช.ศึกษาธิการ

2559 เป็น รมว.ศึกษาธิการ

รวมเป็น 3 รัฐมนตรี และ 1 อดีตรัฐมนตรี ที่กกต.ฟันแล้ว เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง

ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน